×

สตาร์ทอัพไทยเตรียมผงาด! ORZON Ventures กองทุนจาก OR และ 500 TukTuks ‘ยักษ์’ ที่จะพาไทยขึ้นขบวนสตาร์ทอัพทัดเทียมประเทศอื่น

17.11.2021
  • LOADING...
ORZON Ventures

สตาร์ทอัพสัญชาติไทยเตรียมงอกเงย เมื่อบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ร่วมมือกับกองทุน 500 TukTuks เกิดเป็นการร่วมทุนในชื่อ ‘ORZON Ventures’ หรือ (ออร์-ซอน เวนเจอร์ส) ซึ่ง ORZON มีจุดประสงค์เพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการเติบโตทั้งในไทยและในแถบเอเชีย 

 

โดยบริษัท OR ถือเป็นบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทย ที่มีทั้งเงินทุน, Know-how ความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ทั้งในเรื่องของการดำเนินธุรกิจขนาดใหญ่ และประสบการณ์การร่วมมือสตาร์ทอัพยูนิคอนตัวแรกของไทยอย่าง Flash Express ซึ่ง ORZON เปรียบเสมือนยักษ์ ที่คอยแบกสตาร์ทอัพขนาดเล็กและกลางไว้บนบ่า เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพเหล่านี้เติบโตได้อย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด

 

จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีกจำกัด (มหาชน) หรือ OR ให้สัมภาษณ์ในรายการ The Secret Sauce ของ THE STANDARD ว่า สตาร์ทอัพจะเป็นตัวที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตอย่างพลิกผันได้เลย โดยสตาร์ทอัพที่จะนำเข้ามาใน ORZON จะเน้นสตาร์ทอัพที่สามารถต่อยอดธุรกิจเดิมของ OR ได้ 

 

“ตัวอย่างเช่น ธุรกิจพลังงาน และธุรกิจไลฟ์สไตล์ต่างๆ ของผู้คน ที่ตอนนี้เรากำลังทำให้ OR เป็นธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์ชีวิตประจำของผู้คนได้อย่างครอบคลุม แต่ทั้งนี้ ORZON ก็ยังเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพที่ไม่เกี่ยวข้องกับ OR ให้เข้ามาจำนวนหนึ่งด้วยเช่นกัน” 

 

นอกจากนั้นยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “สตาร์ทอัพที่อยู่ใน ORZON จะสามารถใช้ Ecosystem ต่างๆ ของ OR และสามารถร่วมมือกับสินค้าและบริการต่างๆ ของ OR ได้ ซึ่ง OR เป็นเหมือนสปริงบอร์ด ที่จะทำให้สตาร์ทอัพเหล่านี้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดทั้งในไทยและโตออกนอกประเทศ จากการสนับสนุนของ OR ทั้งด้านเงินทุนและประสบการณ์ต่างๆ”   

 

ขณะที่ เรืองโรจน์ พูนผล ผู้ก่อตั้งกองทุน 500 TukTuks และประธานกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) มองว่า สตาร์ทอัพต่างๆ ในไทยจะเกิดขึ้นได้ จนสามารถแข่งขันกับชาติอื่นๆ ได้ ในตอนนี้จำเป็นต้องมีพี่ใหญ่อย่าง OR พานำทัพ จึงจะสามารถเติบโตทัดเทียมคู่แข่ง และก้าวขึ้นไปแข่งในระดับโลกได้ นอกจากนั้นยังมองว่า “ในตอนนี้ประเทศไทยยังไม่ตกขบวนสตาร์ทอัพ” 

 

เรืองโรจน์เผยมุมมองว่า อีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นยุคทองของสตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากตอนนี้เราผ่านคลื่นสตาร์ทอัพระลอกแรกมาแล้วคือช่วงปี 2012-2021 อีก 10 ปีต่อจากนี้จะเป็นคลื่นระลอกสองที่ใหญ่กว่าเดิม โดยจะมีนักลงทุนที่มักจะลงทุนในสตาร์ทอัพระยะแรกเริ่ม หรือที่เรียกว่า Angel Investor หลั่งไหลเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก โดย ORZON จะลงทุนในสตาร์ทอัพ Series A คือมีมูลค่าประมาณ 1-1.5 ล้านดอลลาร์ หรือ 30-45 ล้านบาท

 

ทางด้านจิราพร ขยายความถึง ORZON Ventures ซึ่งมี OR ถือหุ้นอยู่ 99% และทาง 500 TukTuks อีก 1% โดยการร่วมทุนนี้มีอายุ 10 ปี เป้าหมาย KPI ของ ORZON คือมีสตาร์ทอัพให้ได้ประมาณ 15-30 บริษัท “ซึ่งเป้าหมายนี้ถือว่ายังน้อยไปด้วยซ้ำ เนื่องจากตอนที่เราเปิดตัว ORZON มีสตาร์ทอัพต่างๆ เข้ามาติดต่อมากมาย รวมถึงมีสตาร์ทอัพในเครือข่ายของ 500 TukTuks อยู่แล้วอีกด้วย”

 

ขณะเดียวกันสิ่งที่หลายคนกังวลว่า การทำแบบนี้จะเป็นการที่บริษัทยักษ์ใหญ่จะเข้ามากินรวบหรือไม่? จิราพรกล่าวว่า “ในยุคนี้มันไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็กแล้ว เราอาจเคยได้ยินคำว่าปลาเร็วกินปลาช้า ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่อย่างเราถือเป็นปลาช้าและอาจพลิกตัวไม่ทัน เราจึงต้องพึ่งปลาเร็วอย่างสตาร์ทอัพ โดยการจับมือกันเติบโต ช่วยกันและกัน เป้าหมายเราคือต้องการให้สตาร์ทอัพขนาดเล็กและกลางเติบโต ซึ่งจะตามมาด้วยเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และการจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นเศรษฐกิจในไทยและแถบอาเซียนมีโอกาสในการเติบโตอยู่ ถ้าเราไม่ร่วมมือกับสตาร์ทอัพไทยเราอาจพลาดโอกาสนั้น”

 

นอกจากนั้นยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “เราให้อิสระกับสตาร์ทอัพในการดำเนินธุรกิจ เราไม่เข้าไปควบคุม ซึ่งหากเราซื้อกิจการสตาร์ทอัพนั้นแล้ว เราก็จะไม่ส่งคนเข้าไปเกินครึ่งของบริษัท เรายังคงให้อิสระในการดำเนินงานต่อไป โดยเรามองว่าเราเป็นปลาช้า หากเรากินปลาเร็วไปแล้ว ในอนาคตเราอาจพลิกตัวต่อไปไม่ได้”

 

ด้านเรืองโรจน์ ให้คำแนะนำถึงการเตรียมตัวคว้าโอกาสในคลื่นระลอกสองของประเทศไทย โดยกล่าวว่า ประเทศไทยเรายังขาดคนที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีอยู่ อย่างในสหรัฐฯ เขาลงทุนด้านการศึกษาในเทคโนโลยี สร้างมหาวิทยาลัยต่างๆ ทำให้เกิดเป็น ‘ซิลิคอนแวลลีย์’ ดังนั้นสิ่งที่ไทยต้องพัฒนาหลักๆ เลยคือการสนับสนุนจากรัฐบาลในภาคการศึกษาส่วนนี้ 

 

“ในปัจจุบันบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป ของเรามีการตั้งออฟฟิศในจีนและเวียดนาม เพื่อดึงคนเก่งๆ ที่มีทักษะด้านนี้เข้ามาทำงานกับเรา เนื่องจากตอนนี้ในไทยเรายังไม่มีบุคลากรที่มีทักษะด้านนี้ เราจึงต้อง ‘ยืม’ ประเทศอื่นมาก่อน นอกจากการศึกษาแล้ว รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนในการดึงชาวต่างชาติที่มีทักษะเข้ามาในไทย เพื่อให้สตาร์ทอัพไทยพัฒนาไปได้อย่างไม่ตกขบวน ที่เห็นได้ชัดคือซีอีโอของบริษัทเทคฯ ที่มีชื่อเสียงของประเทศต่างๆ เป็นคนอินเดียแทบจะทั้งหมดเลย”

 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด Google ได้เผยผลสำรวจที่พบว่า นักลงทุนต่างๆ มองภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเป้าหมายการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนงดงามในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และบริการด้านการเงินดิจิทัลที่ยังคงดึงดูดเม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่ให้เข้ามาลงทุน โดยคาดว่าการลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในปี 2021 จะอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์อย่างที่เกิดขึ้นในปี 2020 

 

ซึ่งในครึ่งปีแรกของ 2021 ไทยมีสตาร์ทอัพยูนิคอร์นถือกําเนิดขึ้นแล้วถึง 3 ตัว ถือเป็นปัจจัยดึงดูดการลงทุนในบริการดิจิทัลต่างๆ ที่เติบโตขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด ไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซ เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HealthTech) และเทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech) เป็นต้น 

 

จากเดิมที่สตาร์ทอัพยูนิคอร์นต่างๆ จะกองกันอยู่ที่สิงคโปร์และอินโดนีเซีย ในปีนี้เริ่มเห็นการกระจายตัวของยูนิคอร์นเพิ่มขึ้นมาก โดยในปี 2020 มียูนิคอร์นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน 12 บริษัท แต่ในครึ่งปีแรกของ 2021 มีถึง 23 บริษัท เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเลยทีเดียว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 


ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

Twitter: twitter.com/standard_wealth

Instagram: instagram.com/thestandardwealth

Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X