หนังเรื่อง Past Lives ผลงานกำกับเรื่องแรกของ Celine Song คนทำหนังแคนาดา-เกาหลี เปิดเรื่องด้วยฉากที่ทั้งกระตุ้นและยั่วเย้าความฉงนสนเท่ห์ ตลอดจนพฤติกรรมสอดรู้สอดเห็นของคนดูได้ฉลาด หรือแม้กระทั่งเจ้าเล่ห์แสนกล
ภาพขนาดปานกลางของคนสามคนนั่งอยู่ที่เคาน์เตอร์ของร้านเหล้าแห่งหนึ่งในนิวยอร์กช่วงราวๆ ตีสี่ เสียงสนทนาแบบ Off-Screen ของใครก็ไม่รู้สองคนซึ่งแอบมองตัวละครทั้งสาม พยายามประเมินและคาดเดาความเกี่ยวข้องของพวกเขา ซึ่งประกอบด้วยหญิงหนึ่ง ชายสอง และสองในสามเป็นคนเอเชีย ทำนองว่า ใครน่าจะเป็นแฟนกับใคร อีกคนไปนั่งอยู่ตรงนั้นในฐานะอะไร เป็นไกด์ทัวร์ใช่หรือไม่ หรือว่าทั้งหมดเป็นเพื่อนร่วมงาน
ว่าไปแล้วเสียง Off-Screen นั้นก็คือเสียงของคนดูนั่นเอง และคนทำหนังเพียงแค่อำนวยความสะดวกด้วยการตั้งคำถามที่น่าจะผุดขึ้นในห้วงคำนึงของพวกเราแน่ๆ เท่านั้น
ความแยบยลของการเลือกเปิดเรื่องแบบนี้ก็คือ เมื่อฉากนี้หวนกลับมาเล่นซ้ำอีกครั้งช่วงท้าย (และโดยไม่มีเสียงนอกจออีกแล้ว) และคนดูไม่ได้อยู่ในความลึกลับดำมืดอีกต่อไป นี่เป็นห้วงเวลาที่ทั้งกระอักกระอ่วน ขมขื่น เศร้าสร้อย กลืนไม่เข้าคายไม่ออก หรือแม้แต่ชวนให้ดำดิ่งในความมืดมนอนธการ
ตามเนื้อผ้า Past Lives เป็นหนังโรแมนติกดราม่าที่โยงใยอยู่กับความสัมพันธ์แบบสามเส้า และคุณสมบัติร่วมประการหนึ่งที่หนังของ Celine Song มีเหมือนกับหนังรักขึ้นหิ้งเรื่อง Brief Encounter ของ David Lean, In the Mood for Love ของ Wong Kar-wai, Carol ของ Todd Haynes และรวมถึง Eternal Sunshine of Spotless Mind (ซึ่งตัวละครใน Past Lives เอ่ยถึง) ของ Michel Gondry ก็คือการที่มันไม่ใช่หนังประเภทที่หลงละเมอเพ้อพกอยู่แต่กับเรื่องรักๆ ใคร่ๆ จนกระทั่งหันหลังหรือเพิกเฉยต่อการมีอยู่ของโลกความเป็นจริง ข้อสำคัญ มันถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตัวละครที่คนดูสัมผัสได้ถึงเลือดเนื้อตลอดจนความเป็นมนุษย์ที่รู้สึกรู้สม รู้ร้อนรู้หนาว และอ่อนไหว
เพราะเหตุนี้เอง ชีวิตของ Nora (Greta Lee ในบทบาทการแสดงที่ตราตรึง) จึงไม่ได้ว่างเปล่าและเฝ้าคอยความรักมาเติมเต็มเหมือนหนังประโลมโลกนับไม่ถ้วน ตรงกันข้าม ตัวละครนี้ผู้ซึ่งสืบสาวราวเรื่องแล้วก็ชวนให้สรุปได้ว่าเธอก็คือร่างทรงของผู้กำกับนั่นเอง (ทั้งในแง่การอพยพถิ่นฐานช่วงวัยเด็ก ความสนใจเรื่องการขีดเขียน) เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและทะเยอทะยานในงานอาชีพ ความใฝ่ฝันตอนเล็กๆ ของเธอก็คือการเป็นชาวเกาหลีคนแรกที่ชนะรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม และเมื่อหนังพาคนดูกระโดดข้ามกาลเวลาไปอีก 12 ปี เข็มทิศชีวิตของตัวละครในเรื่องดังกล่าวก็ไม่ได้เบี่ยงเบนจากเป้าที่เจ้าตัวเล็งไว้ตอนแรกเท่าไรนัก และไม่ว่าความมุ่งมาดปรารถนาของ Nora จะได้แก่การชนะรางวัลโนเบล, พูลิตเซอร์ หรือโทนี อย่างหนึ่งที่แน่ๆ ก็คือ ความรักแทบจะไม่ใช่สารตั้งต้นในการดิ้นรนกระเสือกกระสนของตัวละคร
ไม่ว่าจะด้วยเหตุนี้หรือไม่อย่างไร ประมวลจากที่หนังนำเสนอ ชีวิตแต่งงานของเธอกับ Arthur (John Magaro) สามีนักเขียนชาวอเมริกัน แทบจะไม่มีอะไรที่ดูหวือหวาหรือดูดดื่มหวานซึ้งเอาซะเลย ว่ากันตามจริง ทั้งหมดทั้งมวลเกิดขึ้นเพียงเพราะสถานการณ์เอื้ออำนวย ทั้งเรื่องการพบเจอกันในโครงการนักเขียน นอนด้วยกันเพราะต่างก็เป็นคนโสดและไม่มีใคร ย้ายมาอยู่ด้วยกันเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในอพาร์ตเมนต์ขนาดรังหนู อยู่กินในฐานะสามีภรรยาอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อว่า Nora จะได้ใบเขียว ซึ่งจะช่วยให้เธอวิ่งไล่ไขว่คว้าตามความฝันของตัวเองในเมืองนิวยอร์กได้ง่ายดายขึ้น
คำถามในเชิงสมมติ (หรือ What If) ที่เรียบง่ายแต่ลึกๆ แล้วสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นของ Arthur ต่อ Nora ในฉากที่ทั้งสองพูดคุยกันบนเตียงนอน ทำนองว่า ถ้าหาก Nora พบเจอคนอื่นแทนที่จะเป็นเขาเมื่อครั้งกระนั้น คนที่นอนข้างๆ หญิงสาว ณ ตอนนี้จะเป็นอีกคนใช่หรือไม่ และไม่ว่า Nora จะตอบข้อสงสัยนี้อย่างไร สิ่งที่มองเห็นโทนโท่ก็เป็นอย่างที่กล่าวถึงก่อนหน้า ความสัมพันธ์ของทั้งสองคนเป็นเรื่องของความประจวบเหมาะของสถานการณ์ และมีโอกาสสูงมากถ้าหาก ‘ทฤษฎีความน่าจะเป็น’ หันเหไปอีกทาง ระหว่าง Nora กับ Arthur ก็คงจะเป็นคนแปลกหน้าต่อกันไปตลอดกาล
แต่ก็นั่นแหละ ดูเหมือนคนทำหนังสื่อสารโดยอ้อมว่าหลักคิดแบบนี้ประยุกต์ใช้กับเรื่องของ Nora กับ Hae Sung (Teo Yoo) ไม่ได้ และพวกเราคนดูอยู่ในฐานะประจักษ์พยานความสัมพันธ์ของทั้งสองคนที่ครอบคลุมเวลาเนิ่นนานถึง 24 ปี หรือตั้งแต่ทั้งสองยังเยาว์วัย มองในแง่มุมหนึ่ง โอกาสที่เด็กหญิงและเด็กชายที่ครั้งหนึ่งเคยสนิทสนมแนบแน่นจะได้กลับมาพบหน้าค่าตากันอีกครั้ง หลังจากพลัดพรากกันไปแบบข้ามทวีป (เพราะพ่อแม่ของ Nora โยกย้ายถิ่นฐาน) ก็เป็นเรื่องริบหรี่เต็มทน
ขณะที่การตามหากันจนเจอของทั้งสองคนในช่วงที่พวกเขาโตเป็นหนุ่มสาว ส่วนหนึ่งอาจเกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี แต่คนทำหนังก็อุตส่าห์เว้นพื้นที่ไว้เพื่ออธิบายถึง ‘ความเป็นไปได้อันน้อยนิด’ นี้ทำนองว่ามันคือสิ่งที่คนเกาหลีเรียกว่า In-Yun ซึ่งบ้านเราคงเรียกอย่างกว้างๆ ว่าพรหมลิขิตหรือชะตาชีวิต และไม่ว่าสิ่งที่เรียกว่า In-Yun หรือพรหมลิขิตจะมีอยู่จริงหรือไม่อย่างไร ใช่หรือไม่ว่าความเชื่อเรื่องพลังอำนาจที่อยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ตัวเล็กๆ เป็นเสมือนหนทางที่คนในสังคมตะวันออกมักใช้ Make Sense หรือทำความเข้าใจความลี้ลับและเป็นปริศนาของชีวิต
ส่วนที่ต้องปรบมือดังๆ ให้กับคนทำหนังก็ตรงที่ Celine Song นำเสนอแง่มุมเหล่านี้ได้อย่างไม่หลงละเมอหรืองมงาย กระทั่งนำเอาความเชื่อแบบโบราณมาผสมผสานกับความเป็นไปของโลกสมัยใหม่ได้แนบเนียนและกลมกลืน แต่ประเด็นความเชื่อเรื่องคนเราเชื่อมโยงกัน เนื่องเพราะบางช่วงหรือหลายช่วงของชีวิตในอดีตเคยคาบเกี่ยวและทับซ้อนกันก็ส่วนหนึ่ง อีกแง่มุมที่คนทำหนังชวนคนดูสำรวจจริงๆ ก็ตรงตามชื่อหนังนั่นเอง
หรือพูดอย่างรวบรัด หนังเรื่อง Past Lives บอกเล่าการเดินทางทางจิตวิญญาณของ Nora ผู้ซึ่งจริงๆ แล้ว การได้พบปะพูดคุยกับ ‘หวานใจช่วงวัยเยาว์’ อีกครั้งไม่ได้นำไปสู่การคุ้ยเขี่ยถ่านไฟเก่าให้คุโชนอย่างมีนัยสำคัญ ทว่ามันเปิดโอกาสให้ตัวละครได้ทบทวนชีวิตแต่หนหลังของตัวเอง และเจ้าตัวก็ตกผลึกในแง่ที่ว่าเธอไม่ใช่ ‘เด็กหญิงอายุ 12 ขวบ ขี้แย’ คนนั้นอีกแล้ว เพราะโลกความเป็นจริงหยิบยื่นบทเรียนสำคัญว่าเธอไม่สามารถร่ำร้องเรียกหาความเห็นอกเห็นใจจากคนใกล้ตัวทุกครั้งที่ต้องการ และทีละน้อย เด็กหญิง 12 ขวบคนนั้นก็หายสาบสูญไป มองในแง่หนึ่ง การที่ Nora ได้พบเจอกับ Hae Song ก็ช่วยให้เธอได้ต่อติดกับเด็กหญิงคนนั้นอีกครั้ง หรืออย่างน้อยก็ได้รับรู้ว่าสาวน้อยคนนั้นอยู่แห่งหนใดในอดีตกาลอันไกลโพ้น และไม่มากไม่น้อย ประเด็นการสำรวจสิ่งที่เรียกว่า ‘ชาติปางก่อน’ ก็กลายเป็นแง่มุมที่คนดูรู้สึกมีส่วนร่วมได้โดยอัตโนมัติ
แต่ส่วนที่น่าทึ่งจริงๆ ก็คือ ทั้งๆ ที่ Past Lives บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์สามเส้าที่มองผิวเผินแล้วแทบไม่หลงเหลือพื้นที่ที่ไม่เคยถูกเหยียบย่ำมาก่อน แต่สุดท้ายแล้ว มันกลับเป็นหนังที่พูดได้เต็มปากเต็มคำว่า Original มากๆ หรืออีกนัยหนึ่ง สะท้อนความเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร ทั้งประเด็นละเอียดและอ่อนไหวที่คนทำหนังหยิบยื่นดังที่เอ่ยข้างต้น รวมไปถึงกลวิธีการบอกเล่าที่เต็มเปี่ยมไปด้วยรสนิยม อันได้แก่กลไกทางด้านภาพ การออกแบบเสียง ดนตรีประกอบ ไปจนถึงการแสดงของนักแสดง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล ต้องยกความดีความชอบให้กับผู้กำกับในแง่ที่รายละเอียดน้อยใหญ่เหล่านั้น ที่นอกจากไม่เรียกร้องความสนใจในตัวเอง ยังทำงานกับอารมณ์ความรู้สึกของคนดูอย่างสอดประสานและเป็นอันหนึ่งเดียวกัน
หนึ่งในฉากสำคัญและน่าจดจำที่สุดของหนัง และผู้ชมสัมผัสได้ถึงความพิเศษของห้วงเวลานั้น ก็คือตอนที่ Hae Song ได้พบกับ Nora ตัวเป็นๆ ครั้งแรกหลังจากเวลาผ่านพ้นไป 20 กว่าปี มันเป็นฉากที่ระคนอารมณ์ความรู้สึกหลากหลายซึ่งประดังเข้ามาพร้อมกัน ทั้งความกระสับกระส่ายและตื่นเต้นเพราะต่างก็ไม่ได้เจอกันมาแสนนาน ความเก้อเขิน ความปีติยินดี ทำนองว่าจนแล้วจนรอดต่างฝ่ายก็ยังคงหลงเหลือความเป็น ‘ใครคนนั้น’ ที่พวกเขารู้จักคุ้นเคย จนถึงความรู้สึกไม่อยากจะเชื่อว่านี่เกิดขึ้นจริง ประมาณว่านี่เป็นแค่ความฝันใช่หรือไม่ และในช่วงเวลาสั้นๆ ตรงนั้นเอง มันดูประหนึ่งว่าทุกสิ่งทุกอย่างรอบข้างก็ไม่มีความหมาย และโลกใบนี้มีเพียงพวกเขาเพียงสองคน
ไม่น่าเชื่อว่า Past Lives เป็นผลงานเรื่องแรกของ Celine Song เพราะมันดูเหมือนเป็นหนังที่ผู้สร้างบอกเล่าด้วยความคล่องแคล่วและเชื่อมั่นอย่างคนที่คร่ำหวอดประสบการณ์ แต่ในมุมกลับกัน มันก็เป็นหนังที่แฝงไว้ด้วยความรู้สึกสดใหม่ เสน่ห์ดึงดูด ความมีชีวิตชีวา หรือแม้กระทั่งห้วงเวลาที่น่าพิศวงงงงวย ข้อสำคัญ ในความเป็นหนังที่พูดถึงเรื่องจำเพาะของคนสามคน ตัวหนังช่วยขยับขยายให้คนดูได้ครุ่นคิดอย่างจริงๆ จังๆ ถึงตัวเราในบางแง่มุมที่นึกไม่ถึงหรืออาจจะหลงลืม รวมทั้งในบางจังหวะและเวลา Past Lives ก็เป็นเหมือนกับโอบกอดของใครสักคนที่ช่วยปลอบโยนพวกเราคนดูจากความเป็นไปของชีวิตที่ช่างไม่น่ารื่นรมย์
Past Lives (2023)
กำกับ: Celine Song
ผู้แสดง: Greta Lee, Teo Yoo, John Magaro
ภาพ: A24