×

ปิ่นภักดิ์ ละมุนละไมเหมือนเทพนิยาย ซีรีส์ยูริไทยกับความตั้งใจส่งออก Soft Power

09.09.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ปิ่นภักดิ์ สร้างจากนิยายของนามปากกา ม่อนแมว ว่าด้วยเรื่องราวของความรักและอุปสรรคระหว่างหญิงสูงศักดิ์สองคนที่มีความผูกพันกันมาตั้งแต่เด็ก คือหม่อมราชวงศ์ปิลันธิตา หรือ คุณหญิงปิ่น (ฟรีน-สโรชา จันทร์กิมฮะ) ที่กำพร้าและต้องย้ายมาอยู่กับท่านอา ในตอนนั้นความรู้สึกของคุณหญิงปิ่นเต็มไปด้วยความเหงาและสับสน จนกระทั่งได้พบกับหม่อมเจ้าหญิงอนิลภัทร หรือ ท่านหญิงอนิล (เบ็คกี้-รีเบคก้า แพทรีเซีย อาร์มสตรอง) เข้ามาเป็นเพื่อนแก้เหงา หลังจากนั้นทั้งคู่ก็ตัวติดกันเหมือนแม่เหล็กคนละขั้วที่มักดึงดูดกัน
  • ปิ่นภักดิ์ มีกลิ่นอายความเป็นนิยายสไตล์คุณชายที่เราได้เห็นกันบ่อยๆ ในละครไทย เพียงเปลี่ยนตัวละครให้เป็นผู้หญิง แต่สิ่งที่ต้องชื่นชมคือการใส่องค์ประกอบต่างๆ ในเรื่องให้เหมือนว่าคนดูหลุดเข้าไปอยู่ในโลกของผู้หญิงจริงๆ มีกลิ่นอายเทพนิยายนิดๆ โดยเฉพาะงานด้านโปรดักชัน สถานที่ต่างๆ พาเราย้อนสู่ยุคเริ่มต้นของไทยสมัยใหม่ ส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจากความร่วมมือของรัฐบาล เพราะนี่คือโปรเจกต์ระดับชาติเลยทีเดียว

 

หลังจากได้ยินคำว่า Soft Power แบบถี่ๆ มาร่วม 2 ปี ก็ถึงเวลาที่รัฐบาลจะออกหมัดเป็นรูปธรรมเสียทีกับซีรีส์เรื่อง ปิ่นภักดิ์ ซีรีส์ยูรินำร่องส่งเสริมสินค้าไทยสู่ระดับโลกจากความร่วมมือของกระทรวงพาณิชย์และไอดอลแฟคทอรี่ โดยได้สองนักแสดงที่มีแฟนคลับมหาศาลอย่าง เบ็คกี้-รีเบคก้า แพทรีเซีย อาร์มสตรอง และ ฟรีน-สโรชา จันทร์กิมฮะ ดันให้ ปิ่นภักดิ์ ขึ้นอันดับหนึ่งใน X ทั้งของโลกและไทยในช่วงออกอากาศ นอกจากพลังแฟนคลับของสองนักแสดงแล้ว ส่วนหนึ่งที่ทำให้ ปิ่นภักดิ์ ฮอตขนาดนี้ต้องยกให้กับความละมุนละไมของโปรดักชันและเนื้อหาเหมือนพาผู้ชมเข้าสู่โลกของเทพนิยาย

 

 

ปิ่นภักดิ์ สร้างจากนิยายของนามปากกา ม่อนแมว ว่าด้วยเรื่องราวของความรักและอุปสรรคระหว่างหญิงสูงศักดิ์สองคนที่มีความผูกพันกันมาตั้งแต่เด็กคือ หม่อมราชวงศ์ปิลันธิตา หรือ คุณหญิงปิ่น (ฟรีน-สโรชา จันทร์กิมฮะ) ที่กำพร้าและต้องย้ายมาอยู่กับท่านอาคือ หม่อมเจ้าหญิงปัทมิกา หรือ ท่านหญิงปัทม์ (ฌาร์ม โอสถานนท์) ในตอนนั้นความรู้สึกของคุณหญิงปิ่นเต็มไปด้วยความเหงาและสับสน จนกระทั่งได้พบกับ หม่อมเจ้าหญิงอนิลภัทร หรือ ท่านหญิงอนิล (เบ็คกี้-รีเบคก้า แพทรีเซีย อาร์มสตรอง) เข้ามาเป็นเพื่อนแก้เหงา หลังจากนั้นทั้งคู่ก็ตัวติดกันเหมือนแม่เหล็กคนละขั้วที่มักดึงดูดกันและกัน เพราะท่านหญิงอนิลเป็นคนซนๆ รักอิสระ ในขณะที่คุณหญิงปิ่นเรียบร้อย อ่อนหวาน เจ้าระเบียบนิดๆ และคอยปรามท่านหญิงอนิลอยู่เสมอ

 

จนกระทั่งเมื่อถึงวัยอันสมควรที่ท่านหญิงอนิลต้องไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ ทำให้ทั้งสองคนต้องจากกัน ซึ่งทำให้ท่านหญิงอนิลได้รู้จักหัวใจตัวเองว่าคิดอย่างไรกับคุณหญิงปิ่นกันแน่ ในช่วงที่กลับมาเมืองไทยจึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ใกล้ชิดและบอกรักคุณหญิงปิ่น ส่วนคุณหญิงปิ่นก็เกิดความสับสนว่า เพื่อนผู้หญิงที่สนิทกันมาตั้งแต่เด็กกลายเป็นหญิงสาวที่ทำให้หัวใจเธอเต้นแรงได้อย่างไร ในขณะที่เสน่ห์ของคุณหญิงปิ่นก็ไปเตะตาชายหนุ่มมากมาย ส่วนท่านหญิงอนิลก็เป็นที่ถูกตาต้องใจเจ้านางทางเหนือซึ่งเป็นพระญาติห่างๆ

 

 

แต่แล้วความรู้สึกในใจก็ห้ามกันไม่ได้ เมื่อท่านหญิงอนิลเผยความในใจกับคุณหญิงปิ่นในจังหวะที่อีกฝ่ายก็รู้แจ้งแก่ใจว่ารักเพื่อนเกินกว่าเพื่อน ทั้งคู่ตกเป็นของกันและกัน โดยท่านหญิงอนิลมอบปิ่นคู่เพื่อเป็นของแทนใจ แต่แล้วช่วงที่ความรักกำลังสุกงอม ท่านหญิงอนิลมีอันต้องเดินทางกลับไปเรียนต่อ ขณะเดียวกัน คุณหญิงปิ่นก็ถึงวันที่ต้องมีคู่ครอง โดยผู้ใหญ่หมายให้แต่งงานกับหม่อมราชวงศ์เกื้อเกียรติ (วิคเตอร์-ชัชชวิศ เตชะรักษ์พงศ์) เรื่องนี้จะจบลงอย่างไร ต้องไปติดตามใน ปิ่นภักดิ์

 

ปิ่นภักดิ์ มีกลิ่นอายความเป็นนิยายสไตล์คุณชายที่เราได้เห็นกันบ่อยๆ ในละครไทย เพียงเปลี่ยนตัวละครให้เป็นผู้หญิง แต่สิ่งที่ต้องชื่นชมคือการใส่องค์ประกอบต่างๆ ในเรื่องให้เหมือนว่าคนดูหลุดเข้าไปอยู่ในโลกของผู้หญิงจริงๆ มีกลิ่นอายเทพนิยายนิดๆ โดยเฉพาะงานด้านโปรดักชัน สถานที่ต่างๆ พาเราย้อนสู่ยุคเริ่มต้นของไทยสมัยใหม่ ส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจากความร่วมมือของรัฐบาล เพราะนี่คือโปรเจกต์ระดับชาติเลยทีเดียว

 

 

ยิ่งเมื่อผนวกเข้ากับเคมีของทั้งสองนักแสดงหลักคือฟรีนและเบ็คกี้ ก็เรียกว่าทำออกมาได้ดีทั้งในช่วงที่ตัวละครเริ่มเติบโต มีหลายๆ จังหวะซึ่งเห็นความรู้สึกที่เกินเพื่อนมาตั้งแต่นั้น ขณะที่เมื่อโตขึ้นก็ระดมใส่ฉากจิ้นและฉากฟินแบบไม่ยั้ง ซึ่งฉากเหล่านี้จะไม่ทำงานเลยหากไม่ได้เคมีของนักแสดงและอินเนอร์บางอย่างที่ทำให้รู้สึกได้ว่าทั้งคู่โหยหากันจริงๆ จะติดอยู่บ้างคือเรื่องการใช้ภาษาไทยโบราณของเบ็คกี้ที่ดูไม่ค่อยเข้าปาก สื่อสารยาก แต่ภาษากายเรียกว่าทำได้ดี

 

อีกส่วนที่เป็นเสน่ห์ของเรื่องคือเนื้อหาโรแมนติก มีความขัดแย้งน้อยมากในช่วงเริ่มเรื่อง จึงทำให้ ปิ่นภักดิ์ ดูเป็นซีรีส์สบายๆ และใช้ความโรแมนติกสื่อสารออกมาผ่านเสื้อผ้าของนักแสดงหญิงที่ต้องบอกว่าสวยทุกชุด ทั้งลุคเจ้าหญิงของท่านหญิงอนิลและคุณหญิงปิ่น หรือลุคชิคๆ ของท่านอาปัทม์ เป็น Soft Power ด้านแฟชั่นของไทยที่ไม่มั่นใจว่าซีรีส์เรื่องนี้ต้องการเน้นหรือไม่ แต่เชื่อว่าถ้าใครเห็นก็คงอยากซื้ออยากใส่แน่นอน ขณะที่นักแสดงชาย ต้องยอมรับว่าผู้เขียนเมาลายสกอตของสูทที่ดูเหนือจริงไปหน่อย

 

ในขณะที่ส่วน Soft Power ที่จะเน้นจริงๆ น่าจะเป็นเรื่องอาหารชาววังสารพัดเมนูหากินยาก เช่น สองมาลีลอยแก้ว ส้มฉุน และหมูสร่ง ซึ่งค่อนข้างได้ผลเมื่อแฟนคลับต่างประเทศหาข้อมูลเพิ่มเติมและแชร์ความรู้กันไปมา แต่หลายๆ จังหวะในซีรีส์ดูจงใจเกินไปจนเหมือนอยู่ในแบบเรียน และบางทีก็ไม่ได้เกี่ยวกับบทสักเท่าไรจนดูไร้วิญญาณ ถ้าสิ่งที่เกี่ยวกับบทก็เห็นจะเป็นงานแกะสลักมะม่วง กิจกรรมแก้เครียดของคุณหญิงปิ่นเท่านั้น

 

 

คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นในใจจาก ปิ่นภักดิ์ ก็คือเมื่อต้องการขาย Soft Power หรือความเป็นไทยทำไมต้องย้อนยุคและติดอยู่ในรั้วในวัง จริงอยู่ว่ามีความวิจิตรอลังการซึ่งเราก็ผลิตซ้ำแบบนี้มาตั้งแต่ก่อนมีโครงการสนับสนุนเป็นรูปธรรมเสียอีก ถ้าประสบความสำเร็จแล้วจะต้องมาทำซ้ำทำไม? แล้วเสน่ห์แบบไทยบ้านๆ เชื่อมโยงชีวิตของคนธรรมดามีเสน่ห์ไม่พอหรืออย่างไร? และเราจะได้เห็นโปรเจกต์ขาย Soft Power แบบซีรีส์สมัยใหม่จากโครงการนี้หรือเปล่า? เพราะอีกไม่นานก็จะมีซีรีส์วายเรื่อง ชาย (Shine) ที่น่าจะออกมาโทนย้อนยุคเหมือนกัน เอาเข้าจริง ความเป็นไทยยังมีอีกหลายมิติที่สามารถแสดงออกสู่สายตาชาวโลกได้เหมือนกัน

 

โดยรวมแล้วทำออกมาได้น่าสนใจในแง่ของซีรีส์ยูริ มีความโรแมนติก ความสดใส และบางจังหวะหม่นเศร้าอย่างพอเหมาะ แต่ในฐานะโปรเจกต์ผลักดัน Soft Power ของไทย คงต้องบอกว่ายังอยากเห็นอะไรที่ใหม่กว่านี้

ปิ่นภักดิ์ รับชมได้ทุกคืนวันอาทิตย์ เวลา 22.15 น. ทางช่อง Workpoint หมายเลข 23 และรับชมย้อนหลังแบบ Uncut ได้ทาง YouTube ช่อง IDOLFACTORY OFFICIAL

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X