ความพยายามในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นบนยอดภูกระดึงมีมานานกว่า 30 ปีแล้ว แต่ทุกครั้งก็เงียบหายไป
วันนี้รัฐบาลได้มีแนวคิดสนับสนุนให้เกิดขึ้นอีก โดยมีเสียงตอบรับจากคนทั่วไปจำนวนมาก เช่น หอการค้าจังหวัดเลย นักการเมือง คนในพื้นที่ และประชาชนทั่วไป
ด้วยเหตุผลคือ เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจในตัวจังหวัดเลย ความสะดวกในการเดินทาง จนดูเหมือนเสียงคัดค้านจากผู้รักธรรมชาติจะกลายเป็นเสียงส่วนน้อยมากขึ้นเรื่อยๆ
อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศไทย เนื่องจากมีธรรมชาติที่สวยงาม มีเอกลักษณ์เป็นพิเศษ และเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่สอง เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2502 รองจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ต่อมาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกอาเซียนแห่งที่ 57
ก่อนคิดจะสร้างกระเช้า ลองพิจารณาข้อเท็จจริงต่อไปนี้
1. ปริมาณนักท่องเที่ยว
ทุกวันนี้อุทยานแห่งชาติภูกระดึงมีนักท่องเที่ยวแต่ละปีประมาณ 60,000-80,000 คน และในช่วงเปิดฤดูท่องเที่ยวอนุญาตให้ขึ้นได้ มีการจำกัดนักท่องเที่ยวไม่เกินวันละประมาณ 2,000 คน แต่หากมีการสร้างกระเช้าไฟฟ้า จากผลรายงานการศึกษาพบว่า จะสามารถขนผู้โดยสารได้วันละ 7,200 คนในวันหยุด และ 4,800 คนในวันธรรมดา หรือปีละประมาณไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน เพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุนก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้ามูลค่าพันกว่าล้านบาท
2. ความสามารถของธรรมชาติในการรองรับนักท่องเที่ยว
ทุกปีในช่วงฤดูฝน อุทยานแห่งชาติภูกระดึงจะปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวขึ้นประมาณ 4 เดือน เพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟูเยียวยา เพราะทุกวันนี้ลำพังแค่นักท่องเที่ยวหลักหมื่น ระบบนิเวศก็ฟื้นตัวได้ช้า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็เคยประเมินว่าภูกระดึงสามารถรองรับนักท่องเที่ยวแต่ละปีได้ประมาณนี้ หากปริมาณนักท่องเที่ยวปีละล้านกว่าคน ระบบนิเวศอันสลับซับซ้อนบนภูกระดึงจะฟื้นตัวช้า สัตว์ป่าและพันธุ์พืชหายากหลายชนิดอาจจะหายไป
พื้นที่บริการนักท่องเที่ยวบนยอดภูกระดึงคือที่ราบหลังแป เป็นพื้นที่ราบกว้างใหญ่นับสิบตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า หากขาดการควบคุมดูแลหรือขาดการจัดการนักท่องเที่ยวที่ดีพอ หรือมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปใช้พื้นที่เป็นจำนวนมากจนไม่สามารถควบคุมได้จะรบกวนถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ย่อมส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าและระบบนิเวศ รวมถึงอันตรายจากการถูกสัตว์ป่าทำร้ายย่อมเกิดขึ้นด้วย
3. ภูกระดึงได้รับเลือกให้เป็น ‘อุทยานมรดกอาเซียน’
มีระบบนิเวศหลากหลาย เป็นพื้นที่พิเศษ มีพืชหลายชนิดที่เป็นพืชเฉพาะถิ่น ลักษณะโดดเด่นของอุทยานแห่งชาติภูกระดึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชพันธุ์หายาก เช่น หญ้าดอกลำโพง ผักชีภูกระดึง กุหลาบขาว กุหลาบแดง รวมทั้งมีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เช่น เลียงผา ลิ่นชวา เต่าเหลือง ค่างแว่นถิ่นเหนือ ชะนีมือขาว โดยอุทยานแห่งชาติภูกระดึงมีลักษณะเป็นภูเขาหินทรายยอดตัดที่มีลักษณะโดดเด่นเพียงหนึ่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นโดยสภาพภูมิประเทศและระบบนิเวศอันบอบบาง จึงสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้จำนวนจำกัด
4. ความกว้างใหญ่ของพื้นที่
ที่ราบบนยอดภูกระดึงมีพื้นที่ป่าประมาณ 37,500 ไร่ เมื่อกระเช้าไฟฟ้านำนักท่องเที่ยวขึ้นถึงยอดภูกระดึงแล้ว สถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่งกระจายอยู่ทั่ว มีระยะทางห่างไกลกันหลายกิโลเมตร อาจต้องใช้เวลาเดินทางพอสมควร ในอนาคตเมื่อปริมาณนักท่องเที่ยวสูงมากขึ้น อาจจะมีการเรียกร้องให้ก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น เพื่อเข้าถึงสถานที่งดงามหลายแห่งที่อยู่ห่างไกลได้ในเวลาอันรวดเร็ว อาทิ ถนนลาดยาง และอาจเรียกร้องให้มีรถรับ-ส่งตามจุดท่องเที่ยว
5. กระเช้าไฟฟ้าก็เหมือนถนนที่ตัดเข้าไปในป่า
เมื่อมีความสะดวกมากขึ้น ปริมาณผู้คนมากขึ้น ร้านอาหาร ร้านค้า สถานที่พัก ห้องน้ำ สิ่งอำนวยความสะดวกก็จะเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ปัญหาหลายอย่างก็จะติดตามมา เช่น ปริมาณความต้องการน้ำดื่ม น้ำใช้ กระแสไฟฟ้า และปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศบนยอดภูกระดึง
6. การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว
อุทยานและสถานที่ทางธรรมชาติหลายแห่งมีความบอบบางทางระบบนิเวศ การจำกัดจำนวนนักเดินทางเป็นเรื่องที่ต้องกระทำ เช่นเดียวกับในต่างประเทศหลายแห่งที่มีการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นไปบนภูเขาสูง เพื่อให้คนได้ท่องเที่ยวสัมผัสธรรมชาติ แต่หากเป็นพื้นที่ธรรมชาติที่มีความบอบบางทางระบบนิเวศเป็นพิเศษจะห่างไกลจากกระเช้าไฟฟ้า
อันที่จริงการเดินทางขึ้นภูกระดึงก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นขนาดเป็นไปไม่ได้ แต่หากเราอยากจะไปสัมผัสความงดงามทางธรรมชาติบนภูกระดึง ก็ควรต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนการเดินทาง ระยะทาง 9 กิโลเมตร แม้จะเหนื่อยแต่ก็เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดี ผู้เขียนเคยเห็นเด็กตัวน้อย คนชราวัย 70-80 ปี ค่อยๆ เดินขึ้นภูกระดึงจนสำเร็จมามากมายแล้ว
7. ประเภทของนักท่องเที่ยว
ภูกระดึงอาจจะไม่เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบความสะดวกสบาย มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ มีกระเช้าไฟฟ้าขึ้นถึง มีรถยนต์นำไปถึงจุดท่องเที่ยว เพื่อขึ้นมาถ่ายรูปเซลฟี หาจุดเช็กอิน จิบกาแฟ แต่อาจจะเหมาะสำหรับผู้ต้องการสัมผัสธรรมชาติจริงๆ และยอมเหนื่อยกาย เพื่อจะสัมผัสสิ่งงดงามเบื้องหน้าได้
ภูกระดึงคือสถานที่ที่มีเอกลักษณ์ของตัวเองซึ่งไม่เหมือนใคร เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ใครจะมาสัมผัส ต้องยอมแลกกับความเหนื่อยล้าและความอดทน
8. ระบบและแผนการจัดการ
คนส่วนหนึ่งมักจะพูดว่า การดูแลธรรมชาติบนภูกระดึง ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวกระเช้าไฟฟ้าหรือปริมาณนักท่องเที่ยว แต่อยู่ที่ระบบและแผนการจัดการมากกว่าว่าหากมีการจัดการได้ดีจะไม่ทำให้ธรรมชาติเสียหาย ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยทุกประการ
แต่ทุกวันนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติแห่งใดในประเทศนี้ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า คนไทยสามารถมีระบบการจัดการที่ดีและนักท่องเที่ยวให้ความร่วมมือในกฎระเบียบเป็นอย่างดีเหมือนหลายประเทศในยุโรป ก่อนจะขนผู้คนจำนวนมากขึ้นไปบนภูกระดึงที่มีความบอบบางทางธรรมชาติสูงมาก
ที่ผ่านมาสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติส่วนใหญ่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแผนการจัดการเกือบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแผนการลดขยะ แผนดูแลสิ่งแวดล้อม แผนจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยว แผนดูแลระบบนิเวศ ฯลฯ แต่ส่วนใหญ่เป็นแค่แผนที่ถูกเก็บไว้ในแฟ้มเอกสาร แต่ไม่เคยนำมาปฏิบัติได้อย่างจริงจัง
9. ทางเลือกสุดท้าย
อยู่ที่ว่าเรามองอนาคตของอุทยานแห่งชาติภูกระดึงแบบใด จะจัดการกับแหล่งธรรมชาตินี้อย่างไร จะดูแลรักษาธรรมชาติแห่งนี้ไว้ให้อยู่รอดไปถึงชั่วลูกหลาน หรือคิดเพียงว่าภูกระดึงเป็นแค่แหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่สร้างรายได้มหาศาล พร้อมเปลี่ยนพื้นที่ธรรมชาติที่มีความพิเศษให้กลายเป็นการรองรับการบริการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบในอนาคต เรามีสิทธิ์เลือกครับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- พวงเพ็ชรแจง กระเช้าขึ้นภูกระดึง ประชาชนในพื้นที่อยากได้ แต่ต้องระวังผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
- ครม. สัญจรยังไม่พิจารณา ‘กระเช้าขึ้นภูกระดึง’ ด้านพวงเพ็ชรไม่กล้าบอกเสร็จทันรัฐบาลนี้หรือไม่