×

Once a Blue, always a Blue การกลับบ้านอีกครั้งของ ‘เวย์น รูนีย์’

10.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 mins read
  • ถึงจะไม่ได้รับการยอมรับในความสง่างามเทียบเท่ากับ ไรอัน กิ๊กส์ (Ryan Giggs) หรือ พอล สโคลส์ (Paul Scholes) แต่เหล่าแฟน ‘ปีศาจแดง’ ก็อดใจหายไม่ได้ที่ เวย์น รูนีย์ เจ้าของสถิติทำประตูสูงสุดตลอดกาลของสโมสรต้องร่ำลาโอลด์แทรฟฟอร์ ดเพื่อกลับสู่กูดิสันพาร์กอีกครั้ง
  • ขณะที่เคยอยู่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เวย์น รูนีย์ เคยคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก 5 สมัย, ยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีก 1 สมัย, แชมป์สโมสรโลก 1 สมัย ไม่นับการทำลายสถิติการทำประตูตลอดกาลของเซอร์บ็อบบี้ ชาร์ลตัน (Sir Bobby Charlton) ที่ยืนยงยาวนานมา 44 ปีนับตั้งแต่ปี 1973
  • เมื่อเวย์น รูนีย์ ยอมรับว่าเวลาของเขากับแมนฯ ยูไนเต็ด หมดลงแล้วเมื่อฤดูกาลที่ผ่านมา เขาก็มองหาที่หมายปลายทางแห่งใหม่ ซึ่ง เอฟเวอร์ตัน เป็นหนึ่งในทีมที่เขาคิดถึงมาโดยตลอด

ถึงจะเป็นเรื่องที่พอคาดเดาบทสรุปเอาไว้ได้บ้างอยู่แล้ว แต่การร่ำลาโอลด์แทรฟฟอร์ด เพื่อกลับถิ่นกูดิสันพาร์กอีกครั้งของ เวย์น รูนีย์ (Wayne Rooney) ก็สะกิดความรู้สึกที่หลายหลากในหัวใจของคนที่ได้พบเห็นไม่ว่าจะเป็น เรด อาร์มี, เอฟเวอร์โตเนียน หรือใครก็ตาม

มีทั้งสุขและเศร้าในคราวเดียวกัน

ถึงจะไม่ได้รับการยอมรับในความสง่างามเทียบเท่ากับ ไรอัน กิ๊กส์ (Ryan Giggs) หรือ พอล สโคลส์ (Paul Scholes) แต่เหล่าแฟน ‘ปีศาจแดง’ ก็อดใจหายไม่ได้ที่เจ้าของสถิติทำประตูสูงสุดตลอดกาลของสโมสร และครั้งหนึ่งเคยเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของทีมต้องจากไปแบบนี้

ขณะที่เหล่าแฟน ‘ทอฟฟีสีน้ำเงิน’ ที่เคยแค้นเคืองโกรธโทษเด็กหนุ่มผู้ทรยศหนีออกจากบ้านไปเมื่อ 13 ปีก่อน กลับยินดีปรีดามากกว่าการเห็นสโมสรทุ่มเงินซื้อนักเตะระดับสตาร์หลายรายในช่วงก่อนหน้านี้

มันเป็นความย้อนแย้งที่ยากจะอธิบายครับ

แม้ในอีกทางหนึ่ง ก็น่าคิดว่ามันก็ดูเป็นเรื่องราวของ เวย์น รูนีย์ ในฐานะนักฟุตบอลคนหนึ่งที่มีเส้นทางชีวิตที่ชวนสับสนและเต็มไปด้วยความขัดแย้ง

 

 

ความมหัศจรรย์สีน้ำเงิน

ชื่อของ เวย์น รูนีย์ ปรากฏขึ้นในเมอร์ซีย์ไซด์ในช่วงต้นยุค ‘มิลเลนเนียม’

ในยามนั้นเมอร์ซีย์ไซด์มีการพูดถึง Wonderkid หรือเจ้าหนูมหัศจรรย์คนใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้นต่อจาก ไมเคิล​ โอเวน เด็กมหัศจรรย์คนก่อนที่ก้าวขึ้นจากทีมเยาวชนของลิเวอร์พูล และกลายเป็นหนึ่งในกองหน้าที่เก่งที่สุดของประเทศ

ชื่อของไอ้หนูขี้อายกระฉ่อนไปทั่วสนามฟุตบอลที่ย่านวอลตัน (Walton) และ เคิร์กเดล (Kirkdale) ในวันอาทิตย์ที่มีการแข่งขัน Sunday League (ลีกฟุตบอลสมัครเล่นของชาวอังกฤษ)

บ็อบ เพนเดิลตัน (Bob Pendleton) อดีตแมวมองของเอฟเวอร์ตัน บอกเล่าถึงความหลังครั้งที่ได้เห็นรูนีย์ ลงเล่นเป็นครั้งแรกผ่าน BBC ว่าวันนั้นเขาได้เห็นรูนีย์ ลงเล่นที่สนามเจฟฟรีย์ ฮัมเบิล (Jeffrey Humble) ที่ลองเลน (Long Lane) ในย่านวอลตัน

สิ่งที่บ็อบ – ผู้ที่ค้นพบรูนีย์ และรู้จักเด็กคนนี้มาตั้งแต่แรก – จำได้ในวันนั้นคือ ภาพของเด็กน้อยในชุดทีมคอปเปิลเฮาส์ บอยส์ (Copplehouse Boys) ที่พาบอลไปทั่วสนาม ยิงประตูได้ในทุกโอกาสที่เขามี แม้กระทั่งการยิงประตูจากระยะ 20 หลา ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติสำหรับเด็กตัวเล็กๆ อายุ 9 ขวบ ที่แบกอายุลงเล่นในทีมชุดอายุต่ำกว่า 11 ปี

ถึงจะตัวเล็กแต่ทรงพลังอย่างยิ่ง

บ็อบ ตัดสินใจในทันทีว่าจะต้องจับเด็กคนนี้เซ็นสัญญากับเอฟเวอร์ตันให้ได้

แต่คำตอบแรกจาก ‘Big Nev’ ผู้จัดการทีมคอปเปิลเฮาส์ บอยส์ คือ “ไม่” เพราะรูนีย์เพิ่งจะเซ็นสัญญากับพวกเขา และหากบ็อบนำตัวเด็กคนนี้ไปพวกเขาก็จะหมดสิทธิ์ใช้งานไอ้หนูรายนี้อีก

เพียงแต่แมวมองผู้มากประสบการณ์และเป็น ‘เอฟเวอร์โตเนียน’ (Evertonian) มาตั้งแต่ปี 1948 และทำงานรับใช้สโมสรอย่างเข้มแข็งในการหาเพชรเม็ดงามมาให้ทีมรัก ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เพราะสำหรับบ็อบแล้ว รูนีย์​คือสิ่งมหัศจรรย์ที่เขาไม่เคยพบมาตลอดชีวิตนี้

     บ็อบ ตามติดไปขอพูดคุยกับครอบครัวของเจ้าหนู เวย์น และได้พบกับ เวย์น ซีเนียร์ (Wayne Sr.) และเจียเนตต์ (Jeanette) พ่อและแม่ของเจ้าหนูรายนี้ ก่อนจะโล่งใจที่รู้ว่าครอบครัวนี้ ‘สีน้ำเงิน’ เป็นเอฟเวอร์โตเนียนแบบเดียวกับเขา

     หลังการพูดคุย บ็อบส่งเทียบเชิญให้เจ้าหนูเวย์นมาที่เบลล์ฟิลด์ (Bellefield) สนามซ้อมของเอฟเวอร์ตัน ในวันพฤหัสบดีเพื่อทดสอบฝีเท้า

     แต่อะไรมันไม่ได้ง่ายดายแบบนั้นครับ เพราะรูนีย์มีคิวที่จะไปสนามซ้อมของ ลิเวอร์พูลก่อนในวันอังคาร ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เจ้าหนูหมูน้อยได้โอกาสลงฝึกซ้อมกับลิเวอร์พูลก่อนแล้วแต่ยังไม่โอเค แต่เมื่อเสียงลือเสียงเล่าอ้างเริ่มดังขึ้น ทีมสีแดงแห่งเมอร์ซีย์ไซด์ก็หวงก้างขึ้นมาทันที

 

     

     เมื่อทราบข่าวบ็อบตัดสินใจเร่งการทดสอบฝีเท้าให้ไวขึ้นเพื่อตัดหน้าลิเวอร์พูล แล้วก็ทำสำเร็จ โดยรูนีย์ได้เข้ารับการทดสอบฝีเท้าต่อหน้า เรย์ ฮอลล์ (Ray Hall) ผู้ดูแลอคาเดมีของเอฟเวอร์ตันในขณะนั้น และจากนั้น โจ รอยล์ อดีตผู้จัดการทีมในขณะนั้นได้มาพบเจ้าหนูตามคำร้องขอของบ็อบ ที่ยืนกรานว่าหัวเด็ดตีนขาดก็ต้องเซ็นสัญญากับเด็กคนนี้ให้ได้

     ท้ายที่สุดแล้วทั้ง เรย์ และ โจ ต่างประทับใจกับเด็กคนนี้

     ในที่สุด เวย์น รูนีย์ ก็ได้เข้าสู่ทีมเยาวชนของ เอฟเวอร์ตัน ความเก่งกาจของเขาเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ จนไม่มีใครหยุดยั้งเขาได้อีก จากระดับเยาวชน เขาก้าวสู่ทีมชุดใหญ่ของเอฟเวอร์ตัน ในวัยเพียง 16 ปี

     เจ้าหนูมหัศจรรย์รายนี้ทำให้ บิลล์ เคนไรต์ (Bill Kenwright) อดีตประธานสโมสรเอฟเวอร์ตัน ถึงกับเก็บความรู้สึกเอาไว้ไม่ได้เมื่อให้สัมภาษณ์ต่อรายการวิทยุ BBC 5 Live เพราะแม้จะพยายามบอกว่าเขาไม่อยากพูดอะไรถึงเด็กคนนี้ให้เป็นที่กระโตกกระตาก แต่ความจริงแล้วบิลล์พูดชมเจ้าหนูรายนี้แทบทุกคำ

     “เขามหัศจรรย์มาก เขามีทุกสิ่งทุกอย่าง”

     อย่างไรก็ดีความลับไม่มีในโลก

     และประตูปั่นโค้งเสียบสามเหลี่ยมในช่วงท้ายเกมกับอาร์เซนอล ในวันที่ 2 ตุลาคม 2002 หยุดสถิติไร้พ่ายของอาร์เซนอลเอาไว้ที่ 30 นัด

     เป็นการประกาศนามของ เวย์น รูนีย์ ต่อโลกใบนี้

 

 

รุ่งโรจน์และร่วงโรย

     “เด็กคนนี้ต้องแกล้งทำเป็นอายุ 16 แน่” อาร์แซน เวนเกอร์ (Arsène Wenger) แทบไม่อยากเชื่อกับสิ่งที่เขาได้เห็นหลังทีมต้องประสบความพ่ายแพ้ในเกมที่กูดิสัน พาร์ก ด้วยประตูมหัศจรรย์ของเด็กที่ เดวิด มอยส์ (David Moyes) เพิ่งส่งลงสนามได้เพียง 10 นาที และยิงประตูจากระยะ 30 หลาผ่านมือ เดวิด ซีแมน (David Seaman) นายทวารมือหนึ่งทีมชาติอังกฤษได้ก่อนหมดเวลาการแข่งขันแค่ 28 วินาที

     และเป็นประตูฉลองวันคล้ายวันเกิดอายุ 17 ปีล่วงหน้าของเขาที่จะครบรอบในอีก 5 วันให้หลัง

     จากนั้นชื่อของรูนีย์กลายเป็นที่สนใจของผู้คนทันที ในฐานะความมหัศจรรย์ครั้งใหม่ของวงการฟุตบอลอังกฤษ ท่ามกลางการยกย่องว่าเด็กคนนี้อาจเป็นผู้มีพรสวรรค์สูงสุดของประเทศนับตั้งแต่สิ้นยุคของ พอล แกสคอยน์ (Paul Gascoigne)

     นับจากนั้น 6 เดือน รูนีย์ถูกเรียกตัวติดทีมชาติอังกฤษในยุคของ สเวน โกรัน อีริกส์สัน (Sven Goran Erikssons)

     และหลังจากนั้นไม่ถึง 2 ปี เขากลายเป็นนักเตะที่ถูกต้องการตัวมากที่สุด

     นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ยื่นข้อเสนอ 20 ล้านปอนด์เพื่อแลกกับเจ้าหนูรายนี้ แต่ เอฟเวอร์ตันซึ่งพยายามยื่นข้อเสนอสัญญาใหม่ให้ด้วยเงินมหาศาลถึง 50,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวไป

     แต่เมื่อรูนีย์รู้ว่าเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สโมสรอันดับหนึ่งของประเทศต้องการได้ตัวเขาไปร่วมทีม

     เจ้าหนูก็ทะเยอทะยานมากพอที่จะหักน้ำใจกับสโมสรที่ปลุกปั้นเขามาตั้งแต่ต้นด้วยการขอขึ้นบัญชีย้ายทีมที่กำลังอยู่ในภาวะยากลำบาก และทำให้เอฟเวอร์ตันไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการปล่อยให้สายเลือดของสโมสรที่พวกเขาภาคภูมิใจมากที่สุดต้องจากทีมไปอย่างรวดเร็ว

     ว่ากันว่า บิลล์ เคนไรต์ ถึงกับร้องไห้อย่างหัวใจสลายพร้อมก่นด่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ว่า “พวกมันขโมยเด็กของผมไป”

     อย่างไรก็ดีมันเป็นการตัดสินใจที่รูนีย์ในวัย 18 ปีพอใจ และเขาก็ประสบความสำเร็จอย่างมากดังใจหวังในถิ่นโอลด์แทรฟฟอร์ด

     แชมป์พรีเมียร์ลีก 5 สมัย, ยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีก 1 สมัย, แชมป์สโมสรโลก 1 สมัย และอีกมากมาย

     ไม่นับการทำลายสถิติการทำประตูตลอดกาลของเซอร์บ็อบบี้ ชาร์ลตัน (Sir Bobby Charlton) ที่ยืนยงมายาวนาน 44 ปีนับตั้งแต่ปี 1973

     และเขาก็เป็นคนทำลายสถิติผู้ทำประตูสูงสุดตลอดกาลของชาร์ลตัน ในทีมชาติอังกฤษด้วยเช่นกัน

     ในช่วงระยะเวลาที่ดีที่สุดของเขา รูนีย์เป็นที่ปรารถนาของทุกสโมสรบนโลก

     เขาเคยได้รับการยกย่องว่าจาก ‘เฟอร์กี้’ ว่าเป็น ‘เปเล่ขาว’

     แม้แต่ เปเล่ (Pele) ราชาลูกหนังโลกก็เคยกล่าวยกย่องฝีเท้าของนักเตะอันดับหนึ่งของอังกฤษเช่นกัน

     แต่น่าเสียดายที่ท่ามกลางแสงสกาวของความสำเร็จ รูนีย์กลับพลาดโอกาสที่จะได้รับการยกย่องในฐานะตำนานตลอดกาลผู้ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะในนามของนักเตะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หรือในนามทีมชาติอังกฤษ

     บาดแผลทางใจจากการที่รูนีย์พยายามจะกดดันสโมสรด้วยการขอย้ายทีมถึง 2 ครั้งด้วยเหตุผลว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ‘ขาดความทะเยอทะยาน’ ทำลายความรักและความรู้สึกดีๆ ที่เหล่าสาวกอสูรแดงเคยมีให้ต่อเขาจนสิ้น

     หากยังรักก็ไม่อาจพูดได้ว่าหมดใจ

     ขณะที่กับทีมชาติอังกฤษ เขา – ในฐานะผู้เป็นความหวังสูงสุดของชาติตลอดระยะเวลา 15 กว่าปีที่ผ่านมา – ก็ไม่เคยทำให้ชาวอังกฤษได้สมหวังกับความสำเร็จในเวทีระดับสากล

     ในทางตรงกันข้าม รูนีย์ทำให้แฟนบอล ‘สิงโตคำราม’ ผิดหวังในเวทีใหญ่มาโดยตลอด โดยทัวร์นาเมนต์เดียวที่เขาทำผลงานได้ดีที่สุดคือฟุตบอลยูโร 2004 ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เขากำลังสดและห้าวมากที่สุด

     และในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รูนีย์ค่อยๆ กลายเป็น ‘ส่วนเกิน’ ไม่ว่าจะกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หรือทีมชาติอังกฤษ

     เขาอาจเป็นกัปตันทีมทั้งในระดับสโมสรและทีมชาติอยู่ แต่มันไม่มีค่าอันใดเลยเมื่อเขาไม่ได้รับโอกาสในการลงสนาม หรือหากได้โอกาสก็เป็นเพียง ‘ส่วนประกอบ’ หรือได้ลงสนามเพราะความ ‘เห็นใจ’

     มันทำให้รูนีย์คิดและไต่ตรอง

     บางทีมันถึงเวลาที่เขาต้องออกเดินทางอีกครั้ง

 

 

บ้านและครอบครัว

     ผมไม่แน่ใจนักว่ามันมีน้ำหนักมากพอจะพูดได้ไหมว่า รูนีย์คิดถึงการย้ายกลับมาเอฟเวอร์ตันเสมอ

     แต่อย่างน้อยที่สุดการหวนกลับมาลงสนามในชุดสี Royal Blue ในเกมนัดเทสติโมเนียลแมตช์ของดันแคน เฟอร์กูสัน (Duncan Ferguson) อดีตหัวหอกจ้าวเวหาเมื่อปี 2015 ก็เป็นการแสดงออกให้เห็นว่าเขาเองคิดถึงบ้านหลังนี้เสมอ

     เพียงแต่ด้วยบทบาทและสิ่งที่เคยทำรวมถึงความบาดหมางต่างๆ ทำให้เขา ‘ไม่กล้า’ ที่จะบอกกับใครอย่างชัดเจนว่าเขาคิดถึง

     เขากลัวว่าเหล่าเอฟเวอร์โตเนียนจะไม่ยกโทษให้

     แต่เอาเข้าจริงนอกจากจะไม่มีเสียงโห่ฮาป่าเถื่อนจากทั้ง 4 ทิศของอัฒจันทร์ – หรืออาจจะมีแต่มันก็เบาเกินกว่าจะได้ยิน – รูนีย์ ที่สวมเสื้อหมายเลข 18 ยืนรอเปลี่ยนตัวลงสนามในช่วง 15 นาทีสุดท้าย กลับได้รับเสียงปรบมืออย่างกึกก้องจากแฟนบอลที่ไม่ต่าง       อะไรจากการบอกว่าความผิดในอดีตนั้นได้รับการให้อภัยแล้ว

     มันผ่านไปแล้ว วันเวลาได้เยียวยาความเจ็บปวดจนเบาบางแล้ว

     และสำหรับเอฟเวอร์โตเนียน เขายังเป็นหนึ่งในสมาชิกของ ‘ครอบครัว’ เสมอไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม

     นั่นคือความหมายที่แท้จริงของ Once a Blue, always a Blue ที่เขาเคยโอ้อวดในวัยเยาว์โดยที่ไม่ได้เข้าใจความหมายของมันเลยแม้แต่น้อยในเวลานั้น

     หลังการได้กลับไปกูดิสันพาร์ก ครั้งนั้นผมเชื่อว่ารูนีย์คิดถึงการย้ายกลับมาบ้านหลังเดิมของเขาตลอด

     และเมื่อเขายอมรับว่าเวลาของเขากับแมนฯ ยูไนเต็ด หมดลงแล้วเมื่อฤดูกาลที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะทำลายสถิติของสโมสร แต่มันเป็นฤดูกาลที่เลวร้ายที่สุด เขาก็มองหาที่หมายปลายทางแห่งใหม่ ซึ่ง เอฟเวอร์ตันเป็นหนึ่งในทีมที่เขาคิดถึง

     เมื่อข้อเสนอจากจีนถูกขัดขวางโดยคอลลีน ภรรยาสาวที่ไม่ต้องการพาลูกไปอยู่แดนไกล และข้อเสนออื่นๆ ว่างเปล่าเกินไป

     รูนีย์จึงตัดสินใจที่จะขอกลับบ้านอีกครั้ง โดยแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยินดีเปิดทางให้หลังรับใช้สโมสรมากว่า 13 ปี

     นี่อาจจะเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายในชีวิตของเขา

     กำลังวังชาแข้งขาอาจไม่เหมือนเก่าในวันที่เขาคือความมหัศจรรย์สีน้ำเงิน แต่เขาพร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง และหวังว่าจะทำภารกิจที่ค้างคากับเอฟเวอร์ตันให้สำเร็จ

     นั่นคือการช่วยนำสโมสรให้กลับมาเป็นทีมที่ยิ่งใหญ่เหมือนในยุค 80s อีกครั้ง

     เพื่อเป็นการปิดตำนานของเขาในฐานะนักเตะที่ยิ่งใหญ่แห่งยุคอย่างแท้จริง

FYI
  • Once a Blue, always a Blue เป็นข้อความบนเสื้อยืดของรูนีย์ ที่ถูกโชว์หลังเขาทำประตูได้ในเกม เอฟเอ ยูธ คัพ นัดชิงชนะเลิศ ที่พบกับ แอสตัน วิลล่า เมื่อปี 2002 และกลายเป็นข้อความที่คนหยิบมา ‘ถล่ม’ เขามากที่สุด
  • รูนีย์เปิดเผยหลังการเซ็นสัญญา 2 ปีกับเอฟเวอร์ตัน ว่าตลอด 13 ปีที่ผ่านมาเขาใส่ชุดนอนเอฟเวอร์ตันทุกคืน
  • ‘มาร์ก’ คือชื่อกลางของเขา เวย์น มาร์ก รูนีย์ (Wayne Mark Rooney)
  • ก่อนที่ บ็อบ เพดเดิลตัน จะดึงรูนีย์เข้าสังกัดเอฟเวอร์ตันได้ เจ้าหนูรายนี้ทำไป 99 ประตูในฤดูกาลเดียว
  • ในวัย 11 ปี รูนีย์เคยเป็นมาสคอตในเกมเมอร์ซีย์ไซด์ดาร์บี ระหว่าง เอฟเวอร์ตัน และ ลิเวอร์พูล
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising