×

Memoria (2021) สุ้มเสียงอันสนั่นหวั่นไหวของบาดแผลและความทรงจำ

08.03.2022
  • LOADING...
Memoria

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • Memoria ซึ่งชนะรางวัล Jury Priz จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปีล่าสุด เป็นหนังที่อภิชาติพงศ์ก้าวออกจาก ‘คอมฟอร์ตโซน’ หรืออีกนัยหนึ่ง หนังที่เขาและทีมงานพาตัวเองออกจากเมืองไทยไปปักหลักทำอีกซีกโลกหนึ่ง แต่จนแล้วจนรอด ใครที่ได้ดูหนังของเขาอย่างต่อเนื่องก็คงบอกได้ทันท่วงทีว่า Memoria ยังคง ‘ความเป็นอภิชาติพงศ์’ ทั้งในแง่เนื้อหาและสไตล์การนำเสนอ ประพันธกรก็ยังคงเป็นประพันธกร และเขาเป็นหนึ่งในคนทำหนังที่ ‘ลายเซ็น’ ไม่เพียงสะท้อนความเป็นตัวเอง (หรือที่ใครๆ เรียกว่า Original) มากๆ หากยังหมดจดงดงามราวบทกวี
  • ไม่ว่าใครจะแปลความหมายขอหนังเรื่อง Memoria อย่างไร (ซึ่งน่าเชื่อว่าคงไม่เหมือนกัน) หนังเต็มไปด้วยฉากและสถานการณ์ที่ผู้ชมสามารถเพลิดเพลินกับห้วงเวลาเหล่านั้นได้เป็นเอกเทศ ขณะที่ในส่วนของเทคนิค องค์ประกอบอย่างหนึ่งที่ควรพูดถึงอย่างเจาะจงก็คืองานออกแบบเสียงของหนัง ซึ่งไม่เพียงทำให้คนดูรู้สึกได้มากกว่าที่สายตามองเห็น หากยังขยับขยายจินตทัศน์อย่างกว้างไกล 
  • และเมื่อผนวกสรรพสำเนียงรอบข้างเข้ากับกลไกด้านภาพ กลวิธีการบอกเล่า การแสดงของนักแสดง งานสร้างและอื่นๆ ทั้งหมดทั้งมวลที่ค่อยๆ คลี่คลายตัวมันเอง นำพาให้การดูหนังเรื่อง Memoria โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ที่มันถูกออกแบบให้จัดแสดง (ซึ่งก็คือในโรงหนัง) เรียกเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากการร่วมเฉลิมฉลองความวิเศษ ยิ่งใหญ่ และมหัศจรรย์ของศิลปะภาพยนตร์

Memoria

 

Tilda Swinton เป็นนักแสดงที่น่าอัศจรรย์ เธอเริ่มเล่นหนังครั้งแรกในปี 1986 และถ้านับผลงานของเธอทั้งนำและสมทบทั้งภาพยนตร์และโทรทัศน์จนกระทั่งถึงเรื่องล่าสุด อันได้แก่ The French Dispatch และ Memoria ก็ปาเข้าไปราวๆ เก้าสิบเรื่อง

 

แต่ปริมาณก็เรื่องหนึ่ง และความหลากหลายของหนังที่เธอเล่นก็เป็นอีกเรื่องโดยสิ้นเชิง ข้อน่าสังเกตก็คือ ไม่ว่าพวกเราจะเป็นนักดูหนังสายอ่อนหรือสายแข็ง สมัครเล่นหรืออาชีพ ดูเพื่อพักผ่อนหย่อนใจหรือเอาเป็นเอาตายกับความหมายที่ซ่อนเร้น ก็น่าเชื่อว่าต้องเคยผ่านหูผ่านตาผลงานการแสดงของเธอหลายเรื่อง หรือหลายสิบเรื่อง

 

ที่แน่ๆ สาวก Marvel คงนึกถึง Tilda Swinton ในบทบาทของ The Ancient One จอมขมังเวทย์ผู้ซึ่งเป็นเสมือนพระอาจารย์ของ Dr. Strange และออร่าของเธอน่าเกรงขามจริงๆ หรือใครที่เคยดูหนังเรื่อง The Beach ซึ่งยกกองมาถ่ายบ้านเราก็คงจะไม่มีวันลืมบทผู้คุ้มกฎแห่งเกาะลึกลับกลางอ่าวไทย หรือแฟนหนัง Wes Anderson ก็คงจดจำได้ว่าเธอเป็นหนึ่งในขาประจำ ขณะที่สำหรับสานุศิษย์ของ Derek Jarman ผู้กำกับหนังทดลองบันลือโลกที่ล่วงลับ เธอเป็นทั้งส่วนที่ขาดไม่ได้และแรงบันดาลใจของหนังมากกว่าครึ่งค่อน และยิ่งเมื่อคำนึงว่า เธอร่วมงานกับคนทำหนังนอกกระแสนับไม่ถ้วน เรียงรายชื่อไม่หวาดไม่ไหว (Sally Potter, Peter Warren, Luca Guadagnino, Spike Jonze, ฯลฯ) อีกสถานะหนึ่งของ Tilda Swinton ก็น่าจะได้แก่ ‘เจ้าแม่หนังอาร์ต’

 

Memoria

 

โดยปริยาย การร่วมงานกับอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้ซึ่งเป็นเสมือนขุนเขาอันสูงตระหง่านของการสร้างสรรค์ภาพเคลื่อนไหวที่ไร้ขอบเขตจำกัด จึงเป็นเรื่องของระยะเวลาว่าช้าหรือเร็วเท่านั้น และ Memoria ก็เป็นผลงานที่คนทั้งสองใช้เวลาฟูมฟักทางความคิดมายาวนาน และมันลงเอยด้วยผลลัพธ์ที่ตราตรึงอยู่ในความทรงจำเหมือนกับชื่อหนังนั่นเอง

 

อย่างที่หลายคนรับรู้รับทราบ Memoria ซึ่งชนะรางวัล Jury Prize จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปีล่าสุด เป็นหนังที่อภิชาติพงศ์ก้าวออกจาก ‘คอมฟอร์ตโซน’ หรืออีกนัยหนึ่ง หนังที่เขาและทีมงานพาตัวเองออกจากเมืองไทยไปปักหลักทำอีกซีกโลกหนึ่ง อันได้แก่ประเทศโคลอมเบีย ซึ่งไม่น่าจะมีอะไรที่เขาต่อติดเชื่อมโยงทั้งในแง่ของชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ภาษา วัฒนธรรม สภาพอากาศ ภูมิประเทศ ประวัติศาสตร์ และบริบททางการเมือง แต่จนแล้วจนรอด ใครที่ได้ดูหนังของเขาอย่างต่อเนื่องก็คงบอกได้ทันท่วงทีว่า Memoria ยังคง ‘ความเป็นอภิชาติพงศ์’ ทั้งในแง่เนื้อหาและสไตล์การนำเสนอ ประพันธกรก็ยังคงเป็นประพันธกร และเขาเป็นหนึ่งในคนทำหนังที่ ‘ลายเซ็น’ ไม่เพียงสะท้อนความเป็นตัวเอง (หรือที่ใครๆ เรียกว่า Original) มากๆ หากยังหมดจดงดงามราวบทกวี

 

ทั้งการถ่ายแบบลองเทกที่ปล่อยให้ผู้ชมดื่มด่ำและซึมซับบรรยากาศของห้วงเวลานั้นๆ การวางกรอบภาพอย่างประณีต แต่ขณะเดียวกัน มันก็กลับดูเป็นธรรมชาติและเหมือนไม่มีการตบแต่งอย่างไม่น่าเชื่อ การใช้ประโยชน์จากเสียงรอบข้างที่ส่งผลต่อ ‘ผัสสะ’ ของเรา การเล่าเรื่องที่กระโดดจากเหตุการณ์หนึ่งไปอีกเหตุการณ์โดยปราศจากการชี้แจงในแบบอิมเพรสชันนิสม์ อารมณ์ขันที่ผู้ชมต้องเลือกเอาเองว่าควรจะหัวเราะหรือไม่อย่างไร ช่วงเวลากลางคืนอันแสนผ่อนคลาย ไปจนถึงเนื้อหาที่มักจะพูดถึงความฝัน ความทรงจำ อดีตที่หลอกหลอน ประวัติศาสตร์ของดินแดน เรื่องประหลาดที่อธิบายไม่ได้ ความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งจินตนาการแบบหนังนิยายวิทยาศาสตร์

 

จะว่าไปแล้ว ความเป็นโคลอมเบียทั้งในแง่ของตัวเมือง และป่าเขาลำเนาไพรก็เปรียบได้กับบรรจุภัณฑ์ที่แปลกหูแปลกตา และทำให้สิ่งละอันพันละน้อยที่กล่าวถึงยิ่งมีเสน่ห์ดึงดูดและเย้ายวน ลึกลับ น่าพิศวง และชวนค้นหามากขึ้น

 

Memoria

 

อย่างไรก็ตาม เวลาใครพูดถึงหนังของอภิชาติพงศ์ก็มักจะต้องมาพร้อมกับสิ่งที่เรียกว่า Disclaimer หรือการจำกัดความรับผิดชอบในแง่ที่หนังของเขาไม่ได้ถูกสร้างเพื่อรสนิยมวงกว้าง ด้วยความที่มัน ‘ดูยาก’ ทั้งในแง่เนื้อหาและวิธีการบอกเล่าดังที่เอ่ยข้างต้น แต่ข้อสังเกตแบบนั้นก็เหมือนกับสร้างกำแพงที่มองไม่เห็นให้กับคนดูหนังหน้าใหม่ ผู้ซึ่งน่าจะมีโอกาสผจญภัยไปในหนังของอภิชาติพงศ์ด้วยตัวเอง (ข้อที่ควรหมายเหตุก็คือ หนังอภิชาติพงศ์ไม่ได้เข้าโรงฉายปกติมาสิบกว่าปีแล้ว) และบางที คำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ สำหรับผู้ชมวงกว้างน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า อันได้แก่สไตล์อันผิดแผกจากหนังกระแสหลักดังที่กล่าวข้างต้น และข้อสำคัญ ยากหรือง่ายอาจจะไม่แก่นสารเท่ากับกระบวนการทางด้านภาพและเสียงของหนังจูนติดกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชมอย่างไร

 

และสมมติว่าจะเทียบเคียงกับผลงานเรื่องก่อนๆ Memoria ก็เป็นหนังที่หยิบยื่นความรู้สึกที่รื่นรมย์พอๆ กับ แสงศตวรรษ (2006) อีกทั้งยังเล่าเรื่องที่เรียบง่าย Jessica (Swinton) เป็นหญิงชาวสกอต ผู้ซึ่งดำเนินกิจการขายดอกไม้ในเมืองเมดิยิน ประเทศโคลอมเบีย ตอนที่หนังเร่ิมต้น เธอมีเหตุให้ต้องไปเยี่ยมน้องสาวที่ล้มป่วยในเมืองโบโกตา แล้วจู่ๆ เธอก็ถูกปลุกให้ตื่นกลางดึกด้วยเสียงดังของอะไรบางอย่างที่ฟังเหมือน ‘ก้อนคอนกรีตขนาดใหญ่หล่นลงไปในบ่อโลหะซึ่งห้อมล้อมด้วยน้ำทะเล’ ตอนแรกเธอนึกว่ามันเป็นเสียงจากไซต์ก่อสร้าง แต่ทีละน้อย เจ้าตัวพบว่าเธอได้ยินมันอยู่คนเดียว

 

แต่จะว่าไปแล้ว นั่นไม่ได้เป็นเรื่องแปลกประหลาดเพียงหนึ่งเดียวที่ Jessica หรือผู้ชมพบเจอ ฉากที่จู่ๆ สัญญาณกันขโมยของรถยนต์ส่งเสียงพร้อมๆ กันในช่วงโพล้เพล้ก็ดูเหมือนเป็นเรื่องหาคำอธิบายไม่ได้เช่นกัน หรือความสัมพันธ์ที่แนบแน่นมากขึ้นระหว่าง Jessica กับซาวด์เอ็นจิเนียร์หนุ่มที่ชื่อ Hernan (Juan Pablo Urrego) ผู้ซึ่งช่วยจำลองเสียงดังในห้วงคำนึงของฝ่ายแรก ก็กลับลงเอยด้วยการที่ใครคนนั้นอันตรธานไปอย่างไร้ร่องรอย หรืออันที่จริง ไม่มีใครที่สตูดิโอรู้จักหรือเคยได้ชื่อของเขาด้วยซ้ำ และเมื่อน้องสาว (Agnes Brekke) เอ่ยถึงใครบางคนที่ Jessica ทักท้วงว่าเขาเสียชีวิตไปแล้ว เจ้าตัวก็ได้รับการยืนยันว่า คนคนนั้นยังอยู่ดีมีสุข หรือในช่วงครึ่งหลัง Jessica ก็ได้พบและพูดคุยกับหนุ่มใหญ่อีกคนหนึ่ง ผู้ซึ่งแนะนำตัวเองว่าเขาชื่อ Hernan (เหมือนกัน)

 

Memoria

Memoria

 

บางที เรื่องที่ดูเหลวไหลไร้เหตุผลนี้อาจจะปลดล็อกด้วยประโยคช่วงกลางเรื่องของ Jessica เองที่เอ่ยประมาณว่า เธอคิดว่าตัวเองกำลังเป็นบ้า และในแง่หนึ่ง การที่ผู้ชมร่วมได้ยินเสียง ‘โครม’ ในหัวของตัวละคร ก็บอกโดยอ้อมว่าเราได้รับการเชื้อเชิญให้ก้าวล่วงเข้าไปในสัมปชัญญะของตัวละคร ซึ่งยิ่งเวลาผ่านพ้นไป โน่นนี่นั่นที่หลั่งไหลเข้ามาในสภาวะการรับรู้ของตัวละครก็ยิ่งดูน่างุนงงสงสัย หรือแม้กระทั่งดู ‘วิกลจริต’ มากขึ้น

 

แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง เหตุการณ์ที่ไม่ปะติดปะต่อเบื้องหน้าผู้ชมก็ทำงานเหมือนกับความฝันของคนเราที่ความต่อเนื่องเชื่อมโยงไม่ใช่สาระสำคัญ คนนั้นคนนี้สามารถโผล่เข้ามาและหายตัวไปได้โดยไม่ต้องแจกแจงเงื่อนงำ เหตุการณ์บางเหตุการณ์ที่ดูไม่มีตรรกะหรือแก่นสารสามารถจับจองพื้นที่และเวลาอย่างมีนัยสำคัญ (เช่น ฉากเล่นดนตรีแจ๊สที่แต่ละคนแจมกันสุดมัน หรือฉากสองหนุ่มโชว์สเตปอย่างแพรวพราวและดึงดูดสายตา) อีกทั้งขนบของความฝันก็ยังอนุโลมให้พวกเรายังไม่จำเป็นต้องคาดคั้นหาความกระจ่างในแง่ที่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริงหรือเพียงแค่บางเรื่องที่แอบซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึก ซึ่งในเชิงจิตวิทยา มันคลับคล้ายว่าทำหน้าที่บำบัดหรือชดเชยสิ่งที่ขาดตกบกพร่องในห้วงคำนึงของเจ้าละคร

 

และอย่างหนึ่งที่น่าครุ่นคิดมากๆ ก็คือ ยิ่งผู้ชมได้ใช้เวลาคลุกคลีกับ Jessica มากขึ้น แทนที่เราจะสัมผัสได้ถึงเลือดเนื้อและความมีชีวิตของเธอ สภาวะของตัวละครนี้กลับดูไม่แตกต่างจาก ‘Lost Soul’ หรือวิญญาณที่หาหลักแหล่งของตัวเองไม่เจอ ซึ่งน่าจะเป็นผลพวงจากความที่เธอเป็นทั้งคนต่างบ้านต่างเมือง (อย่างที่บอก เธอมาจากเมืองใหญ่อีกเมืองที่ชื่อเมดิยิน) และคนต่างชาติต่างภาษา (เธอพูดสแปนิชพอได้ แต่ก็ไม่คล่องแคล่วนัก)

 

เป็นไปได้หรือไม่ว่าสถานะ ‘คนนอก’ ของ Jessica ทำให้เธอแสวงหาความเกี่ยวข้องและการยึดโยง ทั้งในการสานต่อความสัมพันธ์กับ Hernan คนแรกซึ่งงอกเงยอย่างรวดเร็ว หรือการเสาะหารากเหง้าของดินแดนและผู้คน (ซึ่งหมายรวมถึงประวัติศาสตร์และบาดแผล) ผ่านการพยายามมีความทรงจำร่วมกับ Hernan คนหลังแม้ว่าจนแล้วจนรอด มันจะเป็นเพียง ‘ความทรงจำมือสอง’ ก็ตาม

 

และสำหรับเสียงปริศนาที่ระเบิดในหัวของตัวละคร คำตอบที่ Jessica ค้นพบในท้ายที่สุด ซึ่งไม่ว่ามันจะพิลึกพิลั่นสำหรับผู้ชมเพียงใด อย่างหนึ่งที่แน่ๆ ก็คือ มันทำให้ตัวละครเผยรอยยิ้มแห่งความพึงพอใจเป็นครั้งแรก หรือบางที คำตอบนั้นอาจจะปลดเปลื้องความรู้สึกแปลกแยกที่เกาะกุมความรู้สึกของตัวละครมาตั้งแต่ต้น

 

Memoria

Memoria

 

แต่ไม่ว่าใครจะแปลความหมายของหนังเรื่อง Memoria อย่างไร (ซึ่งน่าเชื่อว่าคงไม่เหมือนกัน) หนังเต็มไปด้วยฉากและสถานการณ์ที่ผู้ชมสามารถเพลิดเพลินกับห้วงเวลาเหล่านั้นได้เป็นเอกเทศ สองสามโมเมนต์ที่ดีมากๆ ได้แก่ ตอนที่ Jessica พยายามบรรยายเสียงดังในหัวให้ Hernan คนหนุ่มฟัง ทั้งๆ ที่ภาษาสแปนิชไม่แข็งแรง อีกทั้งเสียงนั้นก็อธิบายไม่ได้ง่ายดาย และสีหน้าสีตาของเธอดูจนตรอกจริงๆ หรือตอนที่ Jessica สังหรณ์ว่าหมาที่เดินตามอาจจะเชื่อมโยงกับตัวที่น้องสาวเชื่อว่ามันสาปแช่งให้ฝ่ายหลังต้องเข้าโรงพยาบาล และคนดูได้แต่นึกขำท่าทางเก้ๆ กังๆ ของเจ้าตัว ทำนองเดียวกัน ฉากที่ Jessica ไปหาหมอเพื่อขอยานอนหลับก็เป็น ‘ฉากซิกเนเจอร์’ ของอภิชาติพงศ์ มันทั้งตลก ทั้งอบอุ่น และน่ารักน่าชัง

 

ขณะที่ในส่วนของเทคนิค องค์ประกอบอย่างหนึ่งที่ควรพูดถึงอย่างเจาะจงก็คืองานออกแบบเสียงของหนัง ซึ่งไม่เพียงทำให้คนดูรู้สึกได้มากกว่าที่สายตามองเห็น หากยังขยับขยายจินตทัศน์อย่างกว้างไกล ยิ่งในช่วงท้ายที่หนังปล่อยให้คนดูนั่งอยู่ในท่ามกลางบรรยากาศของฟ้าฝน พวกเราก็แทบจะสัมผัสได้ถึงความชุ่มชื้นของป่าแอมะซอน

 

และเมื่อผนวกสรรพสำเนียงรอบข้างเข้ากับกลไกด้านภาพ กลวิธีการบอกเล่า การแสดงของนักแสดง งานสร้างและอื่นๆ ทั้งหมดทั้งมวลที่ค่อยๆ คลี่คลายตัวมันเองเบื้องหน้าพวกเรา ก็นำพาให้การดูหนังเรื่อง Memoria โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ที่มันถูกออกแบบให้จัดแสดง (ซึ่งก็คือในโรงหนัง) เรียกเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากการร่วมเฉลิมฉลองความวิเศษ ยิ่งใหญ่ และมหัศจรรย์ของศิลปะภาพยนตร์

 

Memoria

           

MEMORIA (2021)

กำกับ-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล  

ผู้แสดง-Tilda Swinton, Elkin Diaz, Jeanne Balibar, Juan Pablo Urrego

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising