×

‘เวอร์ไปไหม?…ลุควัยรุ่นแม่ฮ่องสอน’ ความนัยภายใต้เสื้อผ้าตัวละครวิมานหนาม

28.08.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • ผู้เขียนยอมรับว่าครั้งแรกที่ได้ดูเทรลเลอร์ของ วิมานหนาม ก็รู้สึกขัดใจกับลุคของทองคำที่ดูล้ำเกินหน้าเกินตาวัยรุ่นแม่ฮ่องสอนไปมาก หรือแม้กระทั่งตอนภาพยนตร์ฉายก็มีหลายเสียงไม่เข้าใจสไตล์ล้ำๆ ของเขา แต่ถ้าลองละเลียดดูในรายละเอียดจะพบว่าทีมเสื้อผ้าทำการบ้านมาอย่างดี จนทำหน้าที่ขับเคลื่อนประเด็นหลักของเรื่องได้อย่างสมบูรณ์แบบโดยไม่ต้องอาศัยคำพูดแม้แต่คำเดียว
  • พื้นเพของตัวละครทองคำคือเป็นคนเชียงใหม่ โดยพื้นฐานทั้งจากความเป็นเกย์และนิสัยส่วนตัว ทองคำเป็นคนชอบแต่งตัว ถ้าอยากเปรี้ยว อยากคูล เสื้อผ้าที่หาได้ก็คือของตามตลาดนัดและเสื้อผ้าบริจาคมือสอง ถ้าสังเกตดีๆ แจ็กเก็ตแสนเก๋ที่เห็นในเรื่อง ในรายละเอียดจะมีรอยแตกหรือไม่ก็เก่ามอซอ เพราะซื้อมาจากตลาดมือสองที่มีอยู่มากมายในเชียงใหม่ ส่วนถ้าใหม่หน่อยก็คัตติ้งและดีไซน์งงๆ อย่างเช่น กางเกงตัวโปรดของทองคำ

 

หลังจากเข้าฉายเพียงไม่กี่วัน ภาพยนตร์เรื่อง วิมานหนาม ก็ได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม ทั้งในด้านการแสดงของ 4 นักแสดงหลักทั้ง เจฟ ซาเตอร์, อิงฟ้า วราหะ, สีดา พัวพิมล และ เก่ง-หฤษฎ์ บัวย้อย รวมทั้งบทภาพยนตร์ที่สอดแทรกประเด็นความเหลื่อมล้ำไว้อย่างเฉียบคม จนกลายเป็นผลงานดราม่าฉบับบ้านๆ ที่ทำให้นึกถึงผลงานเก่าๆ ของผู้กำกับชั้นครูอย่าง วิจิตร คุณาวุฒิ, ชนะ คราประยูร, บัณฑิต ฤทธิ์ถกล และ พิศาล อัครเศรณี ฯลฯ ในเวอร์ชันสะท้อนชีวิตจริงของสังคมไทยสมัยใหม่ในต่างจังหวัด

 

แต่อีกส่วนหนึ่งที่ต้องชื่นชม วิมานหนาม ก็คือ งานโปรดักชันที่วางไดเรกชันมาอย่างดี ทั้งงานด้านภาพ แสง และสี ที่สอดรับไปด้วยกัน เริ่มตั้งแต่มุมกล้องที่ทำหน้าที่ขยายความหมายให้ตัวละคร ผนวกเข้ากับงานด้านแสงที่เบื้องหลังผ่านการปรุงแต่งอย่างละเมียดละไม จนได้แสงเลียนแบบธรรมชาติที่เป็นงานยากขั้นสุดเพื่อให้สมจริง และงานด้านสีกับการเนรมิตให้บ้านและสวนทุเรียนเป็นเหมือนวิมานผสมผสานทั้งความเหมือนจริงและเหนือจริงเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งๆ ที่สีหลักคือสีน้ำตาล เขียว และฟ้า ทว่าหยอดสีสันอันจัดจ้านผ่านข้าวของเครื่องใช้และสไตล์การแต่งตัวที่ ‘ล้ำเกิน’ ของ ทองคำ (เจฟ ซาเตอร์)

 

 

ผู้เขียนยอมรับว่าครั้งแรกที่ได้ดูเทรลเลอร์ของ วิมานหนาม ก็รู้สึกขัดใจกับลุคของทองคำที่ดูล้ำเกินหน้าเกินตาวัยรุ่นแม่ฮ่องสอนไปมาก หรือแม้กระทั่งตอนภาพยนตร์ฉายก็มีหลายเสียงไม่เข้าใจสไตล์ล้ำๆ ของเขา แต่ถ้าลองละเลียดดูในรายละเอียดจะพบว่าทีมเสื้อผ้าทำการบ้านมาอย่างดี จนทำหน้าที่ขับเคลื่อนประเด็นหลักของเรื่องได้อย่างสมบูรณ์แบบโดยไม่ต้องอาศัยคำพูดแม้แต่คำเดียว

 

บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ 

 


 

 

ทองคำ โดดเด่นแบบเกย์ต่างจังหวัดด้วยทรัพยากรอันจำกัด

 

ก่อนอื่นคงต้องว่ากันที่พื้นเพของตัวละครทองคำคือเป็นคนเชียงใหม่และย้ายมาทำสวนทุเรียนอยู่แม่ฮ่องสอนกับ เสก (เต้ย-พงศกร เมตตาริกานนท์) ซึ่งก็จะมีความเป็นคนเมือง รวมทั้งมีแม่ไปขายแรงงานในต่างประเทศ ก็จะคุ้นชินกับวัฒนธรรมป๊อปมากกว่า โดยพื้นฐานทั้งจากความเป็นเกย์และนิสัยส่วนตัว ทองคำเป็นคนชอบแต่งตัว ถ้าอยากเปรี้ยว อยากคูล เสื้อผ้าที่หาได้ก็คือของตามตลาดนัดและเสื้อผ้าบริจาคมือสอง

 

 

ขณะที่เรื่องเทสต์แฟชั่น การมิกซ์แอนด์แมตช์ต่างๆ ก็เน้น ‘การถม’ เลือกชิ้นที่เด่นที่สุดในร้านเอามาใส่รวมกัน จนสไตล์ดูล้นๆ เกินๆ ไม่ค่อยเข้ากัน และมักจะจัดเต็มทุกครั้งที่มีโอกาส จนไม่เหมาะกับกาลเทศะ เช่น ลุคในงานศพของเสก แจ็กเก็ตที่ใส่พาเสกไปโรงพยาบาล ชุดไหว้พระกับ จิ่งนะ (เก่ง-หฤษฎ์ บัวย้อย) หรือสไตล์การแต่งตัวตอนพา แม่แสง (สีดา พัวพิมล) ไปทำกายภาพ 

 

ใน วิมานหนาม ทองคำเป็นฝ่ายหาเงินมาให้เสกไถ่ถอนที่ดินติดจำนอง และช่วยทำสวนบ้าง แต่หลักๆ คือเสก จนกระทั่งเสกเสียชีวิต ทองคำก็ต้องมาทำสวนแบบจริงๆ จังๆ ทั้งๆ ที่ไม่อยากทำ แต่ในเมื่อเลือกไม่ได้ ก็ขอเลือกเสื้อผ้าที่ใส่แล้วดูดี ให้ตัวเองมีความสุข กลายเป็นเสื้อผ้าสีสันฉูดฉาดแบบไม่อิงทฤษฎีคู่สีใดๆ และความคล่องตัวในการทำสวนเลย

 

 

แม่แสงลอกคราบความยากจนด้วยสีสัน 

 

บทแม่แสงคือ Mastermind ของเรื่อง เป็นผู้เล่นที่แทบไม่ต้องลงไปเล่นเกมด้วยตัวเองเลย แต่ความเป็นชายของเสกแลกกับ ‘ความรัก’ ของเกย์และผู้หญิง สำหรับสองแม่ลูกแล้ว ความรักนี้เท่ากับความอยู่รอดก็เท่านั้น

 

ในช่วงแรกแม่แสงอยู่ในคราบของหญิงชราผู้น่าสงสาร อาศัยอยู่ในกระท่อมปลายดอย ประโยชน์ของเสื้อผ้าที่สวมใส่คือไว้กันหนาว อาจจะมีลวดลาย แต่ส่วนใหญ่ก็สีสันทึมๆ จนได้ย้ายเข้ามาอยู่ในสวนทุเรียน ซึ่งในช่วงแรกก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่ จนกระทั่งชนะคดีคาแรกเตอร์ของแม่แสงก็เปลี่ยนไป ที่เห็นได้ชัดคือฉากที่ทองคำเข้าไปกราบขอขมา แน่นอนว่าก็ต้องเริ่มมีเงินมีทองซื้อเสื้อผ้าใหม่ และอีกสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปคือการเลือกสีสันสดใสให้โดดเด่นสมฐานะใหม่

 

 

ดอกไม้ ดวงดาว และรองพื้นผิดเบอร์ของโหม๋

 

ใน วิมานหนาม โหม๋ (อิงฟ้า วราหะ) คือตัวละครที่มีพัฒนาการมากที่สุด และสะท้อนออกมาผ่านการแต่งตัวอย่างชัดเจน โหม๋คือสาวชาวดอยทำไร่กะหล่ำปลี เสื้อผ้าที่สวมใส่ก็คือเสื้อผ้าบริจาค อย่างไรก็ตาม โหม๋แทบไม่ได้ใส่เสื้อผ้าสีพื้นเลย จะมีลวดลายการ์ตูน ดอกไม้ รูปดวงดาว มันสะท้อนว่าผู้หญิงคนนี้มีความฝัน อยากโดดเด่น อยากมีชีวิตที่ดี ถึงจะมีแค่เสื้อผ้าบริจาคก็ขอเลือกหน่อยแล้วกัน

 

พอโหม๋เข้าเมืองการแต่งตัวก็เปลี่ยนไป เริ่มมีแอ็กเซสซอรี ใส่กางเกงขาสั้นนอนเหมือนสาวๆ ชาวเมือง เริ่มซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆ อาจจะอิงจารีตเดิมอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเวอร์ชันอัปเกรดแล้ว และอีกสิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือ โหม๋แต่งตัวเกินวัยและมีความคล้ายกับแม่แสง เพราะโลกของโหม๋มีแค่แม่แสงคนเดียว เสื้อบางตัวคือแม่แสงมอบให้ จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ สุดท้ายโหม๋ก็มีแม่แสงเป็นแบบอย่างแม้กระทั่งการแต่งตัว

 

 

อีกส่วนหนึ่งที่ชอบมากๆ คือรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในงานบั้งไฟ อย่างที่เห็นกันว่าโหม๋หน้าขาวลอยเด้งเพราะใช้รองพื้นผิดเบอร์ สะท้อนความอยากสวย อยากดูดี แต่ทำไม่เป็น แถมร้านสะดวกซื้อก็มีแป้งให้เลือกอยู่ไม่กี่เบอร์ด้วยสิ

 

บ่อยครั้งที่ภาพยนตร์และละครไทยผลิตซ้ำภาพชีวิตในชนบทว่าต้องใส่ชุดพื้นบ้านลายดอก เสื้อม่อฮ่อม สวมงอบ ทำไร่ทำนา แต่ทว่าในชีวิตจริงเราจะเห็นคนใส่ก็เฉพาะในวันสงกรานต์หรือลอยกระทง เสื้อผ้าบริจาคจากหลายแหล่งต่างหากที่พวกเขาเข้าถึงได้ และอาศัยการหยิบจับมาผสมๆ กัน นี่แหละคือชีวิตจริง

 

 

นอกจากผลงานด้านภาพและเครื่องแต่งกายแล้ว ดนตรีและเพลงประกอบภาพยนตร์ก็ช่วยส่งเนื้อหาให้กลมกล่อม เราจะซึ้งใจกับเพลง เหมือนวิวาห์ (Rain wedding) ขึ้นไปอีกเมื่อนึกถึงฉากรดน้ำสังข์ด้วยน้ำบาดาลของคู่รักเกย์ ขนานคู่กับไปงานวิวาห์ที่มีแขกมากมายมาร่วมยินดี ทั้งๆ ที่ฝั่งหนึ่งคือความรู้สึกจริงๆ และอีกฝั่งคือความจอมปลอมที่กฎหมายรองรับ ถ้า วิมานหนาม มาก่อนหน้าที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะผ่าน ฉากนี้จะยิ่งจี๊ดขึ้นไปอีก 

 

ขอชื่นชมความตั้งใจของทีมงาน และจะขอให้ทำผลงานละเอียดๆ แบบนี้มาอีกเรื่อยๆ คนทำไม่ท้อ คนดูไม่ถอย เราจะคอยชื่นชมรายละเอียดที่คุณซ่อนไว้แน่นอน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising