ในความคิดของคนโบราณเมื่อเผชิญกับเหตุแผ่นดินไหวจะไม่ได้อธิบายด้วยหลักทางวิทยาศาสตร์อย่างแน่นอน แต่อธิบายด้วยความเชื่อทางศาสนา และเชื่อมโยงเหตุการณ์แผ่นดินไหวว่าเป็นนิมิตบอกเรื่องดีหรือร้าย ความต่างของชุดคำอธิบายแบบนี้เราเรียกว่า ‘โลกทัศน์’
ปลาอานนท์ต้นเหตุแผ่นดินไหว
วิธีการอธิบายต้นเหตุที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวของคนสมัยโบราณนั้นมีแตกต่างกันไป ภายใต้ความเชื่อในศาสนาพุทธ เชื่อกันว่าใต้เขาพระสุเมรุมีปลาอานนท์หนุนอยู่ เมื่อปลาอานนท์พลิกตัวก็จะทำให้แผ่นดินไหว สุนทรภู่เองก็เชื่อเช่นนั้นว่า ปลาอานนท์เพียงกระดิกครีบแผ่นทวีปสั่นไหว กระทั่งยอดเขาพระสุเมรุก็ยังโยกจนเกือบถอนขึ้น
ภาพเขาพระสุเมรุที่มี ปลาอานนท์ อยู่ใต้แกนกลาง
แต่เรื่องปลาอานนท์หนุนโลกนี้ดูจะเป็นความเชื่อของไทยเราเอง ไม่ได้มีที่มาจากอินเดีย เพราะตามคัมภีร์โลกศาสตร์ ชมพูทวีปเป็นดินแดนที่มนุษย์อาศัยอยู่ มีลักษณะเป็นเกาะอยู่กลางมหาสมุทรจึงเรียกว่า ‘ทวีป’ รอบทวีปมีมหาสมุทร ในมหาสมุทรนี้มีปลามากมาย โดยมีอานนท์เป็นพญาปลาที่มีขนาดใหญ่มโหฬาร ยาวมากถึง 1,000 โยชน์ ว่ายน้ำไปมาในมหาสมุทรเท่านั้น
ไม่มีใครรู้ว่าความเชื่อเรื่องปลาอานนท์หนุนโลกเริ่มต้นเมื่อไร แต่ก่อนหน้ารัชกาลที่ 3 อย่างแน่นอน มีบางคนสันนิษฐานว่า เหตุที่คนโบราณเชื่อว่าปลาอานนท์รองรับเขาพระสุเมรุนี้คงมาจากการตีความภาพจิตรกรรมไตรภูมิที่มักวาดภาพของปลาอานนท์อยู่ในมหาสมุทรตีนเขาพระสุเมรุ
นอกจากความเชื่อเรื่องปลาอานนท์แล้ว เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) เสนาบดีกรมท่า และเมื่อเกษียณราชการใน พ.ศ. 2410 ยังได้ผันตัวมาเป็นนักประวัติศาสตร์ของราชสำนัก บันทึกไว้ว่า คนสมัยโบราณเชื่อว่าแผ่นดินไหวด้วยน้ำด้วยลม ซึ่งเป็นการอธิบายจากความเชื่อในศาสนาพุทธ หรือถ้าเป็นความเชื่อของชาวจีนก็จะอธิบายว่า เพราะอึ่งอ่างที่หนุนแผ่นดินขยับไหวตัว ความเชื่อเรื่องอึ่งอ่างขยับตัวที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์บันทึกไว้นี้ค่อนข้างเป็นความเชื่อท้องถิ่นของชาวจีนบางภูมิภาคเท่านั้น
แผ่นดินไหว คือลางบอกเหตุ
ข้างต้นเป็นการอธิบายถึงสาเหตุที่แผ่นดินไหว ซึ่งคนโบราณก็มองเป็นลางบอกเหตุทั้งดีและร้าย ในส่วนของเรื่องดี เจ้าพระยาทิพากรวงศ์เล่าว่า แผ่นดินไหวเป็นเครื่องบอกเหตุว่ามี ‘ผู้มีบุญ’ ลงมาจุติ ซึ่งความเชื่อดังกล่าวนี้มาจากมหาปรินิพพานสูตร และภูมิจาลสูตรในพระไตรปิฎก ซึ่งได้อธิบายว่าแผ่นดินไหวนั้นเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย 8 ประการ เช่น ประการแรก ปฐพีนี้ตั้งอยู่บนน้ำ น้ำตั้งอยู่บนลม ลมตั้งอยู่บนอากาศ เมื่อลมพัดแรงก็จะทำให้แผ่นดินไหว ประการที่สอง มีสมณะหรือพราหมณ์ได้เจริญปฐวีสัญญา ประการที่สาม มีพระโพธิสัตว์ลงมาจุติ ประการที่สี่ พระตถาคตปรินิพพาน เป็นต้น
ภายใต้ความเชื่อเช่นนี้เอง เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2089 จึงทำให้เกิดแผ่นดินไหว จากนั้นสมเด็จพระเจ้ายอดฟ้าขึ้นครองราชย์แล้วในปีถัดไปได้เกิดแผ่นดินไหวขึ้น เรื่องนี้เทียบเคียงได้กับการที่ผู้มีบุญสวรรคต หรือพระพุทธเจ้าปรินิพพานนั่นเอง
ก่อนหน้า พ.ศ. 2089 เป็นเวลา 1 ปี ปรากฏว่ายอดเจดีย์หลวงเมืองเชียงใหม่ได้หักพังทลายลงมาเพราะแผ่นดินไหว เป็นระยะเวลาที่เกิดความวุ่นวายทางการเมืองในล้านนา พระเมืองเกษเกล้าถูกลอบปลงพระชนม์ จึงได้มีการอัญเชิญพระนางจิรประภาเทวีขึ้นครองราชย์ ซึ่งในรัชกาลนี้เองที่เกิดแผ่นดินไหว
อีกเหตุการณ์หนึ่ง เมื่อวันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2127 ในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ครองราชย์ร่วมกันกับสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งระบุว่าขณะสมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปช่วยการศึกพระเจ้ากรุงหงสาวดี และแวะพักทัพ ณ เมืองกำแพงเพชรนั้นได้เกิดแผ่นดินไหวขึ้น เรื่องนี้สะท้อนว่าสมเด็จพระนเรศวรเป็นผู้มีบุญหนัก ดังนั้นเมื่อเหยียบย่างไปกำแพงเพชรจึงทำให้เกิดแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกการทำสงครามกับหงสาวดี
เหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจริง หรืออาจจะไม่จริงก็ได้ เพราะการอธิบายเหตุการณ์แผ่นดินไหวนี้อาจเป็นไปตามโลกทัศน์ทางศาสนา ยกเว้นในบางกรณีเช่นเจดีย์หลวงที่พักทลายลงมา ซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์อยู่ ดังนั้นการบันทึกเหตุการณ์ในเชิงปาฏิหาริย์คงต้องตรวจสอบกับเอกสารอื่นๆ ในต่างประเทศด้วย
เปลี่ยนโลกทัศน์สู่สมัยใหม่
คนในประเทศไทย/สยามเริ่มเปลี่ยนแปลงความคิดสู่โลกที่คิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 3 อันเป็นผลมาจากการติดต่อกับตะวันตก เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ถือเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่เปิดรับความรู้สมัยใหม่ เช่นเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในช่วงบั้นปลายชีวิตของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ได้เขียนหนังสือแสดงกิจจานุกิตย์ (หนังสือแสดงกิจจานุกิจ) เมื่อ พ.ศ.2408 ซึ่งเป็นหนังสือที่อธิบายปรากฏการณ์และความรู้ต่างๆ ในสังคมไทยที่แต่ก่อนมีความเชื่อว่าอย่างไร แต่ความรู้สมัยใหม่อธิบายอย่างไร ความรู้ดังกล่าวมีตั้งแต่เรื่องฝนตกได้อย่างไร ภูเขาเกิดขึ้นได้อย่างไร แผ่นดินไหวเกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นต้น
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)
สำหรับเรื่องของแผ่นดินไหวนั้น เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้อธิบายว่า “…การที่สืบสวนอยู่ในทุกวันนี้ แผ่นดินก็ไหวอยู่เสมอทุกปีทุกเดือน แต่ไหวที่เมืองนั้นบ้างที่เมืองนี้บ้าง ก็ไม่ได้ไหวทั่วกันไป เขาว่าที่เกาะมะลิลา จีนเรียกว่าเมืองลิส่องนั้นไหวเนืองๆ ถ้าไหวก็จนตึกทลายเรือนทลายไปเหมือนเรือโคลง มีอีกแห่งหนึ่งเขาว่าที่เกาะยี่ปุ่น จีนเรียกว่าตั้งเอี๋ยนั้นก็เหมือนกัน แต่เมืองนั้นไหวโคลงบ้าง ไหวสะท้อนขึ้นบ้าง คนนั่งอยู่บนเก้าอี้ ถ้าแผ่นดินไหวแล้ว ก็สะท้อนขึ้นไปกระแทกลงมา ของที่วางอยู่ที่พื้นก็โดดขึ้นไปตกลงมาน่ากลัวยิ่งนัก ชาวเมืองนั้นทำบ้านเรือนด้วยเครื่องผูกบ้าง ด้วยฝากระดานบ้าง ฝาแผงบ้าง ฝากระดาดบ้าง เปนอันมากกว่าเครื่องอิฐเครื่องปูน
การเปนดั่งนี้จะว่าปลาที่หนุนแผ่นดิน แลลมที่หนุนแผ่นดินกำเริบอย่างไรได้ แลนักปราชเขาได้สืบดูรู้ว่า เหนจะเปนของที่เปนอยู่ในใต้ดิน จะเปนน้ำฤๅจะเปนลมเปนไฟฤทธิแร่ต่างๆ อย่างไรอย่างหนึ่ง จะมีอยู่ที่สองเกาะนั้นเปนอันมากจึ่งเปนเนืองๆ ที่ผู้ได้เหนแผ่นดินไหว แผ่นดินแยกออกไปแล้วบางทีก็เปนเปลวไฟขึ้นมา บางทีก็เปนควันขึ้นมา ก็ฤทธิแผ่นดินแยกนั้นสะเทื้อนไปมากเท่าไร ก็ไหวไปมากเท่านั้น บางทีก็เกิดภูเขาไฟแผ่นดินก็ไหวสะเทื้อน
บางทีเขาซุดจมลงไปในดิน แผ่นดินไหวตามกำลังที่ฤทธิขึ้นในแผ่นดินมากก็ไหวมาก ความสะเทื้อนน้อยก็ไหวน้อย พิเคราะห์ไปดูก็จริง ด้วยแผ่นดินเปนของอ่อนไม่เปนของแขง ไหวสะเทื้อนได้เปรียบเหมือนบุทคลยิงปืนใหญ่ๆ ขึ้นก็ดีฟันไม้ใหญ่ให้ล้มลงก็ดี แผ่นดินไหวสะเทื้อนตามกำลังหนักแลเบา การก็เหนปรากฏเปนพยานอยู่ดั่งนี้ นักปราชชาวยุโรปเขาคิดเหนว่า ธาตุในแผ่นดินกำเริบขึ้น จึ่งได้ไหวที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง ๚ะ”
จากข้อเขียนของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดจากความเชื่อในตำนานหรือศาสนามาสู่การเปลี่ยนมาสู่ความเชื่อทางวิทยาศาสตร์
ทุกวันนี้แม้ว่าบ้านเราจะเปลี่ยนเข้าสู่สังคมสมัยใหม่มาร่วม 200 ปีแล้ว แต่ก็ใช่ว่าความเชื่อแบบดั้งเดิมจะสูญหายไป ไม่ใช่เพราะสังคมไทยนั้นงมงาย แต่เป็นเพราะบางครั้งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็ไม่อาจตอบสนองต่อความรู้สึกได้ทั้งหมด บางครั้งจึงทำให้ไปเชื่อมโยงกับภาวะกาลีบ้านกาลีเมือง แต่ถ้ามองกันภายใต้มุมมองแบบวิทยาศาสตร์แล้วก็ต้องอธิบายด้วยความรู้ทางด้านธรณีวิทยา อย่างไรก็ตาม ต่อให้มีคำอธิบายถูกต้องแค่ไหนก็ตาม สิ่งที่สังคมไทยต้องตระหนักให้มากขึ้นก็คือการเตรียมความพร้อมกับภาวะฉุกเฉินและภัยพิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องที่เรายังอ่อนความรู้และความพร้อมกันอยู่มาก สังคมไทยควรต้องมองไปข้างหน้าให้มากขึ้น อย่าเป็นสังคมแบบวัวหายล้อมคอก และเป็นสังคมที่ตั้งอยู่บนความประมาท
คำอธิบายภาพปก: ภาพวาดปลาอานนท์ที่วัดใหญ่อินทาราม จังหวัดชลบุรี