×

คิวเบ ร้านซูชิที่ขายความใส่ใจจนต้องกลับไปเยือนอีกครั้ง

04.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • นอกจากจะเคยเสิร์ฟซูชิให้นายกรัฐมนตรีและคนดังหลายคนแล้ว คิวเบยังเป็นร้านแรกในญี่ปุ่นที่สามารถทำซูชิหน้าหอยเม่นและอิคุระ ซึ่งเกิดจากความใส่ใจของเชฟที่ไม่ปฏิเสธคำขอร้องจากลูกค้า
  • แม้เวลาผ่านไป 60 กว่าปี แต่ร้านคิวเบก็ยังคงรักษาจิตวิญญาณการทุ่มเทและบริการเพื่อลูกค้ามาจนถึงปัจจุบัน ทั้งคุณอิมาดะ (ผู้สืบทอดกิจการ) เชฟซูชิ รวมถึงพนักงานบริการทุกคน
  • ความแตกต่างระหว่างร้านอาหารที่ดีกับร้านอาหารที่ดีมากจนอยากกลับไปอีกอาจไม่ใช่แค่รสชาติอาหาร บรรยากาศ หรือการตกแต่งร้าน แต่คือความใส่ใจและการตั้งใจทำให้ดีที่สุดเพื่อลูกค้านั่นเอง

    ครั้งหนึ่งดิฉันต้องไปทำงานที่โตเกียวกะทันหัน เมื่อเครื่องแตะพื้นสนามบินฮาเนดะก็เกิดอารมณ์ลงแดงซูชิ… ดิฉันลองเสี่ยงหาเบอร์ร้านจิโร่ซูชิ แต่ร้านปิดรับคิวจองไปตั้งแต่เดือนก่อน โทรหาร้านลูกชายของลุงจิโร่ทั้งสองสาขาก็ไม่ว่าง… จึงตัดสินใจเมสเสจไปถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นผู้เป็นบอร์ดของบริษัทญี่ปุ่นชื่อดัง ขู่คาดคั้นให้เขาแนะนำร้านซูชิดีๆ ให้หน่อย

    คุณเพื่อนแนะนำร้าน คิวเบ (久兵衛) ตั้งอยู่ที่กินซ่า ย่านหรูของญี่ปุ่น เป็นร้านเก่าแก่และมีร้อยกว่าที่นั่ง เขามั่นใจว่าน่าจะยังมีที่สำหรับสาวไทยหนึ่งคนแน่นอน

    และก็มีที่จริงๆ! แต่อีก 3 วันข้างหน้า ดิฉันจะได้ไปกินที่ร้านคิวเบ

    เมื่อถึงวันนัด ดิฉันไปถึงร้านก่อนเวลาประมาณ 5 นาที พนักงานสาวในชุดกิโมโนเดินมารับ และแจ้งว่าให้ลูกค้าไปพักผ่อนบริเวณห้องรอที่ชั้น 4 ก่อน ที่ชั้นนี้มีตู้จัดแสดงถ้วยชามโบราณ ภาพสีน้ำ ภาพอักษรเขียนพู่กัน ประวัติร้าน พร้อมเก้าอี้เล็กๆ อยู่รอบห้องให้เรานั่งรอได้

 

 

    คนหิวๆ อย่างดิฉันตัดสินใจเดินดูป้ายและอ่านประวัติร้านเพื่อให้ลืมความหิว ร้านที่เพื่อนญี่ปุ่นแนะนำร้านนี้ไม่กระจอกเลย มีนายกรัฐมนตรีและคนดังหลายคนเคยมาที่นี่แล้ว อีกข้อมูลที่น่าสนใจคือ คิวเบเป็นร้านแรกในญี่ปุ่นที่สามารถทำซูชิหน้าหอยเม่นและอิคุระ

    เดิมทีการทำซูชิแบบนำปลาดิบมาวางแปะบนข้าวนั้นเกิดขึ้นในสมัยเอโดะ (ช่วงปี ค.ศ. 1800) ผ่านมาหลายร้อยปี คนญี่ปุ่นก็ยังปั้นข้าวแปะปลาอยู่เรื่อยมา จนวันหนึ่งในปี ค.ศ. 1941 แขกประจำร้านคิวเบเพิ่งกลับมาจากฮอกไกโด เขานำกล่องอุนิ (ไข่หอยเม่น) อย่างดีกลับมาด้วย เขาบอกเชฟว่า อยากกินซูชิหน้าใหม่ๆ แบบหน้าอุนิดูบ้าง เพราะกินแต่หน้าปลาเดิมๆ

    ในตอนแรกเชฟก็ลังเล เพราะไม่เคยมีร้านไหนนำอุนิมาทำซูชิ เนื่องจากไข่หอยเม่นลื่น ไม่สามารถวางบนข้าวได้ เชฟกลับไปคิดอยู่สักพักใหญ่ จนปิ๊งไอเดียนำสาหร่ายที่มีมาห่อ ซึ่งทำให้ลูกค้าชอบอกชอบใจมาก

    การนำสาหร่ายมาห่อซูชิเช่นนี้ ยังทำให้ทางร้านคิวเบสามารถนำเสนอเมนูได้อีกหลากหลายเมนู เช่น ซูชิหน้าอิคุระ (ไข่ปลาแซลมอน) หน้ามิโซะปู เรียกได้ว่าอะไรก็ตามที่เป็นอาหารทะเลที่เหลวๆ หน่อย ก็ใช้วิธีนี้ปั้นซูชิได้เลย

    ปัจจุบันคนญี่ปุ่นเรียกซูชิชนิดห่อสาหร่ายนี้ว่า กุนคัง ที่แปลว่า เรือรบ เพราะทรงของซูชิเหมือนเรือรบประจัญบานนั่นเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขอบคุณพี่เชฟคิวเบที่ไม่ได้ปฏิเสธคำขอของลูกค้า แต่กลับตั้งอกตั้งใจพยายามหาวิธีทำซูชิอุนิมาตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ในที่สุด

 

 

    หลังจากอ่านประวัติซูชิเรือรบอุนิจนหิวได้ที่แล้ว น้องพนักงานสาวในชุดกิโมโนหน้าตาจิ้มลิ้มอีกคนหนึ่งก็มาเชิญดิฉันลงไปที่ชั้นสอง ที่นั่งเป็นเคาน์เตอร์คล้ายบาร์ มีประมาณ 10 ที่นั่ง เชฟปั้นซูชิจะยืนทำอยู่อีกฝั่ง เราสามารถเห็นทุกขั้นตอนการเตรียมและปั้นซูชิของพี่เชฟได้ตลอด

    ดิฉันสั่งเซตแล้วแต่เชฟ (โอมากาเสะ) พี่เชฟก็ปั้นทีละคำๆ ให้ลูกค้า ดูไปกินไปก็เพลินดี พี่แกแล่ปลาที เช็ดเขียงเช็ดมีดที พอดิฉันหยิบซูชิบนจานมากิน เชฟก็เอาผ้ามาเช็ดจานดิฉัน เช็ดกันบ่อยมาก รักษาความสะอาดดีเหลือเกิน

    ด้วยระดับร้านซูชิย่านกินซ่าแล้ว รสชาติและระดับการบริการประทับใจดิฉันมากๆ แต่สิ่งที่ทำให้ดิฉันประทับใจถึงที่สุดจนกลับไปที่ร้านนี้อีกก็คือ ตอนที่คุณลุงร่างเล็กคนหนึ่งเข้ามาปรากฏกายในห้องของเรา

    คุณลุงตัวเล็ก ผอม แต่สีหน้าสดใส เดินเข้ามาที่ห้องของเรา พร้อมแนะนำตัวว่า ชื่อคุณอิมาดะ เป็นเจ้าของร้านที่นี่ ลูกค้าญี่ปุ่นที่นั่งเงียบๆ เรียบร้อยก็ฮือฮากัน ใครจะไปนึกว่าเจ้าของร้านซูชิเก่าแก่สุดหรูจะเดินมาทักทายเองขนาดนี้

    คุณลุงเดินตรงมาที่ดิฉันและถามว่า ดิฉันมาจากประเทศไหน พอตอบว่าประเทศไทย แกก็ยิ้มกว้างพร้อมพูดว่า “สวัสดีครับ” หลังจากนั้น คุณลุงก็ยื่นกระดาษหนังสือพิมพ์หนึ่งแผ่นให้ดิฉัน เป็นบทความภาษาอังกฤษจากหนังสือพิมพ์ The New York Times ให้ คุณลุงบอกว่า ลองอ่านเรื่องราวของร้านเราจากที่นี่ได้ ดิฉันประหลาดใจที่แกรู้ว่าดิฉันซึ่งเป็นคนต่างชาตินั่งที่นั่งตรงไหน พร้อมเตรียมบทความภาษาอังกฤษมาให้เรียบร้อย แถมกล่าวคำสวัสดีเป็นภาษาไทยได้อีก

    เมื่อดิฉันจะขอคุณลุงถ่ายรูป แกบอกยินดีเป็นอย่างยิ่ง แต่เมื่อแกเห็นดิฉันเปิดโหมดเซลฟี คุณลุงอิมาดะยื่นมือมาขอรับโทรศัพท์มือถือไป เดินอ้อมไปด้านหลังเคาน์เตอร์ และเรียกลูกมือเชฟมาให้ช่วยถ่ายรูปให้ เมื่อถ่ายรูปเสร็จ คุณลุงก็เดินไปทักทายลูกค้าญี่ปุ่นท่านอื่นๆ ในห้องเราด้วยเสียงสดใส และก่อนที่จะออกจากห้อง แกโค้งกล่าวขอบคุณลูกค้าทุกคนอย่างนอบน้อม และเดินออกไปทักลูกค้าห้องอื่นๆ ต่อไป

    ดิฉันไม่รู้ว่าแกจะสามารถทักลูกค้าทุกห้องจำนวนเกือบร้อยคนได้หมดในคืนนั้นหรือเปล่า แต่อย่างน้อยดิฉันก็รู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่คุณลุงเข้ามาในห้องเราพอดี ความน่ารักและใส่ใจของคุณลุงอิมาดะ ทำให้ดิฉันหวนนึกถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเชฟที่มุ่งมั่นหาวิธีปั้นซูชิหน้าอุนิให้ลูกค้ากินให้ได้

    แม้เวลาผ่านไป 60 กว่าปี แต่ร้านคิวเบก็ยังคงรักษาจิตวิญญาณการทุ่มเทและบริการเพื่อลูกค้ามาจนถึงปัจจุบัน ทั้งคุณอิมาดะ (ผู้สืบทอดกิจการ) เชฟซูชิในค่ำคืนนั้น ตลอดจนพนักงานบริการทุกคน

    ความแตกต่างระหว่างร้านอาหารที่ดีกับร้านอาหารที่ดีมากจนอยากกลับไปอีก อยู่ตรงไหน?

    ไม่ใช่รสชาติอาหาร บรรยากาศ หรือการตกแต่งร้าน แต่คือความใส่ใจและการตั้งใจทำให้ดีที่สุดเพื่อลูกค้านั่นเอง

    ครั้งหน้าถ้ามีโอกาสได้ไปโตเกียว (และเก็บเงินพอ) จะแวะไปกินอีกแน่นอนค่ะ คุณลุงอิมาดะและคิวเบที่รัก

 

Photo: Mouthwatering, Shutterstock/Profile

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X