การดีเบตครั้งแรกและครั้งเดียวระหว่างผู้สมัครตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เจ.ดี. แวนซ์ สมาชิกวุฒิสภาของรัฐโอไฮโอจากพรรครีพับลิกัน และ ทิม วอลซ์ ผู้ว่าการรัฐมินนิโซตาจากพรรคเดโมแครต ได้สิ้นสุดลงไปแล้วเมื่อค่ำคืนวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา (ตามเวลาท้องถิ่น) ซึ่งบรรยากาศของการดีเบตในครั้งนี้แตกต่างมากจากการดีเบตผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ และ คามาลา แฮร์ริส เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
และนี่คือบทสรุปประเด็นน่าสนใจจากเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งที่ทั้งสองคนได้ประชันวิสัยทัศน์กันบนเวทีแบบตัวต่อตัว
ดีเบตกันที่นโยบาย
บรรยากาศของการดีเบตระหว่างแวนซ์กับวอลซ์นั้นต่างไปอย่างมากจากการดีเบตของผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อเดือนกันยายน เพราะทั้งสองต่างตอบโต้กันที่นโยบายโดยที่แทบจะไม่มีการโจมตีเรื่องส่วนตัวกันเลย
โดยทั้งแวนซ์และวอลซ์ได้นำเสนอนโยบายของพรรคของพวกเขาในประเด็นปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ทรัมป์และแวนซ์ต้องการจะดำเนินนโยบายแบบปกป้องอุตสาหกรรมหนักภายในประเทศด้วยการตั้งกำแพงสินค้านำเข้า
ในขณะที่แฮร์ริสและวอลซ์ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภายในด้วยการลดภาษีให้ผู้ประกอบการรายย่อย, นโยบายด้านผู้อพยพที่ทรัมป์และแวนซ์ต้องการจะระดมกำลังเจ้าหน้าที่ เพื่อจับกุมและเนรเทศผู้อพยพเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายขนานใหญ่ ในขณะที่แฮร์ริสและวอลซ์เสนอนโยบายที่นิ่มนวลกว่าด้วยการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ที่ชายแดน เพื่อลดจำนวนผู้ที่หนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย
แวนซ์ยังกล่าวอีกว่า การเนรเทศขนานใหญ่จะลดอุปสงค์ของที่พักอาศัย เขาสามารถบรรเทาปัญหาที่อยู่อาศัยราคาแพงจนชาวอเมริกันเอื้อมได้ ในขณะที่แฮร์ริสและวอลซ์ต้องการจะแก้ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ราคาแพงด้วยการปรับเปลี่ยนโซนนิ่งให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น อันจะเป็นการเพิ่มอุปทาน (วอลซ์อวดบนเวทีดีเบตว่า เขาทำนโยบายนี้สำเร็จมาแล้วที่เมืองมินนิแอโปลิส-เซนต์ปอล อันเป็นเมืองเอกของรัฐมินนิโซตา)
ส่วนปัญหาเรื่องการกราดยิงที่โรงเรียน ทรัมป์และแวนซ์ต้องการให้เพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในโรงเรียน ในขณะที่แฮร์ริสและวอลซ์ต้องการผ่านกฎหมายจำกัดการถือครองอาวุธปืน โดยบังคับให้มีการตรวจประวัติอาชญากรรมและโรคทางจิตเวชก่อนการซื้อขายอาวุธปืนทุกครั้ง
ส่วนนโยบายด้านการทำแท้ง ทรัมป์และแวนซ์ต้องการให้แต่ละรัฐออกกฎหมายกันเอง ในขณะที่แฮร์ริสและวอลซ์ต้องการผ่านกฎหมายให้ทุกรัฐต้องยินยอมให้สตรีสามารถทำแท้งได้ในช่วงเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ คล้ายกับบรรทัดฐานของคดี Roe v. Wade ที่เพิ่งถูกศาลสูงสุดยกเลิกไป เป็นต้น
ซึ่งการดีเบตในรูปแบบที่ศิวิไลซ์เช่นนี้ถือเป็นเรื่องที่ชาวอเมริกันไม่ได้เห็นมานานนับตั้งแต่ทรัมป์เข้ามาเล่นการเมือง เพราะในทุกๆ ดีเบตที่ทรัมป์เข้าไปมีส่วนร่วม (ไม่ว่าจะกับ ฮิลลารี คลินตัน, โจ ไบเดน หรือแฮร์ริส) นั้นเต็มไปด้วยการโจมตีที่ตัวบุคคลอย่างดุเดือด มีการใช้อารมณ์เกรี้ยวกราดตะโกนใส่กัน จนบางครั้งการดีเบตแทบจะไม่มีโอกาสถกกันที่นโยบายเลย
เสมอกัน
ด้วยความที่ทั้งคู่ไม่ได้ตั้งใจที่จะปล่อยหมัดฮุกใส่กันด้วยการหลีกเลี่ยงที่จะโจมตีที่ตัวบุคคลตรงๆ ทำให้สุดท้ายแล้วไม่มีใครโดนน็อก และชาวอเมริกันมองว่าทั้งคู่ทำผลงานได้ดีพอๆ กัน โดยผลโพลของสำนักข่าว CNN พบว่าชาวอเมริกัน 51% เลือกให้แวนซ์เป็นผู้ชนะดีเบต ในขณะที่อีก 49% เลือกให้วอลซ์ชนะ ในขณะที่ผลโพลของสำนักข่าว CBS พบว่าชาวอเมริกัน 42% เลือกให้แวนซ์เป็นผู้ชนะดีเบต ในขณะที่อีก 41% เลือกให้วอลซ์ชนะ
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ การดีเบตอย่างศิวิไลซ์ในครั้งนี้ส่งผลที่ดีต่อภาพลักษณ์ของผู้สมัครทั้งสองคน โดยที่คะแนนนิยม (Favorable Rating) ของวอลซ์เพิ่มจาก 11% ก่อนดีเบต มาเป็น 25% ในขณะที่ของแวนซ์ที่เคยติดลบ 14% พลิกกลับมาเป็นบวก 2% ได้หลังดีเบตจบลง
ดีเบตที่ไม่น่าจะส่งผลต่อการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน
โดยปกติแล้วการดีเบตของผู้สมัครในตำแหน่งรองประธานาธิบดีนั้นมักไม่ส่งผลต่อการเลือกตั้ง เพราะชาวอเมริกันเลือกลงคะแนนที่ตัวประธานาธิบดีเป็นหลัก ยิ่งในการดีเบตครั้งนี้ที่ชาวอเมริกันมองว่าแวนซ์และวอลซ์ทำผลงานได้เสมอกัน ยิ่งทำให้ดีเบตในครั้งนี้น่าจะไม่มีผลอะไรเลยกับการเลือกตั้งในเดือนหน้า อย่างไรก็ดี การที่ทั้งสองคนได้รับคะแนนนิยมที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแวนซ์ที่พลิกกลับมาอยู่ในแดนบวกได้ (เดิมแวนซ์มีคะแนนนิยมที่ติดลบมาก เพราะเขามีภาพลักษณ์ของการเป็นคนที่ดูประหลาด) ก็น่าจะส่งผลดีต่ออนาคตทางการเมืองของพวกเขาภายหลังปี 2024
ภาพ: Mike Segar / Reuters