×

ปี 2025 สนามรบยูเครนปีที่ 4: สงครามที่ผันผวน-การเมืองที่ผันแปร

23.02.2025
  • LOADING...

เราได้กลับสู่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ปราศจากกติกา [ระหว่างประเทศ] และประเทศใหญ่ก็ละเลยต่อบรรทัดฐาน [ระหว่างประเทศ] พร้อมกับมีความพึงพอใจในการยึดครองดินแดนอื่น [ที่ไม่ใช่ของตน]

 

เบน โรดส์

ผู้ช่วยที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดี บารัก โอบามา

บทสัมภาษณ์ใน Harvard Gazette (กุมภาพันธ์ 2025)

 

ถึงเวลาแล้วที่ต้องสร้างกองทัพยุโรป เพราะสหรัฐฯ ไม่สามารถพึ่งพาได้ในการสนับสนุนยุโรป [อีกต่อไป]

 

ประธานาธิบดีเซเลนสกี

เวทีการสัมมนาความมั่นคงมิวนิก (7 กุมภาพันธ์ 2025)

 


 

หมายเหตุผู้เขียน:

 

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 คือ วันที่ 1 ของสงครามยูเครน หรือเป็นวันแรกของ ‘ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร’ (Special Military Operations) ของประธานาธิบดีปูติน ดังนั้นบทความนี้จึงเขียนขึ้นเพื่อรับกับวันที่ 1 ของปีที่ 4 (24 กุมภาพันธ์ 2025) อันเป็นสัญญาณของการเดินทางเข้าสู่ปีที่ 4 ของสงครามยูเครน และเป็นสัญญาณที่บอกแก่เราว่า โลกยังต้องอยู่กับความโหดร้ายของสงครามยูเครนในปีที่ 4 ต่อไป 

 

แม้อาจมีความเป็นไปได้ที่สงครามนี้จะยุติในปี 2025 แต่ก็อาจเป็นการยุติปัญหาแบบหนึ่ง และทิ้งปัญหาอีกแบบหนึ่งให้กับการเมืองโลกในอนาคตอย่างน่ากังวล

 


 

กล่าวนำ 

 

แล้ว ‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ (The Russo-Ukrainian War) ก็เดินทางเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว อย่างที่หลายคนนึกไม่ถึง…เมื่อครั้งสงครามเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ทุกคนดูจะมีความเห็นคล้ายกันว่า สงครามครั้งนี้คงไม่ยาวอย่างแน่นอน ซึ่งความเห็นเช่นนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานหลักประการเดียวคือ ขีดความสามารถของยูเครนไม่ใช่รัฐมหาอำนาจ จะเอาอะไรที่ไหนมารบกับมหาอำนาจใหญ่อย่างรัสเซีย

 

ดังนั้น หากมองผ่านบริบททางทหาร ด้วยสถานะของประเทศ และด้วยศักยภาพของกองทัพ ยูเครนไม่มีทางที่จะรับมือกับการรุกใหญ่ของกองทัพรัสเซียได้แต่อย่างใด ในเงื่อนไขเช่นนี้ คำถามในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ จึงมีแต่เพียงประการเดียวว่า คีฟจะแตกเมื่อไร และใครจะขึ้นเป็นผู้นำ ‘รัฐบาลหุ่น’ ของรัสเซียแทนประธานาธิบดีเซเลนสกี 

 

แต่ทุกอย่างดูจะผิดคาดไปหมด การเข้าตีคีฟประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่วันแรกของการยุทธ์ จนเห็นได้ชัดว่าสงครามของประธานาธิบดีปูตินไม่บรรลุผลสำเร็จในทางยุทธศาสตร์ทหาร และผลที่ตามมาคือการลากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนเข้าสู่ปีที่ 4 อย่างไม่น่าเชื่อ 

 

ขณะเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นจากสงครามครั้งนี้ก็คือ เราเห็นการรบอย่างรุนแรงชุดหนึ่งในประวัติศาสตร์สงครามของโลกด้วยสภาวะที่เป็น ‘สงครามทอนกำลัง’ (Attrition Warfare) โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายที่เกิดแก่ชีวิตของประชาชน กระนั้น ก็ยังไม่มีคำตอบว่า แล้วเราจะได้เห็นแสงสว่างของสันติภาพในปีที่ 4 ของสงครามหรือไม่ หรือบางทีแสงของสันติภาพอาจจะไม่เป็นอย่างที่เราคาดคิดไว้ กระบวนการเจรจาเพื่อยุติสงครามยูเครนอาจจะเป็นเพียง ‘แสงสลัว’ ของสันติภาพ ที่อาจทิ้งปัญหาให้กับการเมืองโลกอย่างที่เราไม่คาดคิด โดยเฉพาะการเปลี่ยนจุดยืนและบทบาทใหม่ของผู้นำสหรัฐฯ ที่สะท้อนจุดยืนของชุดความคิดแบบ ‘ทรัมป์นิยม’ (Trumpism) ซึ่งต้องการถอยสหรัฐฯ ออกจากพันธะ และความผูกพันกับระบบพันธมิตรเดิม

 

ฉะนั้น บทความนี้จะทดลองเสนอใน 4 ส่วนหลัก ได้แก่ ภาพรวมของสงคราม พลวัตของสงคราม และมองไปสู่อนาคตของสงคราม ตลอดรวมถึงอนาคตหลังสงคราม อันเป็นผลจากการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของโดนัลด์ ทรัมป์

 

ภาพรวมของสงคราม

 

ถ้าเราเริ่มต้นลากเส้นแบ่งเวลาของความสัมพันธ์รัสเซีย-ยูเครนในสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว เส้นเวลาที่ตัดแยกยูเครนออกจากการถูกควบคุมจากรัสเซียอย่างเป็นทางการ คือ การได้รับเอกราชในปี 1991 และเส้นเวลาที่สำคัญอีกเส้น คือ วิกฤตการณ์ยูเครน 2014 เมื่อรัสเซียตัดสินใจใช้ปฏิบัติการทางทหารในแบบ ‘พันธุ์ทาง’ (Hybrid Operation) ในการยึดครองดินแดนของยูเครน คือ ไครเมีย และดอนบาส และตามมาด้วยการสู้รบอย่างหนักในพื้นที่ของดอนบาส ที่อยู่ด้านตะวันออกของยูเครน และผลของการสู้รบคือ ยูเครนประสบความสูญเสียอย่างหนักในสงครามครั้งนี้

 

หลังจากประสบความพ่ายแพ้ใหญ่ในปี 2014 NATO เริ่มตัดสินใจส่งความช่วยเหลือทางทหารให้แก่ยูเครน โดยเฉพาะการฝึกทหารให้แก่กองทัพยูเครน แต่ก็ไม่ใช่การสนับสนุนทางทหารที่มีมูลค่าขนาดใหญ่ แต่ในอีกด้านของพรมแดน โครงการปฏิรูปกองทัพ 10 ปีของรัสเซียเสร็จสิ้นลงแล้ว และกองทัพรัสเซียพร้อมแล้วที่จะออกสู่สนามรบอีกครั้ง

 

ดังนั้น เมื่อประธานาธิบดีปูตินไม่ได้รับการตอบรับจากการยื่นคำขาดของรัสเซียต่อการจัดความสัมพันธ์ใหม่กับ NATO และสหรัฐฯ ตลอดรวมถึงปัญหายูเครนแล้ว กองทัพจึงเหลือเป็นเครื่องมือหลักประการสำคัญของรัสเซียที่จะใช้ในการดำเนินการต่อไป ในอีกทาง ‘สัญญาณเตือนภัย’ จากวอชิงตันถึงประธานาธิบดีเซเลนสกี ผู้นำของยูเครนจากช่วงเดือนธันวาคม 2021 ก็ดูจะถี่มากขึ้น เนื่องจากข้อมูลข่าวกรองของสหรัฐฯ มีความชัดมากขึ้นว่า กองทัพรัสเซียจะบุกโจมตียูเครนอย่างค่อนข้างแน่นอน

 

ต่อมาในตอนกลางเดือนมกราคม 2022 สหรัฐฯ เสนอให้ประธานาธิบดีเซเลนสกีและครอบครัวเตรียมตัวอพยพออกจากยูเครน เพื่อจัดตั้ง ‘รัฐบาลพลัดถิ่นยูเครน’ เพราะหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ประเมินอย่างมั่นใจว่า การบุกรัสเซียกำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววัน และยูเครนจะล้มลงด้วยความพ่ายแพ้อย่างรวดเร็ว เพราะกองทัพรัสเซียประกอบกำลังขนาดใหญ่ตามแนวพรมแดนยูเครนมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะการวางกำลังในเบลารุส ที่มีระยะห่างจากตัวเมืองหลวงคือ คีฟ ประมาณ 100 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งในทางทหาร ระยะทางเช่นนี้ถือเป็นระยะที่ใกล้มากๆ ที่การรุกทางทหารจะกระทำได้อย่างรวดเร็ว คือเป็น ‘surprise Attack’ ในทางทหาร

 

แล้วในที่สุด กองทัพรัสเซียก็ได้รับคำสั่งให้เปิดปฏิบัติการทางทหารข้ามเส้นเขตแดนเข้าสู่พื้นที่ของยูเครนในเช้าตรู่ของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022…สงครามเกิดขึ้นจริงๆ แล้ว

 

ปฏิบัติการครั้งนี้แตกต่างอย่างมากจากการยึดไครเมียและดอนบาสในปี 2014 เพราะเป็นการมุ่งกระทำโดยตรงที่ต้องการยึดเมืองหลวง กำลังหลักส่วนหนึ่งถูกเคลื่อนย้ายทางอากาศ เพื่อยึดสนามบินฮอสโตเมล (Hostomel Airport) ที่อยู่ด้านเหนือ และมีระยะไม่ไกลมากนักจากคีฟ ปฏิบัติการนี้เป็นความหวังของผู้นำรัสเซียอย่างมากว่า กำลังรบพิเศษที่เป็นส่วนหน้าในการยึดสนามบินจะประสบความสำเร็จโดยเร็ว และเปิดพื้นที่รองรับการเคลื่อนย้ายกำลังทางอากาศที่จะสนับสนุนเข้ามา ซึ่งคาดว่าหลังจากนั้นอีกไม่นาน กองทัพรัสเซียจะเข้าควบคุมเมืองหลวงของยูเครนได้ทั้งหมด พร้อมกับเตรียมจัดตั้งรัฐบาลใหม่

 

แผนยุทธการยึดยูเครนถูกกำหนดไว้ด้วยระยะเวลาเพียง 3 วันเท่านั้น เพราะกองทัพรัสเซียมีความเชื่อมั่นอย่างมากในชัยชนะที่จะอยู่กับฝ่ายตน เนื่องจากการต้านทานของกองทัพยูเครนถูกประเมินว่า น่าจะไม่มีความเข้มแข็งเท่าใดนัก และกองทัพรัสเซียจะประสบชัยชนะอย่างรวดเร็วในกรอบเวลา 3 วันดังกล่าว ดังนั้นจึงไม่มีการเตรียมแผนระยะยาวแต่อย่างใด

 

ถ้าเป็นสำนวนแบบไทยก็คงต้องกล่าวว่า ปฏิบัติการเริ่มต้นที่เป็นดังหัวหอกที่มุ่งหวังจะทิ่มเข้าใจกลางเมืองหลวงของยูเครนนั้น ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง จึงเป็นดัง ‘ลางร้าย’ สำหรับความล้มเหลวทางทหารของรัสเซีย เพราะหลังจากกลางปี 2022 กองทัพยูเครนเริ่มปฏิบัติการรุกตอบโต้ (Counteroffensive) ต่อกำลังทหารรัสเซียที่ยึดครองดินแดน และมีปฏิบัติการรุกต่อในปี 2023 

 

แต่ในปี 2024 กองทัพรัสเซียเริ่มเป็นฝ่ายรุกตอบโต้บ้าง และประสบความสำเร็จในบางส่วน เพราะความขาดแคลนอาวุธและความอ่อนล้าของกำลังพลยูเครน ขณะเดียวกันรัสเซียใช้ปฏิบัติการทำลายเมืองของยูเครนด้วยการโจมตีทางอากาศอย่างหนัก ทั้งต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า ตลอดรวมถึงที่อยู่อาศัยของประชาชน 

 

พลวัตของสงคราม

 

ต้องยอมรับว่าถึงพลวัตสงครามในยูเครนว่า สงครามนี้ในบริบททางการเมืองมิใช่เป็นเพียงสงครามใหญ่ครั้งแรกของศตวรรษที่ 21 เท่านั้น หากยังสะท้อนให้เห็นถึงแบบแผนใหม่ๆ ของสงคราม ไม่ว่าจะเป็นการใช้อาวุธยิงระยะไกล (ที่มีพิสัยการโจมตีมากกว่าปืนใหญ่) การยุทธ์ทางอากาศด้วยโดรน การใช้ดาวเทียมและอุปกรณ์การสื่อสาร เช่น โทรศัพท์มือถือในฐานะของการเป็นระบบสื่อสารทหาร เป็นต้น และทั้งหมดนี้สะท้อนสภาวะความรุนแรงและความโหดร้ายของสงคราม ไม่ต่างจากที่เราเห็นมาแล้วในประวัติศาสตร์ 

 

สภาวะของความเป็นสงครามใหญ่ในส่วนหนึ่งเห็นได้จากกำลังพลของรัฐคู่ขัดแย้ง กองทัพรัสเซียมีกำลังพลทั้งหมดในสนามราว 5 แสนนาย ซึ่งจำนวนกำลังพลขนาดนี้ใหญ่กว่ากองทัพประจำการของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ที่บรรจุกำลังพลประมาณ 4.5 แสนนาย ในส่วนของกองทัพยูเครนมีกำลังพลในแนวรบประมาณ 1.5 แสนนาย น้อยกว่ากองทัพรัสเซียอย่างมาก ขณะเดียวกันรัฐบาลยูเครนพยายามขยายกำลังพลให้ได้ เช่น การลดอายุทหารเกณฑ์ อันทำให้กองทัพยูเครนในปัจจุบันมียอดรวมกำลังพลถึง 8 แสนนาย

 

ด้วยจำนวนกำลังพลของยูเครนเช่นนี้ ทำให้กองทัพยูเครนที่แม้จะประสบกับความขาดแคลนอาวุธและกำลังพลอย่างมากนั้น สามารถดำรงสภาพการรบต่อไปอีกราว 1-2 ปี แต่การรบระยะยาวอาจจะกระทำได้ยาก เพราะความขาดแคลนการสนับสนุนด้านยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ

 

ในส่วนของแนวรบนั้น ดูจะมีสภาพของการตรึงกำลังอยู่กับที่ อันเป็นผลจากสภาวะสงครามที่มีลักษณะเป็น ‘สงครามทอนกำลัง’ (Attrition Warfare) ที่อาจมีสภาพเปรียบเทียบความใกล้เคียงได้กับสงครามสนามเพลาะในสงครามโลกครั้งที่ 1 และในส่วนของการครอบครองดินแดน ประมาณการว่ารัสเซียควบคุมดินแดนของยูเครนไว้ราว 18% หรือที่ประมาณว่า พื้นที่ของยูเครนราว 1 ใน 5 อยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย และโอกาสที่จะได้กลับคืนตามความหวังของชาวยูเครนนั้น อาจไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้ในเงื่อนไขของสถานการณ์ปัจจุบัน

 

ขณะเดียวกัน ยูเครนก็สร้างความประหลาดใจในทางทหาร ด้วยการที่กองทัพยูเครนรุกเข้าไปยึดดินแดนของรัสเซียที่คุสค์ (Kursk) เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2024 และสามารถยึดครองดินแดนของรัสเซียไว้ได้จนปัจจุบัน แม้รัสเซียจะใช้กำลังผสมรัสเซีย-เกาหลีเหนือผลักดันอย่างหนักก็ตาม ซึ่งกลายเป็นครั้งแรกหลังจากการยึดครองดินแดนรัสเซียของกองทัพนาซีในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ดินแดนของรัสเซียถูกกองทัพต่างชาติยึดครองอีกครั้งหนึ่งอย่างไม่น่าเชื่อ และยึดครองโดยชาติเพื่อนบ้านของรัสเซียเองด้วย 

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับยูเครนการดำรงขีดความสามารถทางทหารนั้น ขึ้นอยู่กับการได้รับความช่วยเหลืออย่างมากจากภายนอก โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป และยังได้รับความช่วยเหลือจากประเทศพันธมิตรตะวันตกอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ เป็นต้น ดังนั้นการประกาศตัดความช่วยเหลือของผู้นำสหรัฐฯ ปัจจุบันจะส่งผลอย่างมากต่ออำนาจการรบ และขีดความสามารถในการป้องกันทางทหารของยูเครน เพราะความสนับสนุนจากยุโรปนั้นไม่เพียงพอในการรับมือกับกองทัพรัสเซียแต่อย่างใด

 

ผลที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่า การถดถอยของกองทัพยูเครนในสนามรบในปี 2024 เป็นผลโดยตรงจากความล่าช้าในการอนุมัติความช่วยเหลือของรัฐสภาอเมริกันในสมัยของประธานาธิบดีไบเดน เช่น การต้องถอนกำลังออกจากเมืองอดิฟกา (Avdiivka) เพราะความขาดแคลนกระสุนและยุทโธปกรณ์ เป็นต้น ความขาดแคลนเช่นนี้จะมีผลต่อสภาวะสงครามในภาพรวมในอนาคตอย่างมาก

 

นอกจากนี้ ยังเห็นถึงมิติใหม่ๆ ของปฏิบัติการทางทหาร โดยเฉพาะการใช้โดรนและจรวดในการโจมตี ซึ่งรัสเซียมีความได้เปรียบอย่างมากด้วยโดรนราคาถูกจากอิหร่าน ร่วมกับการโจมตีด้วยจรวดของตน อันทำให้การป้องกันทางอากาศของยูเครนไม่สามารถรับมือได้ทั้งหมด ประมาณการว่าขีดความสามารถในการป้องกันการโจมตีทางอากาศของยูเครนในปัจจุบันน่าจะเหลือเพียงประมาณ 25% ซึ่งไม่เพียงพอที่จะรับมือกับการโจมตีอย่างหนักและอย่างต่อเนื่องของรัสเซียอย่างแน่นอน

 

การโจมตีเช่นนี้ส่งผลอย่างมากต่อชีวิต ทรัพย์สิน และที่อยู่อาศัยของประชาชนชาวยูเครน เพราะไม่ใช่การโจมตีที่เน้นเป้าหมายทางทหารอย่างที่รัสเซียแก้ตัวในเวทีระหว่างประเทศ ดังจะเห็นเป้าหมายที่ถูกโจมตีที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่ ทางรถไฟ โรงผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว การโจมตียังกระทำกับโรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล อันทำให้สังคมยูเครนประสบความยากลำบากอย่างมากในการใช้ชีวิตประจำวัน และเกิด ‘วิกฤตผู้อพยพ’ ของการเป็น ‘ผู้หลบภัยสงคราม’ ทั้งที่ออกนอกประเทศ และย้ายถิ่นฐานในประเทศ จนเป็นหนึ่งในวิกฤตมนุษยธรรมครั้งใหญ่ชุดหนึ่งของโลกในศตวรรษที่ 21

 

อนาคตของสงคราม

 

ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ ในเดือนพฤศจิกายน 2024 ดูจะเป็น ‘สัญญาณร้าย’ สำหรับประธานาธิบดีเซเลนสกี และอนาคตของยูเครนอย่างมาก เนื่องจากเขาประกาศมาโดยตลอดว่า เขาไม่เห็นด้วยกับทิศทางนโยบายของประธานาธิบดีไบเดนในปัญหายูเครน ที่สำคัญ เขาไม่เห็นด้วยกับการให้ความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐฯ แก่ยูเครน และมองว่าสหรัฐฯ ไม่ได้ผลตอบแทนอะไรจากการกระทำเช่นนั้น

 

การเข้ามามีบทบาทในการยุติปัญหาสงครามยูเครนของทรัมป์ดูจะเป็นปัญหาอย่างมาก เมื่อรูปธรรมของการแก้ปัญหาคือ เริ่มต้นด้วยการยกหูโทรศัพท์คุยกับประธานาธิบดีปูติน…ไม่น่าเชื่อทั้ง 2 ผู้นำคุยกันนานถึง 90 นาที (1 ชั่วโมงครึ่ง) ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าผลของการคุยดังกล่าวน่าจะเป็นบวกกับทางรัสเซีย และเป็นเสมือนการเจรจาในแบบ ‘ข้ามหัวยูเครน’ เพราะผู้นำยูเครนไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมแต่อย่างใด ซึ่งเซเลนสกีประกาศเสมอว่า การคุยเรื่องยูเครนโดยไม่มียูเครนเข้าร่วมด้วยนั้น เป็นสิ่งที่รับไม่ได้

 

การคุยเช่นนี้ในมุมมองของผู้นำยุโรปคือ ‘ดีลสกปรก’ (Dirty Deal) เพราะเป็นการเปิดประตูทางการทูตให้ผู้นำรัสเซียที่ถูกต่อต้านอย่างมากนับจากปี 2022 ที่สงครามเริ่มต้นขึ้น กลับเข้าสู่เวทีระหว่างประเทศอีกครั้ง ซึ่งคัลลาส (Kaja Kallas, EU’s Foreign Policy Chief) ให้สัมภาษณ์เตือนอย่างชัดเจนว่า สหภาพยุโรปจะไม่ยอมรับแผนสันติภาพที่เป็น ‘การแก้ปัญหาแบบรวดเร็วไม่รอบคอบ’ (Quick Fix) หรือในแบบที่เป็น ‘ดีลสกปรก’ ด้วยการดำเนินการลับหลังยุโรป เพราะในอีกด้านนั้น EU ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครนในปี 2024 มีมูลค่าสูงถึง 125 พันล้านดอลลาร์ ส่วนสหรัฐฯ ให้เป็นมูลค่า 88 ล้านดอลลาร์

 

แต่สำหรับทรัมป์ ดีลนี้อาจจะตามมาด้วยผลตอบแทนทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากสหรัฐฯ เสนอตัวที่จะเป็น ‘ผู้จัดการดีล’ โดยยูเครนอาจจะต้องตอบแทนด้วยสัมปทานสินแร่ทางยุทธศาสตร์ที่หายาก (Rare Earth Minerals) ให้แก่สหรัฐฯ ตามข้อเรียกร้องของทรัมป์ภายใต้ทิศทางนโยบายแบบ America First

 

ในอีกส่วนที่สำคัญ การเจรจาครั้งนี้คือการปิดโอกาสที่ยูเครนจะเข้าไปเป็นสมาชิกของ NATO อันถือว่าเป็นความต้องการที่สำคัญของรัสเซีย แต่สหรัฐฯ กลายเป็นฝ่ายที่ทำให้รัสเซียประสบความสำเร็จเสียเอง และทำให้ยุโรปมีความกระอักกระอ่วนอย่างมาก เพราะความหวังที่จะเปิดให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกของ NATO เพื่อสร้างความเข้มแข็งของการเป็นองค์กรป้องกันทางทหารในภูมิภาค กลับถูกยับยั้งโดยสหรัฐฯ เอง และในการนี้ รัสเซียเป็นผู้ได้รับผลตอบแทนโดยตรง หรือเป็นการบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของรัสเซียโดยการจัดการของผู้นำสหรัฐฯ

 

การเปิดดีลกับผู้นำรัสเซียตามสไตล์ในแบบของทรัมป์นั้นเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก แต่หลายฝ่ายเชื่อว่า ผลตอบแทนหลักน่าจะตกแก่รัสเซียโดยตรง โดยมียูเครน EU และ NATO เป็นผู้ต้องออกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เพราะการดีลครั้งนี้ทำให้เกิดสภาวะที่ยุโรปไม่พึงปรารถนาอย่างมากคือ ‘การแก้ปัญหายูเครน โดยปราศจากยูเครน’ แต่ในความเป็นจริงแล้วทรัมป์โมเดลของการแก้ปัญหาสงครามในครั้งนี้ กำลังจะกลายเป็น ‘การแก้ปัญหายูเครน โดยปราศจากยูเครนและยุโรป’ (ไม่ใช่แค่ไม่มียูเครนอย่างที่ฝ่ายยุโรปกังวล)

 

การดำเนินการดังกล่าวจะมีผลอย่างมากต่อปัญหาความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับบรรดารัฐยุโรปในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะอาจเป็นสัญญาณว่าสหรัฐฯ อาจจะดีลกับรัสเซียในอนาคต โดยเป็นการดีลในแบบที่ผู้นำสหรัฐฯ ยึดเอาผลประโยชน์ฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ เป็นหลัก และละทิ้งยุโรป อันมีนัยอย่างสำคัญว่า สหรัฐฯ กำลังละเลยรากฐานที่สำคัญของระบบพันธมิตรที่สหรัฐฯ สร้างไว้ในการรับมือกับสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น

 

ฉะนั้น ยูเครนจะเป็นตัวอย่างหนึ่งถึงการดำเนินนโยบายของทรัมป์ภายใต้หลักการ America First กล่าวคือ สหรัฐฯ จะไม่มีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศโดยไม่มีผลตอบแทน เช่นที่ในการสร้างสันติภาพยูเครนนั้น สหรัฐฯ อาจจะมุ่งไปที่การได้รับสัมปทานสินแร่ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์เป็นผลตอบแทน คู่ขนานกับการเจรจาสันติภาพที่เกิดขึ้น 

 

ท่าทีของทรัมป์เช่นนี้ยังส่งผลต่ออำนาจในการ ‘ป้องปราม’ รัสเซียของ NATO โดยตรงด้วย เพราะในความเป็นจริง NATO ยังจำเป็นต้องพึ่งพาการคุ้มครองด้านนิวเคลียร์จากสหรัฐฯ ด้วยการดำรงอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ไว้ในยุโรป ต้องพึ่งการป้องกันสงครามตามแบบ ด้วยการคงกำลังพลทหารอเมริกันในยุโรป ซึ่งทรัมป์ต้องการจะลดจำนวนลงให้มากที่สุด หรือต้องพึ่งพาการเป็น ‘คลังแสง’ ของโลกตะวันตกในการรับมือกับรัสเซีย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในทางทหาร ดังจะเห็นได้ว่า จำนวนกระสุนที่รัสเซียผลิตได้ในกรอบเวลา 3 เดือนนั้น สหภาพยุโรปอาจจะใช้เวลาผลิตถึง 1 ปี 

 

นอกจากนี้ รัสเซียยังได้การสนับสนุนด้านยุทโธปกรณ์จากอิหร่าน เกาหลีเหนือ และจีนอีกด้วย เช่น โดรนจากอิหร่าน กระสุนปืนใหญ่จากเกาหลีเหนือ และอุปกรณ์ทางทหารที่ไม่ใช่อาวุธโดยตรงจากจีน เป็นต้น ซึ่งในปี 2024 ต่อเข้าปี 2025 ไม่ได้มีสัญญาณถึงความอ่อนแอทางทหารของรัสเซียแต่อย่างใด แต่รัสเซียกลับสามารถสร้างระบบพันธมิตรสงครามได้อย่างชัดเจน และดูจะมีความเข้มแข็งทางทหารเพิ่มมากขึ้น

 

อนาคตหลังสงคราม

 

ภาวะเช่นนี้ทำให้สมการการป้องกันยุโรปโดยปราศจากสหรัฐฯ นั้นเป็นปัญหาในตัวเองอย่างยิ่ง หรืออาจเรียกสภาวะเช่นนี้ว่า Post-American NATO ที่ผู้นำยุโรปจะต้องเตรียมตัวรับมือ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้จะมีผลให้ NATO อ่อนแอลง อันเป็นผลประโยชน์โดยตรงต่อรัสเซีย เนื่องจากที่ผ่านมาสงครามยูเครนกลายเป็นแรงขับที่ทำให้เกิดระบบพันธมิตรที่เข้มแข็งระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรป โดยเฉพาะจากนโยบายของประธานาธิบดีไบเดน ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของระบบพันธมิตร ขณะที่ทรัมป์มีชุดความคิดในแบบ ‘Isolationism‘ (ลัทธิโดดเดี่ยวนิยม) มีความต้องการลดภาระและความผูกพันของระบบพันธมิตรลง

 

ในอีกด้านหนึ่ง คงไม่ใช่เรื่องง่ายแล้วที่ยูเครนจะได้ดินแดนที่เสียไปตอนวิกฤตการณ์ยูเครน 2014 คือ ไครเมียและดอนบาสกลับคืนมา เพราะการสนับสนุนด้านอาวุธจากสหรัฐฯ ในอีก 4 ปีข้างหน้าในช่วงสมัยของทรัมป์ (2025-28) อันมีผลโดยตรงต่อขีดความสามารถทางทหารของยูเครน สันติภาพยูเครนจึงอาจมีนัยถึงการเสียดินแดนในส่วนนี้ให้แก่รัสเซียอย่างเป็นทางการ แต่การรักษาสันติภาพตลอดแนวเส้นพรมแดนใหม่จะเป็นความเปราะบางของสถานการณ์ความมั่นคงอีกแบบ เพราะมีโอกาสที่รัสเซียจะยังคุกคามต่อยูเครนต่อไป (ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในเชิงปัญหาความมั่นคงระหว่างประเทศ)

 

ดังนั้นในสภาวะเช่นนี้ จึงมีแนวคิดในการเสนอให้ออกญัตติ ‘ปฏิบัติการรักษาสันติภาพยูเครน’ (PKO) ด้วยการจัดกำลังจากสหประชาชาติ เข้าควบคุมแนวพรมแดนรัสเซีย-ยูเครน ที่มีความยาวมากกว่า 1,000 กิโลเมตร ซึ่งทางยูเครนเน้นว่า ด้วยความยาวของเส้นพรมแดนขนาดนี้ อาจต้องการผู้รักษาสันติภาพราว 1 แสนนาย ไม่ใช่ 5 พันนายอย่างที่มีการเสนอ อีกทั้งผู้นำยูเครนเรียกร้องอย่างชัดเจน กองกำลังรักษาสันติภาพที่ปราศจากทหารอเมริกัน จะเป็นกำลังสิ่งที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือโดยนัยคือ ยูเครนต้องการผูกมัดให้สหรัฐฯ เป็นผู้ค้ำประกันสันติภาพยูเครนนั่นเอง แต่สหรัฐฯ ไม่ต้องการที่จะส่งกำลังพลของตนเข้าไปในพื้นที่ของยูเครนเป็นอันขาด เพราะเกรงจะเกิดผลกระทบโดยตรงกับสหรัฐฯ ในอนาคต

 

อีกทั้งยังเห็นได้ชัดถึงความต่างของมุมมองด้านความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯ กับชาติพันธมิตรยุโรป ดังสะท้อนให้เห็นได้จากเวที ‘การประชุมความมั่นคงมิวนิก’ (The Munich Security Conference) ในปัจจุบัน สัญญาณจากคำกล่าวและถ้อยแถลงของผู้นำสหรัฐฯ กับผู้นำชาติในยุโรปดูจะไปกันคนละทาง หรือสะท้อนทัศนะในการมองปัญหาความมั่นคงระหว่างประเทศที่อาจจะแตกต่างกันอย่างมาก โดยเฉพาะในกรณีสงครามยูเครน 

 

เวทีการประชุมความมั่นคงที่มิวนิกกำลังสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงนโยบายความมั่นคงระหว่างประเทศใหม่ของผู้นำแบบประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ละเลยแนวคิดพื้นฐานเดิมของการมีบทบาทในการป้องกันยุโรป หรืออีกนัยหนึ่ง สหรัฐฯ กำลังประกาศจุดยืนใหม่ที่จะละทิ้งยุโรป อันมีนัยในอนาคตที่ยุโรปจะต้องเตรียมตัวรับมือกับภัยคุกคามของรัสเซีย สภาวะเช่นนี้ทำให้ผู้นำยูเครนเรียกร้องให้มีการจัดตั้ง ‘กองทัพยุโรป’ (Armed Forces of Europe) สภาวะเช่นนี้กำลังบีบให้ผู้นำยุโรปในปีกเสรีนิยมที่ไม่ตอบรับกับบทบาทของรัสเซีย ต้องร่วมมือกันมากขึ้นทั้งทางการเมืองและความมั่นคง 

 

ปรากฏการณ์นี้คือภาพสะท้อนอย่างชัดเจนถึงชุดความคิดทางการเมือง ที่ผู้นำอเมริกันกำลังแสดงความเป็น ‘ประชานิยมปีกขวา’ (Rightwing Populism) ให้โลกเห็นมากขึ้น และเป็นประชานิยมในบริบทระหว่างประเทศ หรืออีกด้านหนึ่งคือ ปัญหาประชานิยมปีกขวากับนโยบายต่างประเทศอเมริกัน ที่ไม่ใช่เป็นนโยบายกระแสหลักของการเมืองอเมริกันในแบบเดิมที่โลกคุ้นเคยอีกต่อไปแล้ว แม้เราจะเห็นมาแล้วครั้งหนึ่งในยุค ‘ทรัมป์ 1’ (2017-20) ก็ตาม 

 

แต่ในครั้งนี้ การดำเนินนโยบายของผู้นำสหรัฐฯ ดูจะมีความหนักหน่วงกว่าเดิม และอาจจะสร้างผลกระทบกับเวทีสากลอย่างมากในอนาคต โดยเฉพาะการจัดระเบียบระหว่างประเทศของยุโรปที่สหรัฐฯ เคยเป็นแกนหลัก ซึ่งทั้งหมดนี้คือสัญญาณที่บอกแก่เราว่า ประเทศต่างๆ อาจจะต้องเตรียมตัวรับความผันแปรของทิศทางการเมืองโลกในอีก 4 ปีข้างหน้า (2025-28) ในยุคของ ‘ทรัมป์ 2’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ท้ายบท

 

อย่างไรก็ตาม แม้การเจรจาเพื่อยุติสงครามยูเครนเกิดขึ้นได้จริง ก็ใช่ว่าปัญหาภัยคุกคามจากรัสเซียจะหมดไป เพราะยุโรปที่ปราศจากสหรัฐฯ จะมีความเปราะบางในตัวเองอย่างยิ่ง และยุโรปด้วยศักยภาพทางทหารของตัวเองเช่นในปัจจุบัน จะไม่มีขีดความสามารถในการรับมือกับการรุกทางทหารของรัสเซียได้แต่อย่างใด สภาวะเช่นนี้ทำให้ภัยคุกคามทางทหารของรัสเซียยังคงเป็นประเด็นสำคัญสำหรับรัฐยุโรปเสมอ

 

กระนั้น เราคงได้แต่หวังว่าสันติภาพยูเครนในอนาคต จะไม่ใช่สภาวะที่กำลังพาเรากำลังถอยกลับไปสู่ยุคก่อนสงครามโลกดังเช่นที่กล่าวเปิดประเด็นไว้ในข้างต้น!

 

ภาพ: Radio Free Europe / Radio Liberty / Serhii Nuzhnenko via Reuters

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising