×

When East Meets West เด็กฝึกงานคนสุดท้ายของปรมาจารย์ ‘เรือถัง’

02.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • เรือถัง หรือทาราอิ บุเนะ มีรูปร่างเหมือนถังมิโซะขนาดใหญ่ถูกผ่าครึ่ง สร้างจากไม้สนสึกิและไม้ไผ่มาดาเกะ ทำให้มีความคงทนและราคาถูก ใช้สำหรับทำประมง เก็บสาหร่าย และจับหอยเป๋าฮื้อตามแนวผาที่แคบชัน ซึ่งเกิดจากแผ่นดินไหว เรือถังนั้นเป็นเอกลักษณ์ของเกาะซาโดะมาอย่างยาวนาน แถมยังเคยไปปรากฏอยู่ในแอนิเมชัน Spirited Away ของฮายาโอะ มิยาซากิ อีกด้วย
  • หนังสือ Japanese Wooden Boatbuilding เล่าถึงประสบการณ์ฝึกงานของดักลาส บรูกส์ ฝรั่งคนแรกและคนเดียวที่ไปฝังตัวฝึกงานกับโคอิชิ ฟูจิ นักสร้าง ‘เรือถัง’ คนสุดท้ายแห่งเกาะซาโดะ จังหวัดนิอิกาตะ เพื่อสืบทอดศิลปะการต่อเรือโบราณที่กำลังจะสูญหาย
  • โคอิชิ ฟูจิ ช่างต่อเรือถังคนสุดท้ายในวัย 70 ไม่เคยมีลูกศิษย์ และไม่เคยจดบันทึกพิมพ์เขียวใดๆ เก็บไว้ เรือทุกลำถูกสร้างจากความทรงจำล้วนๆ นั่นแปลว่าถ้าเขาตายไป ศิลปะการต่อเรือถังที่สืบทอดมาเป็นร้อยๆ ปีจะสูญหายไปตลอดกาล ในฐานะคนรักเรือ บรูกส์จึงมิอาจปล่อยให้เป็นเช่นนั้น แต่วิธีการเดียวที่จะสืบสานงานเรือถังเอาไว้ได้คือต้องทำงานเคียงข้าง ศึกษาผ่านการเฝ้ามอง ครูพักลักจำ และทดลองลงมือทำเพียงเท่านั้น!  

     ต่อให้คุณเคยมีประสบการณ์การฝึกงานที่โหดหินแค่ไหน หัวหน้าที่ออฟฟิศจะใช้งานคุณอย่างหนักหน่วงยาวนานเพียงใด โปรดพึงระลึกไว้ว่ายังมีเด็กฝึกงานคนหนึ่งที่ทนทุกข์ยาวนานยิ่งกว่า เขาคือ ดักลาส บรูกส์ (Douglas Brooks) ฝรั่งคนแรกและคนเดียวที่ไปฝังตัวฝึกงานกับช่างต่อเรือญี่ปุ่น สายอาชีพที่ ‘เด็กฝึกงาน’ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 ปีถึงจะผ่านโปร!

     ผมมีโอกาสได้จับพลัดจับผลูไปฟังบรูกส์ที่ Japan Society ซึ่งตั้งอยู่บนถนน 47th Street กับ 1st Avenue อยู่ตรงข้ามกับองค์การสหประชาชาติ Japan Society เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ส่งเสริมงานด้านวัฒนธรรมเพื่อสานสัมพันธ์ญี่ปุ่นกับอเมริกาผ่านการจัดอีเวนต์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งทอล์กโดยนักวิชาการและศิลปิน เวิร์กช็อปงานฝีมือในสาขาต่างๆ รวมไปถึง Performance Arts และ Exhibition ตั้งแต่ยุคโบราณไปจนถึงป๊อปคัลเจอร์ (ในเดือนเดียวกันนี้มีจัดเวิร์กช็อปกินอาหารแบบซามูไร อีกวันมีการเชิญนักเขียนการ์ตูนเรื่อง Fairy Tale มาบรรยาย)

 

 

     ทอล์กวันนี้เป็นการเดินสายโปรโมตหนังสือ Japanese Wooden Boatbuilding ที่บรูกส์เขียนเล่าถึงประสบการณ์ในการฝึกงานกับนายช่างญี่ปุ่นเพื่อสืบทอดศิลปะการต่อเรือโบราณที่กำลังจะสูญหาย เขาเล่าย้อนไปเมื่อปี 1990 บรูกส์ซึ่งตอนนั้นทำงานอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เรือที่ซานฟรานซิสโกได้เดินทางมาเที่ยวญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก และได้พบกับ โคอิชิ ฟูจิ (Koichi Fujii) นักสร้าง ‘เรือถัง’ คนสุดท้ายแห่งเกาะซาโดะ จังหวัดนิอิกาตะ

     เรือถัง หรือทาราอิ บุเนะ มีรูปร่างเหมือนถังมิโซะขนาดใหญ่ถูกผ่าครึ่ง สร้างจากไม้สนสึกิและไม้ไผ่มาดาเกะ ทำให้มีความคงทนและราคาถูก ใช้สำหรับทำประมง เก็บสาหร่าย และจับหอยเป๋าฮื้อตามแนวผาที่แคบชันซึ่งเกิดจากแผ่นดินไหว เรือถังนั้นเป็นเอกลักษณ์ของเกาะซาโดะมาอย่างยาวนาน (แถมยังเคยไปปรากฏอยู่ในแอนิเมชันยอดฮิตอย่าง Spirited Away อีกด้วย)

 

 

     ถ้าเรือเล็กต้องออกจากฝั่ง เรือถังก็จำเป็นต้องได้รับการอนุรักษ์ เมื่อบรูกส์ได้เห็นการสร้างเรือถังของฟูจิที่ทั้งประณีตและเป็นเอกลักษณ์ เขาจึงอยากบันทึกกระบวนการทำงานทั้งหมดเอาไว้โดยการสัมภาษณ์ผ่านล่าม แต่พอคุยกันถึงขั้นตอนการทำงาน คุณฟูจิกลับปิดปากเงียบและลงมือทำให้ดู

     ช่างต่อเรือถังคนสุดท้ายในวัย 70 ไม่เคยมีลูกศิษย์ และไม่เคยจดบันทึกพิมพ์เขียวใดๆ เก็บไว้ เรือทุกลำถูกสร้างจากความทรงจำล้วนๆ นั่นแปลว่าถ้าคุณฟูจิตายไป ศิลปะการต่อเรือถังที่สืบทอดมาเป็นร้อยๆ ปีก็จะสูญหายไปตลอดกาล ในฐานะคนรักเรือ บรูกส์มิอาจปล่อยให้เป็นเช่นนั้น แต่วิธีการเดียวที่จะสืบสานงานเรือถังเอาไว้ได้ก็คือต้องทำงานเคียงข้างคุณฟูจิเท่านั้น

     โดยทั่วไปการฝึกงานในวงการช่างต่อเรือ เด็กฝึกงานจะมีอายุงานอย่างน้อย 6 ปี บางคนต้องฝึกนานถึง 10 ปีโดยไม่มีค่าจ้าง มีเพียงแค่ที่พักและอาหารให้ ข้อเรียกร้องที่โหดหินจึงเปรียบเสมือนปราการเหล็กที่คัดเฉพาะคนที่พร้อมจะอุทิศชีวิตเพื่อก้าวเดินบนทางสายนี้อย่างไม่วอกแวกเท่านั้น

     “ช่างฝีมือในญี่ปุ่นทุ่มเทให้กับงานมาก มันคือส่วนหนึ่งของตัวตนพวกเขา ซึ่งทำให้พวกเขาไม่สนใจจะทำงานกับคนที่ไม่ได้มีความทุ่มเทในระดับเดียวกัน เขาถึงเรียกผมว่าฝรั่งบ้า”

     วันแรกที่เริ่มฝึกงาน ฟูจิไม่พูดกับบรูกส์สักคำเดียว ไม่แม้กระทั่งสั่งงานใดๆ บรูกส์ได้แต่นั่งดูฟูจิทำงานในความเงียบนานถึง 8 ชั่วโมง และจบวันด้วยประโยคเดียวคือ “ช่วยเก็บกวาดให้ด้วยนะ”

 

 

     กำแพงภาษาที่ดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคในตอนแรกกลับไม่เป็นปัญหาในการเรียนต่อเรือแม้แต่น้อย เพราะยังไงฟูจิก็ไม่ยอมปริปากใดๆ กับบรูกส์อยู่แล้ว ทำให้เขาได้ใช้สายตาสังเกตและจดจำวิธีการอย่างเต็มที่

     เคล็ดลับในงานสร้างถือเป็นสมบัติที่ช่างต่อเรือทุกคนหวงแหน เพราะนอกจากจะไม่มีพิมพ์เขียวบันทึกไว้แล้ว (หรือถ้ามีก็จะไม่เขียนส่วนที่สำคัญลงไป) อุปกรณ์ที่ใช้คำนวณโครงสร้างก็ถือเป็นสูตรลับของแต่ละคนเช่นกัน บางคนใช้เส้นที่ขีดไว้บนกำแพงช็อปแทนไม้ฉาก บางคนใช้แค่ไม้กับเชือกเพื่อวัดมุมดิ่ง หรือกระทั่งใช้แค่นิ้วมือตัวเองนี่แหละเป็นไม้บรรทัด

     หลักสูตรวิชาการต่อเรือโบราณของฟูจิดูเหมือนจะอยู่ขั้วตรงข้ามกับนวัตกรรมการศึกษายุคใหม่อย่างสิ้นเชิง เพราะนอกจากเวลาเรียนที่ยาวนานแล้ว ความรับผิดชอบในการเรียนรู้นั้นยังตกอยู่ที่นักเรียนทั้งหมด บรูกส์ต้องครูพักลักจำ ลองสร้างชิ้นส่วนเรือเพื่อให้ฟูจิพิจารณา ก่อนจะถูกสั่งให้ทำใหม่โดยไม่เฉลยหรือบอกใบ้ข้อผิดพลาดให้ฟัง บรูกส์ต้องแก้งานไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเข้าใจด้วยตัวเอง

     คำสอนของฟูจินั้นมีเพียงสองข้อคือ “จงดู แล้วเดี๋ยวก็จะเข้าใจเอง” กับ “จงทำ แล้วเดี๋ยวก็จะเข้าใจเอง”

 

 

     วันหนึ่งหลังเลิกงาน บรูกส์ได้แอบย่องเข้าไปในช็อปเพื่อเก็บรายละเอียดจากร่องรอยการทำงานของอาจารย์ แต่ดูเหมือนฟูจิจะรู้ทัน เพราะบนชิ้นส่วนต่างๆ ของเรือกลับพบรอยดินสอที่ขีดไว้มั่วๆ เต็มไปหมดเพื่อหลอกให้บรูกส์สับสน ราวกับเป็นการสอนว่า ‘อย่าริรู้ทางลัด’

     ถึงแม้ห้องเรียนเรือถังจะฟังดูโหดหินสักแค่ไหน แต่วันวัยที่ล่วงเลยก็อาจทำให้ฟูจิตระหนักได้ว่า นี่อาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะช่วยต่อชีวิตเรือถังให้ยังโล้คลื่นอยู่ในวิถีชาวเกาะซาโดะต่อไป ฟูจิจึงแอบกระซิบกับคนอื่นว่าเขาจะไม่ยอมเกษียณเด็ดขาดจนกว่าจะสอนเจ้าฝรั่งคนนี้ให้ต่อเรือจนสำเร็จ

     บรูกส์เริ่มเรียนต่อเรือถังในปี 1996 จนกระทั่งปี 1999 ฟูจิก็จากไปอย่างสงบ

     จากเด็กฝึกงานคนสุดท้ายกลายมาเป็นอาจารย์เรือถังคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ บรูกส์จึงร่วมกับพิพิธภัณฑ์ประจำจังหวัดนิอิกาตะ และ Kodo Cultural Foundation จัดนิทรรศการแสดงขั้นตอนการสร้างเรือถังร่วมกับเด็กฝึกงานของเขา และจัดพิมพ์หนังสือ The Tub Boats of Sado Island: A Japanese Craftsman’s Methods ซึ่งบันทึกการสร้างเรือถังในแบบฉบับของฟูจิอย่างละเอียด พร้อมมาตรวัดและอัตราส่วนที่เป็นสากล ไม่ใช่หน่วยนิ้วมือฟูจิอีกต่อไป การเผยแพร่องค์ความรู้นี้ถือว่าเป็นวิธีการที่ ‘แหกคอก’ สำหรับวิถีช่างเรือ แต่มันกลับกลายเป็นวิธีเดียวที่จะช่วยต่อชีวิตให้ศิลปะโบราณนี้คงอยู่

     หนังสือเล่มนี้เป็นเพียงก้าวเล็กๆ ก้าวแรกเท่านั้น

 

 

     ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเป็นเวลา 21 ปี บรูกส์ได้เดินทางไปทั่วญี่ปุ่นเพื่อสัมภาษณ์ช่างต่อเรือโบราณที่ยังมีชีวิตอยู่กว่า 60 คนเพื่อเก็บข้อมูลของเรือชนิดต่างๆ เขาได้ฝึกงานจนสำเร็จวิชาต่อเรือโบราณอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นไปทั้งหมด 8 แบบ เขาเป็นเด็กฝึกงานเพียงคนเดียวของอาจารย์ 6 คนจากทั้งหมด 7 คน และอาจารย์ที่อายุน้อยสุดนั้นมีอายุ 77 ปี

     ในปี 2015 บรูกส์ได้มีโอกาสเดินทางกลับไปเปิดคอร์สสอนต่อเรือโบราณที่ The University of Vermont และแน่นอน วิธีการที่เขาใช้สอนก็คือ…

     (เงียบ)

 

FYI
  • บล็อกของบรูกส์อัพเดตเรื่องวิชาการต่อเรือเป็นประจำ ลองเข้าไปสัมผัสโลกของงานช่างโบราณได้ที่นี่ blog.douglasbrooksboatbuilding.com
  • ใครแวะเวียนไปนิวยอร์ก ลองแวะไปที่ Japan Society เขาอัพเดตกิจกรรมผ่านทางเว็บไซต์ www.japansociety.org
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising