×

Speaking Truth To Power 1 : นักข่าวสืบสวนระดับโลกมีเทคนิคขุดคุ้ยข้อมูลในโลกออนไลน์อย่างไร

10.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • คำว่า Muckraker แปลตรงตัวว่า ‘คนที่ใช้คราดคุ้ยดิน’ แต่เมื่อย้อนไปสมัยประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ เขาเคยใช้คำนี้เปรียบเปรยนักข่าวสายล้วงลึกเพื่อเปิดโปงคอร์รัปชันว่าเป็นพวกคนถือคราด ที่วันๆ เอาแต่ก้มหน้าคุ้ยดินหาสิ่งสกปรก ทุกวันนี้คำว่า Muckraking เลยหมายถึง ข่าวสืบสวน
  • อัซมาต ข่าน นักข่าวซึ่งทำงานให้กับ PBS Frontline, Al Jazeera, และทีมข่าวสืบสวนของ BuzzFeed เธอทั้งเขียนข่าว แถมยังทำงานกับ Frontline รายการสารคดีเนื้อหาเข้มข้นของช่อง PBS
  • อัซมาตอธิบายถึงขั้นตอนในการขุดคุ้ยที่ส่งผลสะเทือนระดับประเทศ โดยใช้เครื่องมือบนโลกออนไลน์ที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
  • ในทางหนึ่ง บางคนอาจจะมองว่าเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลเป็นความน่ากลัวต่อชีวิต ทรัพย์สิน หรือกระทั่งเป็นภัยคุกคามต่อ ‘ความมั่นคง’ แต่ใครหลายคนที่นี่กลับมองว่ามันคือเครื่องมือสำคัญในการติดตามตรวจสอบทั้งภาครัฐและเอกชน

 

     ‘นิวยอร์ก’ ชอบโม้ว่าเป็นเมืองศูนย์กลางของอุตสาหกรรมหนังสารคดีโลก เพราะนอกจากจะเป็นเมืองที่จัดงานเทศกาลหนังสารคดีที่เคลมว่า ‘ใหญ่’ ที่สุดในอเมริกาอย่าง DOC NYC แล้ว บรรดาองค์กรสื่อและสถาบันศิลปะยักษ์ใหญ่ พร้อมด้วยแหล่งทุนจำนวนมากยังคอยดึงดูดบุคลากรคนทำหนังตัวจี๊ดให้เข้ามากระจุกตัวกันที่นิวยอร์กอีกด้วย

     นอกจากสถาบันการศึกษาที่เป็นแหล่งค้นคว้าและสอนวิชาสารคดี ยังมีองค์กรไม่แสวงผลกำไรแทรกตัวอยู่บ้าง ซึ่งองค์กรที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางโดยคนทำหนังในตอนนี้คือ UnionDocs

 

 

     UnionDocs (UNDO) คือองค์กรอิสระที่วางตัวเป็นศูนย์กลางในการผลักดันชุมชนคนทำสารคดีผ่านการจัดเวิร์กช็อประยะสั้นด้านศาสตร์การผลิต ไล่ตั้งแต่ภาพยนตร์ไปจนถึงพอดแคสต์ นอกจากนั้นยังมีการจัดฉายหนังและทอล์กเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม (ช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์ เพิ่งได้รับเลือก ที่นี่ตื่นตัวสุดขีด จัดอีเวนต์ถี่มาก) มีทั้ง Collaborative Studio ที่คัดเลือกคนทำหนังและ Media Artists เข้ามาพัฒนาโปรเจกต์ร่วมกัน อ่านแล้วคิดภาพตาม โอ้โห ‘องค์กรสารคดีอิสระในเมืองศูนย์กลางสารคดีโลก’ จะต้องเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่อลังการอย่างกับฮอลลีวูดขนาดย่อมอย่างแน่นอน

     ตัดภาพไปที่ความเป็นจริง แหล่งซ่องสุมชาวสารคดีแห่งนี้กว้างประมาณตึกแถวสองคูหา สูงสามชั้น ตั้งอยู่บนยูเนียน อเวนิว ย่านวิลเลียมสเบิร์ก ในโซนบรูกลิน

     “แม่งใหญ่เท่าร้านข้าวมันไก่ปากซอยบ้านเรานี่เองครับ”    

     เนื่องด้วยพรมแดนหนังสารคดีมักเป็นการตั้งคำถามเพื่อท้าทายผู้มีอำนาจและสะท้อนภาพความเป็นจริงในสังคมอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการทำลายสิ่งแวดล้อม อัตลักษณ์ของชนกลุ่มน้อยทั้งในเรื่องเพศสภาพและชาติพันธุ์ หรือที่เป็นประเด็นโดดเด่นในปีหลังๆ มานี้คงหนีไม่พ้นเรื่องการสอดแนมจากภาครัฐ UnionDocs จึงมีภารกิจในการส่งเสริมและผลักดันกลุ่มคนทำสารคดีอิสระด้วยการติดอาวุธทางความรู้ทั้งในด้านศิลปะและการเมืองมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2005

     ผมเคยแอบมาเยือนที่นี่ครั้งแรกเมื่อหลายเดือนก่อน รอบนั้นเป็นเวิร์กช็อปเกี่ยวกับ Cyber Security ว่าด้วยเรื่องการรักษาความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ เช่น ความรู้พื้นฐานเรื่อง Encryption การเลือกใช้แอปฯ สื่อสารที่ไม่ถูกสอดแนม เทคนิคการเก็บรักษาไฟล์ให้ปลอดภัย ฯลฯ ซึ่งความรู้เหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนทำหนังที่พยายามท้าทายอำนาจรัฐหรือกลุ่มทุนผู้มีอิทธิพล ซึ่งมักตกเป็นเป้าหมายในการเจาะ ทั้งในทางดิจิทัลและฟิสิคัลแบบบุกค้นยึดฮาร์ดดิสก์กันดื้อๆ ส่วนรอบนี้เป็นเวิร์กช็อปชื่อ Speaking Truth to Power: Investigative Documentary หรือสารคดีสายสืบสวนเจาะลึกล้วงความจริงนั่นเอง (แหม รอบที่แล้วเรียนป้องกัน รอบนี้เรียนล้วง)

     เวิร์กช็อปครั้งนี้ยาว 3 วันรวด มีทั้งผู้กำกับ ทนาย และนักข่าว หมุนเวียนกันมาบรรยาย พาร์ตที่อยากเขียนถึงคืออัซมาต ข่าน (Azmat Khan) นักข่าวซึ่งทำงานให้กับ PBS Frontline, Al Jazeera, และทีมข่าวสืบสวนของ BuzzFeed เธอทั้งเขียนข่าว แถมยังทำงานกับ Frontline รายการสารคดีเนื้อหาเข้มข้นของช่อง PBS โดยโปรดิวซ์หนังเนื้อหาเข้มในพื้นที่เสี่ยงภัย อาทิเช่น เรื่องบทบาทของกลุ่มมุสลิมในการปฏิวัติที่อียิปต์, กลุ่มอัลกออิดะห์ในเยเมน, สงครามซีเรีย ฯลฯ

     หัวข้อที่อัซมาตมาแชร์คือ ‘Digital Muckraking 101’ คำว่า Muckraker จริงๆ แปลตรงตัวว่าคนที่ใช้คราดคุ้ยดิน แต่ตอนสมัยประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) แกเคยใช้คำนี้ด่านักข่าวสายล้วงลึกขุดคุ้ยเพื่อเปิดโปงคอร์รัปชันว่าเป็นพวกคนถือคราดที่วันๆ เอาแต่ก้มหน้าคุ้ยดินหาสิ่งสกปรก ไม่รู้จักเงยหน้าชื่นชมสิ่งสวยงามอย่างอื่นบ้าง พวกนักข่าวเลยยิ้มร่า โอ้โห นี่ชมกันชัดๆ!

     ทุกวันนี้คำว่า Muckraking เลยหมายถึง ‘ข่าวสืบสวน’ ไปโดยปริยาย

 

 

เมื่อทุกอย่างบันทึกไว้ในอินเทอร์เน็ต โลกออนไลน์จึงเป็นแหล่งวัตถุดิบชั้นดีของนักข่าวจอมขุดคุ้ย

     อัซมาตถ่ายทอดวิธีคุ้ยโดยยกตัวอย่าง Ghost Schools บทความขนาดยาวที่เธอเขียนให้ BuzzFeed เมื่อปี 2015 ว่าด้วยเรื่องที่กองทัพสหรัฐฯ ไปสร้างโรงเรียนในอัฟกานิสถาน โดยอ้างว่าเป็นการชดเชยความเสียหายจากสงคราม ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ เชิดชูแคมเปญนี้มานานหลายปีว่าเป็นความสำเร็จอย่างสูง แต่อัซมาตได้กลิ่นเน่าตุๆ จากใต้ดิน เธอจึงเริ่มคุ้ยแล้วพบว่า โรงเรียนหลายแห่งทรุดโทรมจนใช้การไม่ได้ หรือไม่ก็ถูกปล่อยทิ้งร้าง จำนวนนักเรียนก็น้อยกว่าที่ทางการรายงานไว้กว่าครึ่ง ที่เลวร้ายกว่านั้นคือโรงเรียนบางแห่งถูกนำเสนอว่าสร้างเสร็จแล้ว ทั้งที่ความจริงไม่มีแม้แต่เสาเข็ม

     รายงานของอัซมาตและทีมส่งผลสะเทือนถึงขั้น USAID ต้องตรวจสอบและประเมินโครงการสร้างโรงเรียนกันใหม่ และประธานาธิบดีอัฟกานิสถานถึงกับสั่งให้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบคอร์รัปชันในกระทรวงศึกษาธิการ อัซมาตอธิบายถึงขั้นตอนในการขุดคุ้ยที่ส่งผลสะเทือนระดับประเทศ โดยใช้เครื่องมือบนโลกออนไลน์ที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ดังต่อไปนี้

     – สหรัฐฯ มีกฏหมาย The Freedom of Information Act (FOIA) ซึ่งให้สิทธิประชาชนในการขอดูข้อมูลอะไรก็ได้จากหน่วยงานใดก็ได้ของภาครัฐเพื่อความโปร่งใส ตราบใดที่ไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคล หรือเป็นข้อมูลที่กระทบความมั่นคงของชาติ อัซมาตใช้สิทธิขอข้อมูลด้านงบประมาณที่รัฐบาลใช้ในการสร้างโรงเรียนที่อัฟกานิสถาน เธอเก็บรวบรวมรายชื่อ ภาพถ่ายและพิกัดจีพีเอสของทุกโรงเรียนเอาไว้

     – จากนั้นเธอใช้แอปพลิเคชัน Photo Investigator ซึ่งใช้ดู Metadata (ข้อมูลที่ฝังอยู่ในรูป เช่น วันเวลา กล้องที่ใช้ รวมไปถึงพิกัดจีพีเอส) ของรูปที่ทางการถ่ายไว้เพื่อเทียบกับข้อมูลโรงเรียนที่ลงทะเบียนไว้ แล้วจึงลงพื้นที่สืบค้นด้วยตัวเอง ซึ่งทำให้พบว่าสถานที่ตั้งของโรงเรียนหลายแห่งคลาดเคลื่อนจากข้อมูลจริง  

     – การเดินทางตามจีพีเอสนั้น เธอบอกว่าถ้าใช้ Google Maps จะไม่เวิร์ก เพราะใช้ภาพถ่ายดาวเทียมของ DigitalGlobe ซึ่งข้อมูลไม่ได้ถูกอัพเดตบ่อยขนาดนั้น โดยเฉพาะในเขตอัฟกานิสถาน หลังถูกกลุ่มไอเอสเข้ายึดครอง อัซมาตจึงเลือกใช้แอปพลิเคชัน MilGPS แทน ซึ่งเป็นแอปฯ ที่ระบุพิกัดจีพีเอสได้แม่นยำในระดับทหารยังเอาไปใช้

     – อาวุธลับอีกอย่างที่หลายคนมองข้าม แต่อัซมาตมองว่าเวิร์กมาก คือเว็บไซต์สมัครงานอย่าง LinkedIn ซึ่งใช้เสิร์ชหาข้อมูลของพนักงานในองค์กรต่างๆ ได้แบบละเอียดยิบ โดยเฉพาะ LinkedIn Pro เธอใช้เสิร์ชหาอดีตพนักงานของ USAID ที่ทำงานในอัฟกานิสถานแล้วขอให้มาช่วยให้ข้อมูล เนื่องจากอดีตพนักงานมักไม่มีพันธะผูกพันกับองค์กรต้นสังกัด ทำให้ข้อมูลที่ได้ค่อนข้างลึกและเที่ยงตรง  

     – ไม้เด็ดในการจับโกหกของเธอคือเว็บไซต์ archive.org/web ที่ใช้ย้อนกลับไปดูหน้าเว็บในอดีตได้ โดยใส่ url เข้าไปก็จะเห็นว่า เว็บไซต์นี้เคยถูกแก้ไขข้อมูลวันไหนบ้าง โดยสามารถสืบค้นประวัติย้อนไปได้ตั้งแต่วันก่อตั้งเว็บ มีปฏิทินให้กดไล่ดูได้เลย (ถ้าลองเอาไปใช้กับเว็บไซต์ดังๆ อย่างพวก Facebook หรือ Youtube เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยมากๆ) อัซมาตใช้เว็บนี้ในการย้อนไปดูหน้าเว็บไซต์ของ USAID ในปี 2010 ซึ่งเคยมีรายงานว่าได้ช่วยสร้างโรงเรียนไว้ถึง 680 แห่ง แต่พอไล่เช็กไปเรื่อยๆ เธอพบว่ามีการ ‘แอบเนียน’ ลดจำนวนโรงเรียนลงจนเหลือแค่ 560 แห่งในปี 2015 นอกจากนี้อัซมาตยังใช้เว็บนี้ไล่เช็กประวัติเว็บไซต์ของผู้รับเหมาก่อสร้างบางแห่งในอัฟกานิสถาน แล้วพบว่ามีการปลอมแปลงหน้าเว็บไซต์โดยการเปลี่ยนชื่อและโลโก้บริษัทเพื่อเข้ามาขอทำสัญญาสร้างโรงเรียนซ้ำซ้อนอีกด้วย

 

เทคนิคในการใช้ Google ขุดคุ้ยข้อมูล

     – ใส่คำหรือประโยคที่ค้นหาใน “ ” (โควต) เพื่อผลการค้นหาแบบเป๊ะๆ เช่น “หอแต๋วแตก” 

     – ใส่คำที่ต้องการค้นหา แล้วค่อยใส่ – (เครื่องหมายลบ) ตามด้วยคำหรือชื่อเว็บไซต์ที่ไม่ต้องการเพื่อลบผลการค้นหาที่ มักใช้เวลาค้นหาคำที่มีหลายความหมาย เช่น fuji -film -xerox -food

     – Site: (ตามด้วยชื่อเว็บ) เพื่อจำกัดผลการค้นหาแค่ในเว็บไซต์ที่ระบุ

     – Link: (ตามด้วยชื่อเว็บ) เพื่อค้นหาเว็บไซต์ที่ลิงก์มาที่เว็บนั้นๆ

     – ใส่ * (ดอกจัน) ไว้ระหว่างคำที่ต้องการเว้นไว้ เช่น “Hello how * you”

     – ใส่ .. (จุดสองจุด) ไว้ระหว่างสองจำนวนเพื่อหาจำนวนที่อยู่ระหว่างกลาง คำสั่งนี้มักใช้กับพวกหน่วยวัดหรือราคา เช่น ก๋วยเตี๋ยวไก่เจ๊ปุ้ย $300..$500

     – FileType: (ตามด้วยประเภทไฟล์) ไว้ค้นหาเว็บไซต์ที่มีไฟล์ชื่อนั้นๆ อัพโหลดไว้

     – อัพรูปหรือแปะ url รูปใน Google Image Search เพื่อค้นหารูปเดียวกันในเว็บไซต์อื่น (มักใช้หาต้นตอ เช่น วันแรกสุดที่อัพโหลด) 

 

 

เทคนิคขุดคุ้ยข้อมูลด้วยโซเชียลมีเดีย

Facebook

     – intel-sw.com/blog/facebook-search = สำหรับเสิร์ชเพื่อค้นหาบุคคลโดยมีดีเทลบางอย่าง ซึ่งเป็นการค้นหาที่ละเอียดกว่าในเว็บไซต์ Facebook เอง เช่น ภาษาที่พูด กดไลก์เพจไหน สถานที่ที่เคยไป ฯลฯ 

     – facebook.com/livemap = เป็นแผนที่(โลก) เอาไว้ดูโลเคชันที่มีคนกำลัง Live Facebook

 

Twitter

     – Twitter Advanced Search ซึ่งมีฟังก์ชันละเอียดมาก

     – การค้นหาทวีตในโลเคชันที่ต้องการโดยการระบุพิกัด geocode (หาพิกัดได้จาก Google Maps โดยคลิกขวาในแผนที่แล้วเลือก What’s here?) ซึ่งจะเป็นฟอร์แมตดังนี้

     – (คำที่ต้องการค้นหา) geocode:(พิกัด),(รัศมีการเสิร์ช)km เช่น เราอยากรู้ว่าแถวบางกะปิในรัศมี 1 กิโลเมตร เขาทวีตเกี่ยวกับฟุตบอลว่ายังไง ก็พิมพ์ในช่องเสิร์ชว่า “ฟุตบอล geocode:13.771478,100.636536,1km”

     – หรือถ้าอยากรู้ว่าเทรนด์แถวบางกะปิเขาทวีตอะไรกัน ก็ใส่เครื่องหมายคำถามลงไปแทนคำค้นหา เช่น ? geocode:13.771478,100.636536,1km โดยวิธีการนี้ ส่วนมากใช้ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินในพื้นที่ที่เราต้องการข้อมูลด่วนจี๋

 

     นอกจากนี้อัซมาตยังเปิดกรุเว็บไซต์ที่ช่วยในการสืบค้นข้อมูลส่วนตัวของบุคคลซึ่งมีตั้งแต่เว็บไซต์ค้นหาเจ้าของยานพาหนะ, สืบค้นใบเกิด, ลงทะเบียนปืน, ทะเบียนนักโทษ, ทะเบียนรุ่นโรงเรียน, สืบหาบรรพบุรุษ ไปจนถึงเว็บที่ยิงตรงเข้า voice mail โดยโทรศัพท์ไม่ดัง เพื่อเอาไว้เช็กเบอร์กับเจ้าของเลขหมาย และอื่นๆ อีกมากมายหลายสิบเว็บ

     คือตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้าเราเคยลงทะเบียนอะไรไว้เป็นต้องถูกค้นหาเจอได้แน่นอน ซึ่งทำให้รู้สึกเลยว่า ‘การเข้าถึงข้อมูลอย่างเสรี’ เมื่อนำมาผนวกกับความเร็วและความแรงของอินเทอร์เน็ต มันทำให้เห็นชัดเลยว่าทำไมสหรัฐอเมริกาถึงได้ให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนตัวกันนัก เพราะการจะตามหาหรือแอบอ้างใครสักคนไม่ใช่เรื่องยาก และการถูกขุดคุ้ยก็แสนจะง่ายดาย  

     ในทางหนึ่ง บางคนอาจจะมองว่าเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลเป็นความน่ากลัวต่อชีวิต ทรัพย์สิน หรือกระทั่งเป็นภัยคุกคามต่อ ‘ความมั่นคง’ แต่ใครหลายคนที่นี่กลับมองว่ามันคือเครื่องมือสำคัญในการติดตามตรวจสอบทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน

     เวิร์กช็อป Speaking Truth to Power ยังไม่จบแค่นี้ บทความชิ้นหน้าจะพาไปพบกับผู้กำกับเรื่อง Hooligan Sparrow เธอจะมาเล่าประสบการณ์การทำงานในสารคดีที่ท้าชนรัฐบาลจีนแบบถึงลูกถึงคน แล้วพบกันตอน 2 ครับ

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai

FYI
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising