หลังองค์การบริหารสโมสรนิสิจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ได้มีมติเอกฉันท์ ยกเลิกการเชิญตราพระเกี้ยว เข้าสู่งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เพื่อสื่อสารถึงค่านิยมความไม่เท่าเทียมกันนั้น
ล่าสุดวันนี้ (24 ตุลาคม) ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะนิสิตเก่าจุฬาฯ ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเพจเฟซบุ๊กต่อเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า พระเกี้ยว สัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของชาวนิสิตจุฬาฯ อันมาจากชื่อของมหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัย
หากสืบประวัติที่มาของประเพณีการอัญเชิญตราพระเกี้ยวเข้ามาในสนามแข่งขันนั้น น่าจะคล้ายเหมือนเป็นการเปิดงาน ซึ่งทางธรรมศาสตร์จะต้องมีตราธรรมจักร ส่วนจุฬาฯ เชิญตราพระเกี้ยว
การอัญเชิญตราพระเกี้ยวเปรียบเสมือนการอัญเชิญพระพุทธเจ้าหลวงทั้ง 2 พระองค์ ซึ่งเป็นผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัยเข้ามาในงาน และเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่นักกีฬาและเหล่ากองเชียร์ ดังประโยคที่ดังก้องอยู่ในใจชาวจุฬาฯ ทุกคนว่า “สีชมพูจักอยู่ในกายเจ้า พระเกี้ยวเกล้าจักอยู่เป็นคู่ขวัญ”
ชัยวุฒิ ยังระบุอีกว่า ผมในฐานะอดีตหัวหน้านิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ปี 2536 มีความภาคภูมิใจในอดีตที่ได้เคยเป็นส่วนหนึ่งในการเชิญพระเกี้ยวเข้ามาในงานฟุตบอลประเพณี ผมจำได้ดีว่าพวกเราทุกคนจะแบ่งหน้าที่กันทำกิจกรรมด้วยความภาคภูมิใจ ผมเชื่อมั่นว่านิสิตทุกคนที่อยู่ในงานมีความสุขและดีใจที่ได้มาร่วม แม้ว่าจะเป็นคนแบกเสลี่ยง เราก็ภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ของเรา
สังคมเปลี่ยน วัฒนธรรมบางอย่างอาจต้องเปลี่ยน แต่คุณค่าของพระเกี้ยวสำหรับชาวจุฬาไม่เคยเปลี่ยน ผมเชื่ออย่างนั้นจริงๆ ครับ และขอให้น้องๆ นิสิตจุฬา ไม่ว่าจะจัดกิจกรรมกันอย่างไร ก็ขอคิดถึงคุณค่าของพระเกี้ยว และเกียรติภูมิที่พวกเรายึดถือกันไว้ตลอดมา เกียรติภูมิจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน
ต่อมา เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แชร์ข้อความดังกล่าวพร้อมระบุแคปชันว่า ‘ให้พี่ชัยวุฒิมาแบกเอง’
อย่างไรก็ตาม หลังแถลงการณ์ดังกล่าวของ อบจ.จุฬาฯ ถูกเผยแพร่ วันนี้ได้มีบุคคลหลากหลายแวดวงออกมาแสดงความคิดเห็น อาทิ วินทร์ เลียววาริณ นักเขียนชื่อดัง ที่ขอให้ไม่ลืมรากของตนเอง รวมถึง วัฒนา เมืองสุข ที่ระบุว่า อบจ.จุฬาฯ ไม่มีสิทธิ์ห้ามใคร เพราะตราพระเกี้ยวไม่ใช่ของ อบจ.
อ้างอิง: