×

OR มองไกล! ทุ่ม 8 พันล้าน บุกตลาดต่างประเทศเต็มสูบ โฟกัสกัมพูชาลุยสร้างคลังน้ำมัน-เวียดนามศึกษาธุรกิจ LPG

31.07.2024
  • LOADING...
OR

ด้วยความที่ตลาดไทยเป็นพื้นที่แข็งแกร่งสำหรับ OR แล้ว ทว่าก็มาพร้อมกับตัวเลขเติบโตที่ไม่สูงมากจากความท้าทายในด้านต่างๆ ทำให้ OR ต้องหาน่านน้ำใหม่ๆ เพื่อสร้างธุรกิจให้เติบโต กลายเป็นที่มาของการจัดสรรงบลงทุนระยะ 5 ปี (ปี 2024-2028) สำหรับกลุ่มธุรกิจ Global ไว้ที่ 8,007 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12% ของงบลงทุนทั้งหมด เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว

 

แล้ว OR จะเติบโตได้อย่างไรในน่านน้ำใหม่ๆ? จึงกลายเป็นคำถามหลักของสื่อมวลชนในระหว่างการเยี่ยมชมธุรกิจของ OR ที่ สปป.ลาว และเป็นที่มาของการให้คำตอบจาก ดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR 

 

รวมถึง สุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่, รชา อุทัยจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจต่างประเทศ และ พีรเวท ณ ระนอง Managing Director บริษัท พีทีที (ลาว) จำกัด (PTTLAO)

 

 

โฟกัสหลักคือ ‘กัมพูชา’

 

กลุ่มผู้บริหารฉายภาพว่า ธุรกิจต่างประเทศของ OR ที่กำลังโฟกัสอยู่ในขณะนี้คือ สปป.ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เพราะ “ก่อนที่จะวางกลยุทธ์ เราต้องรู้ว่าเราได้เปรียบอะไร ทำไมเราต้องเกาะอยู่ที่อาเซียน เพราะแบรนด์เราเป็นที่รับรู้ ซึ่งจะช่วยได้มาก แต่การเข้าไปจะไม่ได้ต้องการเป็นเบอร์ 1 ในประเทศนั้น โดยเราต้องมองแบบ Humble”

 

ช่วงเวลาต่อจากนี้ ประเทศที่จะถูกเทน้ำหนักมากที่สุดคือ ‘กัมพูชา’ เหตุผลเพราะวันนี้กัมพูชามีธุรกิจที่คล้ายกับไทยแล้ว ทั้ง PTT Station กว่า 170 สาขา ตลอดจน Café Amazon อีก 200 กว่าแห่ง

 

ที่สำคัญการที่กัมพูชาไม่มี ‘โรงกลั่นน้ำมัน’ กลายเป็นโอกาสที่ OR มองเห็นในการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนสร้างคลังน้ำมันที่กัมพูชา ซึ่งจะเข้ามาช่วยขยายเครือข่ายตลอดจนลดต้นทุน ขณะเดียวกัน นอกเหนือจากน้ำมันแล้ว OR เองก็สนใจในธุรกิจยางมะตอยและน้ำมันหล่อลื่นด้วย 

 

ถัดมาเป็นเวียดนามที่ดำเนินการจดตั้งบริษัท ORVN หรือโออาร์เวียดนามไปแล้ว เพราะมองเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ด้วยความท้าทายในการดำเนินธุรกิจ PTT Station จึงจะไปลงทุนในด้านอื่นๆ แทน ทั้ง Café Amazon ที่ร่วมกับกลุ่ม Central Restaurants Group เปิดไปแล้ว 20 กว่าสาขา ตลอดจนการศึกษาโอกาสการลงทุน LPG เพราะเวียดนามยังเป็นตลาดที่ต้องนำเข้า LPG

 

“เราอาจลงทุนคลังในเวลาที่เหมาะสม อาจไปซื้อหุ้นกับโลคัลพาร์ตเนอร์ ซึ่งจะเป็นส่วนต่อไป เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและได้เปรียบในการทำธุรกิจสำหรับอนาคต”

 

 

มุ่งสร้างความแข็งแกร่งใน สปป.ลาว

 

ขณะที่เมียนมาซึ่งเป็นจุดโฟกัสเมื่อ 5 ปีก่อน แต่ปัจจุบันด้วยสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นจึงจำเป็นต้องทบทวนเรื่องคลังสินค้า แต่ถ้าเมื่อไรตลาดพร้อมก็เดินหน้าทันที ส่วนในจีนนั้นกำลังทบทวนกลยุทธ์ต่างๆ เพราะเป็นตลาดที่มีการแข่งขันที่สูง โดยธุรกิจ Café Amazon จะปรับมาทำแบบแฟรนไชส์มากกว่าที่จะลงทุนหรือบริหารจัดการเอง โดยจะหาพาร์ตเนอร์ใหม่ๆ เพื่อทำให้ธุรกิจแข็งแกร่งขึ้น 

 

เช่นเดียวกัน สปป.ลาว ที่ยังมีความท้าทายเรื่องค่าเงินและกำลังซื้อ ทำให้โฟกัสหลักในตอนนี้อยู่ที่การรักษาธุรกิจให้อยู่ในโมเมนตัมเดิมไปก่อน ขณะเดียวกัน พีรเวทที่ดูแลธุรกิจใน สปป.ลาว โดยตรงก็ย้ำว่า PTTLAO จะมุ่งเสริมความแข็งแกร่งในตลาด สปป.ลาว พร้อมขยายฐานธุรกิจอย่างต่อเนื่อง 

 

“ที่ผ่านมาธุรกิจของ PTTLAO ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี ทั้งนี้ ยังคงเดินหน้าแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ โดยร่วมมือกับพันธมิตรทั้งจากประเทศไทยและพันธมิตรในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน” 

 

สำหรับกลุ่มธุรกิจ Mobility PTTLAO มีเครือข่ายคลังเก็บผลิตภัณฑ์ 7 แห่ง รองรับการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยความจุโดยรวมกว่า 7 ล้านลิตร รวมทั้งยังมีสถานีบริการ PTT Station รวม 56 แห่ง ครอบคลุมตลอดเส้นทางการเดินทางในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ นับเป็นสถานีบริการน้ำมันที่ผู้บริโภคของ สปป.ลาว นิยมใช้มากที่สุด ตลอดจนมียอดขาย 4 แสนลิตรต่อเดือน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลย

 

OR

 

รวมทั้งธุรกิจหล่อลื่น PTT Lubricants และศูนย์บริการยานยนต์ FIT Auto และ FIT Express รวมจำนวน 9 สาขา ส่วนกลุ่มธุรกิจ Lifestyle มีความโดดเด่นด้วยร้าน Café Amazon เป็นร้านแฟรนไชส์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มีจำนวนทั้งสิ้น 94 สาขา และตั้งเป้าขยายสาขาให้ครบ 110 สาขาภายในปีนี้ 

 

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจร้านสะดวกซื้อและธุรกิจร้านอาหารข้าวเปียกปูที่ PTTLAO พัฒนาขึ้นเป็นแบรนด์ใหม่ เพื่อรองรับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในสถานีบริการ PTT Station อีกทั้งยังตอบโจทย์การใช้ชีวิตทุกรูปแบบของผู้บริโภคที่ใช้พลังงานไฟฟ้าด้วยการติดตั้งและเปิดให้บริการสถานีชาร์จ EV Station PluZ จำนวน 6 แห่ง ในสถานีบริการ PTT Station 

 

เตรียมสร้าง Amazon Park ที่ลำปาง

 

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในไทยคือ การเตรียมสร้าง Amazon Park ที่จังหวัดลำปาง เหตุผลที่ต้องสร้างมาจากการที่ Café Amazon ขยายไปต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ OR เลยมองว่าควรมีพื้นที่นำเสนอธุรกิจให้กับนักลงทุนถึงการเติบโตในอีก 10-20 ปีข้างหน้า

 

เบื้องต้นในเดือนกันยายน 2024 จะนำคณะกรรมการบริหารบริษัทไปลงพื้นที่ จะขออนุมัติการลงทุนในเดือนตุลาคม 2024 ซึ่ง Amazon Park จะตั้งอยู่บนพื้นที่ 600 ไร่ โดยมีแผนเริ่มก่อสร้างเฟสแรก 350 ไร่ภายในปีนี้ หลังจากการอนุมัติการลงทุนในเดือนตุลาคม 2024 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายใน 2 ปี

 

OR

 

Amazon Park จะเป็นศูนย์กลางนำเสนอเรื่องราวของ Café Amazon ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ประกอบด้วยศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม (R&D) สำหรับพัฒนาต้นกล้ากาแฟ โรงคั่วกาแฟ และจุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์

 

โครงการนี้ยังมุ่งเน้นความยั่งยืน โดยจะเข้าร่วมกับ Verra เพื่อเตรียมความพร้อมขายคาร์บอนเครดิตกาแฟในตลาดระดับสากล สอดคล้องกับเป้าหมายของ ORในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2030 และมุ่งสู่ Net Zero ภายในปี 2050

 

ศึกษาการทำโรงแรมและ Virtual Bank

 

นอกเหนือจากที่กล่าวมา ORมีแผนการลงทุนที่หลากหลายเพื่อสร้าง Ecosystem ทางธุรกิจที่สมบูรณ์แบบ หนึ่งในโครงการที่อยู่ในไปป์ไลน์คือธุรกิจโรงแรม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้

 

ORมองหาโอกาสพัฒนาโรงแรมที่ตอบโจทย์นักเดินทาง โดยเน้นการเลือกโลเคชันที่เหมาะสม และการหาพันธมิตรที่แข็งแกร่งเพื่อร่วมดำเนินธุรกิจ เนื่องจาก ORตระหนักดีว่าไม่สามารถดำเนินธุรกิจทุกอย่างได้เองทั้งหมด

 

นอกจากนี้ ORยังให้ความสนใจกับการพัฒนา Virtual Bank ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญในการเติมเต็ม Ecosystem ทางธุรกิจ โครงการนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาและทบทวนสัญญาต่างๆ โดย ORวางแผนผสานจุดแข็งด้าน Physical Platform ของตนเองเข้ากับความเชี่ยวชาญด้านการเงินของพันธมิตร อย่างเช่น ธนาคารกรุงไทย ที่มีความได้เปรียบในด้านการดูแลเครดิตและการบริหารความเสี่ยง

 

ทั้งสองโครงการนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารบริษัท โดยคาดว่าจะสามารถสรุปรายละเอียดของโครงการ Virtual Bank ได้ภายในเดือนกันยายน 2024 

 

โดยกลุ่มผู้บริหารย้ำว่า ORยังคงยึดหลักการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ โดยเน้นการศึกษาความเป็นไปได้อย่างละเอียด และการหาพันธมิตรที่เหมาะสมในแต่ละด้าน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising