×

ผ่าตัดคืองานคราฟต์ เย็บแผลคือศิลปะ พบกับวิชาเรียนรู้ข้ามศาสตร์ เมื่อ ‘วิทย์’ และ ‘ศิลป์’ รวมกันเป็นหนึ่งเดียว

05.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ศาสตราจารย์โรเจอร์ นีโบน จาก Imperial College London เปิดคอร์สเรื่อง Crossing Boundaries: Surgery as a Site Performance and Craftsmanship หรือแปลเป็นไทยได้ว่า การเรียนรู้ข้ามศาสตร์ด้วยการมองงานผ่าตัดในมุมการแสดงและงานหัตถศิลป์
  • Indescribable knowledge คือความรู้ที่อธิบายไม่ได้ ไม่มีในตำรา และไม่มีทางเรียนรู้ได้ด้วยวิธีอื่นนอกจากต้องลงมือทำเท่านั้น ซึ่งคอร์สนี้ยกตัวอย่างการได้ลองจับม้ามในร่างกายคนจริงๆ!
  • เดือนเมษายนปีที่แล้ว ศาสตราจารย์นีโบน ร่วมกับ The Art Workers’ Guild สมาคมคนทำงานศิลปะและงานฝีมืออันเก่าแก่ของอังกฤษ จัดงาน Thinking with Your Hands เทศกาลที่เชิญช่างฝีมือมาออกงานร่วมกับหมอและนักวิทยาศาสตร์เพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้ ทั้งขยายขอบเขตของคำว่า craftsmanship หรือหัตถศิลป์ ให้ครอบคลุมไปถึงงานการแพทย์ที่ต้องใช้ทักษะฝีมือชั้นสูง

     จำได้ว่าตอนไปสวนสยามครั้งแรก ผมโคตรตื่นเต้น เพราะตั้งแต่เกิดมาผมไม่เคยเห็นสระว่ายน้ำที่ไหนกว้างใหญ่ไพศาลขนาดนี้ ยังไม่ทันล้างตัว ผมรีบคว้าห่วงยางโดดลงน้ำ ดำผุดดำว่าย สำรวจซอกหลืบเกาะแก่งต้นมะพร้าวปลอมจนมือเหี่ยว หัวเหนียวคลอรีนไปหลายวัน

     ผมรู้สึกแบบเดียวกันเมื่อมาอยู่นิวยอร์ก เมืองใหญ่ที่มีการจราจรทางศิลปะและนวัตกรรมคับคั่งเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งก็ไม่ได้มีเพียงสถาบันการศึกษายักษ์ใหญ่ที่ขับเคลื่อนวงการอยู่ฝ่ายเดียว แต่ยังมีห้องเรียนหลบซ่อนอยู่ตามห้องสมุด แกลเลอรี โรงหนัง ชมรม และมูลนิธิต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ในสวนสาธารณะหรืออุโมงค์ซับเวย์เก่า นั่นทำให้เมืองนี้เป็นเหมือนสวนน้ำแห่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย ซึ่งรองรับความขวนขวายของมนุษย์ทุกรสนิยม

     แรงบันดาลใจสำคัญเกิดขึ้นเมื่อเดือนก่อน ผมได้ไปนั่งเรียนวิชา ‘ประวัติศาสตร์อันยาวนานและแสนมหัศจรรย์ของโถส้วม’ แล้วได้เกร็ดความรู้ที่ไม่แน่ใจว่าชาตินี้จะรู้ไปทำไม อย่างเช่น โถส้วมในยุคโรมันจะตั้งติดกันเป็นพรืดเพื่อให้คนอึไปเมาท์ไปได้ด้วย หรือเรื่องคนขนอึในอังกฤษที่ตายเพราะกล่องอึซึ่งสะสมก๊าซมีเทน (methane) ไว้เกิดติดไฟจนระเบิด ฯลฯ (มีเทนคือก๊าซไวไฟที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส เกิดขึ้นจากกระบวนการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุของจุลินทรีย์แบบไม่ใช้ออกซิเจน เป็นก๊าซเรือนกระจก 1 ใน 6 ชนิดที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน)

 

 

     ผมประทับใจความรู้แรนดอมเหล่านี้มาก จินตนาการง่ายๆ ว่าการเรียนหรือหมกมุ่นกับอะไรจนชำนาญนับว่าเป็นการเรียนแนวดิ่ง ส่วนการได้ไปเรียนรู้อะไรแบบแรนดอมนอกสายตาเหมือนเป็นการเรียนแนวราบที่ขยายขอบเขตสมองให้พ้นไปจากสิ่งที่เราถนัด ซึ่งสุดท้ายผมคิดว่ามันจะย้อนกลับมาหนุนเสริมสิ่งที่เราสนใจได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งคลาสอึครั้งนั้นเองได้นำพาผมมานั่งอยู่ที่ New York Academy of Medicine หรือสถาบันส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องสุขภาพและการแพทย์แห่งนิวยอร์ก บังเอิญวันนี้เขาจัดทอล์กสาธารณะใน หัวข้อเรื่อง Crossing Boundaries: Surgery as a Site Performance and Craftsmanship แปลได้ว่า การเรียนรู้ข้ามศาสตร์ด้วยการมองงานผ่าตัดในมุมการแสดงและงานหัตถศิลป์

     คนที่มาฟังส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานไปจนถึงสูงอายุ โดยมีวัยรุ่นที่น่าจะเป็นนักศึกษาแพทย์มานั่งปนอยู่ประปราย อาจารย์หมอที่มาพูดคือศาสตราจารย์โรเจอร์ นีโบน (Roger Kneebone) จาก Imperial College London แกเริ่มเลกเชอร์ด้วยการเปิดคลิปโชว์ม้าม! ม้ามแบบม้ามจริงๆ ที่อยู่ในพุงมนุษย์ ความจริงแกเตือนก่อนแล้วนะว่าจะมีภาพหวาดเสียว แต่พอเปิดเข้าจริงๆ คนในคลาสก็ยังสะดุ้งกันเป็นแถบ ในคลิปเป็นภาพหมอกำลังแหวกพุงคนไข้แล้วหันมาเรียกนักศึกษาแพทย์ให้ลองเอานิ้วมาแตะม้ามดู ผมจินตนาการไม่ออกว่าคนโดนลูบม้ามจะรู้สึกยังไง แล้วการได้ลูบม้ามคนอื่นมันกึ๋ยแค่ไหน แต่นี่เองที่คุณลุงหมอบอกว่ามันคือ ‘indescribable knowledge’ หรือความรู้ที่อธิบายไม่ได้ ไม่มีในตำรา และไม่มีทางเรียนรู้ได้ด้วยวิธีอื่นนอกจากต้องลงมือทำเท่านั้น ซึ่งนี่แหละเป็นรากฐานสำคัญที่งานผ่าตัดมีร่วมกับงานหัตถศิลป์แขนงอื่นๆ

     ศาสตราจารย์นีโบนริเริ่มโปรเจกต์การเรียนรู้ข้ามศาสตร์โดยเชิญช่างฝีมือมาเปิดเวิร์กช็อปร่วมกับนักศึกษาแพทย์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ น่าสนใจว่าทั้งๆ ที่เป็นการใช้เข็มและด้ายเหมือนกัน แต่ช่างตัดเย็บมือฉมังกลับเย็บแผลผ่าตัดได้อย่างทุลักทุเล ในขณะที่คุณหมอทั้งหลาย พอไม่ได้ทำงานกับตับไตใต้โคมไฟบนเตียงผ่าตัด การเย็บผ้าเรียบๆ ก็ทำได้อย่างตะกุกตะกักเช่นกัน

     การได้ลองใช้ความเชี่ยวชาญนอกบริบทที่เราคุ้นเคย นอกจากจะท้าทายขีดความสามารถแล้วยังช่วยให้เรากลับมามองความเชี่ยวชาญของตัวเองด้วยมุมมองที่สดใหม่ แถมได้ซึมซับและแลกเปลี่ยนความรู้จากศาสตร์ข้างเคียงเพื่อมาอัพสกิลที่เรามี เช่น การที่คุณลุงเชิญช่างเย็บปักถักร้อยมาร่วมเวิร์กช็อปจนค้นพบวิธีแก้ปัญหาเรื่องด้ายเย็บพันกันขณะผ่าตัดหลอดเลือด หรือช่างปั้นที่พยายามประคับประคองถ้วยโถให้บางที่สุดก็เป็นความรู้สึกเดียวกับเวลาที่หมอผ่าตัดต้องประคับประคองอวัยวะของผู้สูงอายุที่บอบบาง ส่วนคนเชิดหุ่นกระบอกก็มาสอนวิธีวอร์มและเทคนิคการควบคุมนิ้วมืออย่างแม่นยำ หรือเลยเถิดไปกว่านั้น หมอที่ประสบปัญหาเรื่องการผ่าชิ้นส่วนของตับที่แข็ง ซึ่งการตรวจนั้นทำได้ลำบากมาก เพราะพอใช้มีดผ่าแล้วชิ้นตับจะหักแต่ปัญหานี้กลับถูกแก้ไขโดยศิลปินช่างทำแก้ว ซึ่งแนะนำให้ใช้อุปกรณ์ตัดกระจกเลนส์ เพียงเท่านี้ชิ้นส่วนตับแข็งก็จะค่อยๆ ถูกฝานออกมาอย่างไร้รอยร้าว

     นี่คือความพยายามในการแลกเปลี่ยนมุมมองของงานหัตถศิลป์และการแพทย์จากวิชาที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยว แต่กลับเกื้อหนุนกันอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งศาสตราจารย์นีโบนบอกว่า หัวใจของการข้ามศาสตร์ก็คือผู้สอนต้องหาทางทำให้ผู้เรียน ‘คาดให้ถึง’ ด้วยการหาจุดร่วมเพื่อเชื่อมโยงความต่างของแต่ละสาขาวิชา

     โปรเจกต์นี้เริ่มลุกลามออกไปนอกห้องเรียน โดยเมื่อเมษายนปีที่แล้ว คุณลุงได้ร่วมกับ The Art Workers’ Guild สมาคมคนทำงานศิลปะและงานฝีมืออันเก่าแก่ของอังกฤษ จัดงาน Thinking with Your Hands เทศกาลที่เชิญช่างฝีมือมาออกงานร่วมกับหมอและนักวิทยาศาสตร์เพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน งานนี้นับเป็นความพยายามในการขยายขอบเขตความหมายของคำว่า ‘หัตถศิลป์’ หรือ CC ให้ครอบคลุมไปถึงงานการแพทย์ที่ต้องใช้ทักษะฝีมือชั้นสูงอีกด้วย

     นอกจากนั้น ศาสตราจารย์นีโบนยังเปรียบเทียบงานผ่าตัดเป็นเหมือนการแสดงบนเวที แกเปิดคลิปให้ดูอีกครั้ง คราวนี้เป็นศัลยแพทย์ที่กำลังหมกมุ่นอยู่กับการผ่าพุงคนไข้ ผู้ช่วยได้ยื่นกรรไกรมารอไว้ตั้งแต่ก่อนที่หมอคนนั้นจะพูดชื่อกรรไกรขึ้นมาซะอีก ลุงหมอชี้ให้เห็นว่าทีมผ่าตัดต้องจดจ่ออยู่กับทุกขั้นตอน ถึงขนาดยื่นอุปกรณ์ที่หมอต้องการรอไว้ก่อนที่หมอจะเอ่ยปากขอ แกบอกว่าสิ่งนี้คือทีมเวิร์กที่ต้องทำงานภายใต้แรงกดดันและการเดิมพันสูง เช่นเดียวกับการแสดงดนตรีคลาสสิกที่ต้องมีความแม่นยำและสอดประสานกันไปตลอดการแสดง แม้โน้ตสักเขบ็ตก็ห้ามพลาด

     ช่วงตอบคำถาม มีคนถามว่าที่ลุงหมอเปรียบเทียบการผ่าตัดกับการแสดงดนตรีเนี่ย แล้วการผ่าตัดนี่มี ‘ด้นสด’ บ้างไหม ลุงยิ้มหึๆ ก่อนจะบอกว่า เออ…ก็มีแหละ แต่ทางการแพทย์เขาไม่ใช้คำนั้นกันเว้ย เพราะผ่าลำไส้ใหญ่แบบด้นสดฟังดูไม่ปลอดภัยกับอวัยวะเลยสักนิด!

     ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะ ‘วิทย์’ หรือ ‘ศิลป์’ ซึ่งอาจเคยเป็น… หรือยังคงเป็นชอยส์ที่นักเรียนหลายคนรู้สึก ‘จำเป็นต้องเลือก’ ว่าตกลงจะเป็นเด็กวิทย์หรือเด็กศิลป์ ถ้าไม่เป็นศิลปินก็ต้องเป็นหมอ ฯลฯ แต่คุณลุงนีโบนบอกว่า ถ้าย้อนกลับไปเล่าถึงมหาวิทยาลัยที่ลุงสอน (Imperial College London ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อกว่าร้อยปีก่อน) จุดเริ่มต้นนั้นมาจากหน่วยงานที่มีชื่อว่า Science and Art Department คำว่า ‘and’ ที่คั่นกลางระหว่างสองศาสตร์เหมือนจะสะกิดถามเราว่า การแบ่งแยกสาขาวิชาออกเป็นสัดส่วนชัดเจนอาจจะกลายเป็นกำแพงที่จำกัดมุมมองและโอกาสการเรียนรู้สิ่งใหม่ของนักศึกษา หรือกระทั่งตัวอาจารย์เกินไปหรือเปล่าหนอ

 

อ้างอิง

     – บทความเรื่อง การมองงานผ่าตัดผ่านมุมมองหัตถศิลป์  โดยศาสตราจารย์โรเจอร์ นีโบน www.nature.com/nature/journal/v542/n7641/full/542294a.html

     – www3.imperial.ac.uk/newsandeventspggrp/imperialcollege/medicine/departmentofsurgeryandcancer/newssummary/news_7-2-2017-9-39-51

     – บทความเกี่ยวกับงาน Thinking with Your Hands โดย The Art Workers’ Guild

     – blogs.kcl.ac.uk/london/2017/04/07/thinking-with-your-hands-at-the-art-workers-guild

     – วิดีโอที่มีสัมภาษณ์ศาสตราจารย์นีโบน vimeo.com/162969092

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising