ตอนที่ เอเลียด คิปโชเก ทำลายสถิติโลกมาราธอนใน เบอร์ลิน มาราธอน ปี 2022 ด้วยสถิติ 2 ชั่วโมง 1 นาที 9 วินาที มีการวิเคราะห์กันว่าตัวเลขดังกล่าวน่าจะอยู่คู่กับวงการวิ่งระยะไกลไปอีกอย่างน้อยครึ่งทศวรรษ
เพราะในตอนที่ ‘EK’ ทำลายสถิติโลกเดิมของ เดนนิส คิเมตโต ในเบอร์ลิน มาราธอน 2018 ก็ยังทิ้งระยะจากที่คิปเมตโตทำสถิติโลกในเบอร์ลินปี 2014 ถึง 4 ปีด้วยกัน
แต่ใครจะไปคิดว่าสถิติของคิปโชเกที่ใครหลายๆ คนมองว่าเป็น ‘ที่สุด’ ของมนุษย์ในยุคนี้ จะถูกทำลายลงอย่างรวดเร็วในเวลาแค่เพียง 1 ปีกับ 13 วันเท่านั้น ด้วยฝีเท้าของนักวิ่งรุ่นน้องจากเคนยาที่ชื่อว่า เคลวิน คิปตัม
นักวิ่งวัย 23 ปี รายนี้ก้าวเข้ามาในวงการวิ่งมาราธอนและเติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อรู้ตัวอีกทีเขาก็กลายเป็นเจ้าของสถิติโลกคนใหม่หลังวิ่งจบ 42.195 กิโลเมตร ด้วยระยะเวลาเพียง 2 ชั่วโมง 35 วินาทีเท่านั้น
ชายผู้เข้าใกล้ ‘กำแพง 2 ชั่วโมง’ ในการแข่งขันอย่างเป็นทางการ มากที่สุดของมวลมนุษยชาติ
‘กำแพง 2 ชั่วโมง’ คำคำนี้ถูกใช้พูดถึงขีดจำกัดของมนุษย์ ที่ว่ากันว่าไม่สามารถมีใครวิ่งในระยะมาราธอนได้ด้วยเวลาที่เร็วกว่า 2 ชั่วโมงได้ จนกระทั่งโลกของมาราธอนได้รู้จักกับ เอเลียด คิปโชเก ชายผู้ที่ต้องการจะทำลายกำแพง 2 ชั่วโมงที่ว่านั้นลงไป เพื่อบอกกับทุกคนบนโลกว่า ‘มนุษย์ไม่มีขีดจำกัด’
แม้ที่ผ่านมาคิปโชเกจะทำลายกำแพงดังกล่าวได้แล้วครั้งหนึ่งจากการวิ่งในโครงการ ‘INEOS 1:59 Challenge’ เมื่อ 12 ตุลาคม 2019 และเขาก็วิ่งจบในรายการดังกล่าวด้วยเวลา 1 ชั่วโมง 59 นาที 40.2 วินาที แต่น่าเสียดายที่ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์กรีฑานานาชาติ หรือ IAAF ในตอนนั้น (ปัจจุบันคือ กรีฑาโลก หรือ World Athletics)
อย่างไรก็ตาม การทำลายกำแพง 2 ชั่วโมงในการบันทึกสถิติโลกอย่างเป็นทางการก็ยังเป็นความฝันของนักวิ่งหลายๆ คน รวมถึงแฟนๆ กีฬาชนิดนี้ที่อยากเห็นสักครั้งในชีวิต
และเมื่อคิปโชเกทำสถิติโลกใหม่ในเบอร์ลิน มาราธอนเมื่อปีก่อน ด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 1 นาที 9 วินาที ท่ามกลางเสียงชื่นชมจากหลายฝ่าย แต่มันก็เป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่า แม้แต่ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการวิ่งมาราธอนในปัจจุบันก็ยังห่างไกลจากการทำลายกำแพง 2 ชั่วโมงมากกว่า 1 นาที
แม้จะเชื่อกันว่า สักวันหนึ่งมนุษยชาติจะทลายกำแพง 2 ชั่วโมงลงไปได้สำเร็จ แต่การทำสถิติโลกของนักวิ่งผู้เป็นแรงบันดาลใจอย่างคิปโชเกในปีก่อน ก็ทำให้มีการวิเคราะห์กันว่า ‘คงอีกนาน’ กว่าที่จะมีใครทำสถิติต่ำกว่า 2 ชั่วโมง หรือ Sub-2 ในการวิ่งมาราธอนได้สำเร็จ
จนเมื่อวานนี้ (8 ตุลาคม) ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่คิปโชเกสร้างสถิติโลกที่เบอร์ลิน มาราธอน 2022 ได้เพียง 1 ปีกับ 13 วัน ก็มีชายคนหนึ่งเข้ามาทำลายสถิติของคิปโชเกได้สำเร็จ ทั้งๆ ที่ว่ากันว่าสถิติโลกของเขาน่าจะอยู่อีกไม่ต่ำกว่า 5 ปี ทำให้ชายคนนี้ยังเป็นมนุษย์คนแรกของโลกที่วิ่งมาราธอนจบด้วยเวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมง 1 นาที
นักวิ่งหนุ่มคนนี้จึงเข้าใกล้กับกำแพง 2 ชั่วโมงมากที่สุดเท่าที่มนุษย์โลกทำการเก็บสถิติโลกมาราธอนมา และนักวิ่งหนุ่มชาวเคนยาวัย 23 ปีคนนี้มีชื่อว่า เคลวิน คิปตัม
ใครคือ เคลวิน คิปตัม?
คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่า เคลวิน คิปตัม ไม่เป็นที่รู้จักสักเท่าไรก่อนที่เขาจะมาทำลายสถิติโลกที่ชิคาโก มาราธอน แม้จะไม่ถึงกับไร้ข้อมูล แต่เรื่องราวและสถิติของเขาก็มีไม่มากนัก เพราะเขาลงแข่งขันวิ่งมาราธอนก่อนหน้ามาทำลายสถิติโลกที่ชิคาโกแค่ 2 รายการเท่านั้น
ตามข้อมูลที่พอหาได้ทำให้เรารู้ว่า คิปตัมเกิดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 1999 ในเมืองคีโย ประเทศเคนยา เขาหลงรักการวิ่งมาตั้งแต่เด็กและเติบโตมากับมัน โดยเขาเคยเล่าเรื่องนี้ไว้ผ่านการให้สัมภาษณ์กับ Olympics.com ด้วย
คิปตัมกล่าวว่า “ผมโตมาแบบนั้น โตมาด้วยการวิ่งไปรอบๆ บ้านของผม หลังจากนั้นผมเลยเริ่มการฝึกฝนจริงจังกับพวกนักวิ่งมาราธอนและนักวิ่งโรดเรซ รู้ตัวอีกทีผมก็พบว่าตัวเองกลายเป็นนักวิ่งโรดเรซไปแล้ว แม้ผมจะอายุยังน้อย และผมก็ไม่เคยวิ่งในลู่เลย”
ชื่อของคิปตัมปรากฏอย่างเป็นทางการในฐานะนักวิ่งหลังจากที่เขาคว้าแชมป์เอลโดเร็ตฮาล์ฟมาราธอนในประเทศบ้านเกิดด้วยวัยเพียง 18 ปี ตอนนั้นเขาทำเวลาได้ 1 ชั่วโมง 2 นาที 1 วินาที ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสถิติที่ไม่มีใครพูดถึง เพราะในเวลาไล่เลี่ยกันอีกราว 1 ปีต่อมา จอฟฟรี คัมวอรอร์ ก็มาทำสถิติโลกฮาล์ฟมาราธอนใหม่ในรายการโคเปนเฮเกนฮาล์ฟมาราธอน 2019 ด้วยเวลาเพียง 58 นาที 1 วินาที ซึ่งห่างกันถึง 4 นาทีเต็ม
ชื่อของคิปตัมมาเป็นที่รู้จักมากขึ้นในช่วงปลายปี 2022 เมื่อเขาคว้าแชมป์บาเลนเซีย มาราธอนที่ประเทศสเปน ซึ่งเป็นแชมป์มาราธอนรายการแรกในชีวิต
หลังจากนั้นเขาก็สร้างชื่อเสียงครั้งใหญ่ในเดือนเมษายนปีนี้ หลังคว้าแชมป์ระดับเวิลด์เมเจอร์ในรายการลอนดอนมาราธอน 2023 ด้วยการเอาชนะนักวิ่งชื่อดังทั้ง คัมวอรอร์ และ เซอร์โม ฟาราห์ ได้สำเร็จ โดยทำเวลาได้ 2 ชั่วโมง 1 นาที 35 วินาที เร็วที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ตลอดกาลด้วย
ล่าสุด คิปตัมก็มาทำลายสถิติโลกในรายการชิคาโกมาราธอนเมื่อวานนี้ ซึ่งทำให้เขากลายเป็นนักวิ่งที่เร็วที่สุดในโลกในระยะมาราธอนทันที หลังวิ่งเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 35 วินาที กลายเป็นมนุษย์คนแรกที่วิ่งระยะ 42.195 กิโลเมตรได้ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง 1 นาทีด้วย
คิปตัมกล่าวหลังทำลายสถิติโลกสำเร็จว่า “ผมคิดว่าในวันอาทิตย์ ถ้าอากาศดี ผมอาจวิ่งได้ต่ำกว่าสถิติของรายการนี้ก็ได้ สถิติโลกไม่ได้อยู่ในหัวของผมเลย แต่ผมก็รู้ดีว่า ในสักวัน ในสักเวลา ผมอาจถือครองสถิติโลกอยู่”
GOAT คนใหม่ในระยะมาราธอน?
ในช่วงเวลาที่ เอเลียด คิปโชเก กำลังเดินทางเข้าไปสู่เลข 4 นำหน้าในอายุ โลกแห่งการวิ่ง กำลังมองหาฮีโร่คนต่อไปซึ่งจะมาเป็นแรงบันดาลใจใหม่ในการวิ่ง และดูเหมือน เคลวิน คิปตัม จะเป็นคนนั้นได้อย่างพอดิบพอดี
นักวิ่งวัย 23 ปี เข้ามาทำลายสถิติโลกในช่วงเวลาที่เขายังสด ใหม่ และยังพัฒนาได้อีกไกลในวงการวิ่งมาราธอน และเขายังมีโอกาสสร้างสถิติโลกได้อีกมากมายหลังจากนี้
หากเทียบกับอายุของคิปโชเกในปัจจุบันที่ยังวิ่งได้ในระดับสูงของการแข่งขันมาราธอน คิปตัมยังนับได้ว่ามีหนทางอีกยาวไกล แต่สิ่งที่เขาต้องพิสูจน์หลังจากนี้ไม่ได้มีแค่เรื่องของฝีเท้าเท่านั้น เพราะเป็นที่รู้กันดีว่ามาราธอนเป็นกีฬาแห่งความอดทน การฝึกซ้อม และการยืนระยะ
คิปตัมอาจต้องละทิ้งวิถีชีวิตวัยรุ่นออกไปหากเขาจะกลายมาเป็น GOAT (The Greatest of All Time) คนใหม่ เขาจำเป็นจะต้องทุ่มเท ฝึกซ้อม และฝึกฝนด้วยวินัยอันแรงกล้าแบบที่คิปโชเกแสดงให้เห็นมาตลอดอาชีพ และจุดนั้นเองที่จะพิสูจน์ว่าเขาจะเป็น GOAT ได้หรือไม่
ดังนั้นตอนนี้จึงเร็วเกินไปที่จะบอกว่าคิปตัมจะเป็น GOAT คนต่อไป และสิ่งที่จะบอกเราได้ว่าเขาจะดีพอไหมนั่นคือเวลาเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าคิปตัมมีพื้นฐานที่ดี และมีความพร้อมที่จะก้าวขึ้นมาเป็น ‘ดาวดวงใหม่’ ในวงการมาราธอน และจากตัวเลขที่เขาทำได้ในชิคาโก มีโอกาสอย่างมากที่เราอาจได้เห็นสถิติโลกใหม่ในอนาคตอีกครั้ง
ความเป็นไปได้ในการทำลายกำแพง 2 ชั่วโมง?
หากใครคิดตามวิ่งมาราธอนจะรู้ดีว่า สนามแห่งการทำลายสถิติโลกในกีฬาชนิดนี้คือเบอร์ลินมาราธอน และสิ่งที่พิสูจน์เรื่องนี้ได้ดี คือการที่สนามแห่งนี้ถูกใช้ทำสถิติโลกมมาตลอด 8 ครั้งก่อนหน้านี้ นับตั้งแต่ พอล เทอร์แกต ทำสถิติโลกในปี 2003 ด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 4 นาที 55 วินาที
สาเหตุหลักที่สนามแห่งนี้ช่วยให้นักวิ่งทำเวลาได้ดี เนื่องจากพื้นสนามที่เรียบกว่ารายการเมเจอร์อื่นๆ ทั่วโลก โดยจุดเริ่มต้นของการแข่งขันมีความสูงอยู่ที่ 38 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และตลอดเส้นทางการแข่งขันจะไม่มีส่วนใดสูงกว่า 53 เมตร หรือต่ำกว่า 37 เมตร ทำให้นักวิ่งไม่ต้องวิ่งขึ้นหรือลงเขามาก เมื่อเปรียบเทียบกับลอนดอนมาราธอน ซึ่งมีโค้งมากกว่า
นอกจากนี้ตลอดเส้นทางของเบอร์ลินมาราธอนจะราดด้วยยางมะตอย ซึ่งช่วยลดแรงกระแทกบริเวณเข่าให้นักวิ่งได้มากกว่าสนามที่เป็นคอนกรีต
ที่สำคัญคือเรื่องของช่วงเวลา เพราะเดือนกันยายนถึงตุลาคมของทุกปี ยังถือว่ามีสภาพอากาศที่เหมาะสมสำหรับการวิ่งมาราธอน โดยในเบอร์ลินจะมีอุณหภูมิที่ประมาณ 12-18 องศาเซลเซียส ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการวิ่งเพื่อทำความเร็ว
ที่ว่ามาทั้งหมดช่วยสร้างความได้เปรียบให้นักวิ่งที่ลงแข่งขันเบอร์ลินมาราธอนทำลายสถิติโลกได้สำเร็จ แต่ทางคิปตัมไม่ได้รับความได้เปรียบตรงนั้นสักเท่าไร เพราะเขาทำลายสถิติได้ที่ชิคาโกมาราธอน หาใช่ที่เบอร์ลินเหมือนนักวิ่งก่อนหน้านี้อีก 7 คน
แน่นอนว่าชิคาโกไม่ใช่สนามที่แย่ในการทำสถิติโลก ก่อนหน้านี้เคยมีการทำสถิติโลกที่สนามชิคาโกมาราธอนมาแล้ว 2 ครั้ง นั่นคือในปี 1984 โดย สตีฟ โจนส์ นักวิ่งสหราชอาณาจักร และ คาลิด คานูชี นักวิ่งโมร็อกโก ในปี 1999 แต่การทำลายสถิติที่สนามนี้ยังเกิดขึ้นได้ยากเมื่อเทียบกับที่เบอร์ลิน
ดังนั้นจึงน่าคิดอย่างมากว่าหากคิปตัมพัฒนาตัวเองได้ในอนาคตแล้วไปลงแข่งขันในเบอร์ลินมาราธอน และหากมีโชคช่วยเล็กน้อยเรื่องสภาพอากาศ
ไม่แน่ว่าเราอาจได้เห็นกำแพง 2 ชั่วโมงถล่มลงพร้อมกับสถิติโลกใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นในอนาคตอีกไม่ไกลก็เป็นได้
อ้างอิง:
- www.bbc.com/sport/athletics/67047638
- theathletic.com/4941508/2023/10/08/world-marathon-record-chicago-kelvin-kiptum/
www.nationalworld.com/sport/other-sport/kelvin-kiptum-london-marathon-did-2023-winner-beat-eliud-kipchoges-marathon-record-age-weight-nationality-4116807 - labaranyau.com/kelvin-kiptum-biography-early-career-family-personal-details-wikipedia-age-height-weight-parents/
- www.timesnownews.com/world/who-is-kelvin-kiptum-all-about-2023-chicago-marathon-winner-article-104264439
- thestandard.co/bmw-berlinmarathon-worldrecord/