เท้าความเรื่องตีความไม่ลงรอย
ความน่าสับสนในการนับวันที่กฎหมายมีผลเกิดขึ้นล่าสุดคือกรณีกฎหมายสมรสเท่าเทียม อย่างที่มีเรื่องกล่าวถึงกันเป็นระยะว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมจะมีผลเมื่อใดในระหว่างวันที่ 22 มกราคม 2568 กับวันที่ 23 มกราคม 2568 ทั้งนี้ ความไม่ลงรอยดังกล่าวเกิดขึ้นจากแนวทางตีความ ซึ่งแนวทางตีความที่ต่างกันก็มีมุมสนับสนุนคนละมุม แต่ละมุมก็ปรากฏว่ามีองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการตีความกฎหมาย 2 องค์กรเป็นข้อสนับสนุน นั่นคือกฤษฎีกากับศาลยุติธรรม
สาระสำคัญของความแตกต่างระหว่างกฤษฎีกากับศาลยุติธรรม อยู่ในส่วนกำหนดวันที่กฎหมายมีผล กล่าวคือหากกฎหมายนั้นใช้คำว่า ‘นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา’ สำหรับการกำหนดจุดเริ่มต้นของการนับเวลาเพื่อหาวันที่กฎหมายมีผล (จุดเริ่มต้นนับวัน) ก็จะมีความต่างกันตรงที่ว่า แนวกฤษฎีกาให้นับวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นวันเริ่มต้นของการนับเวลา ซึ่งกล่าวอย่างง่ายคือ วันประกาศราชกิจจานุเบกษาจะเป็นวันแรกที่เริ่มนับ แต่แนวศาลยุติธรรมให้นับวันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นวันเริ่มต้นการนับเวลา เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่าความแตกต่างระหว่างแนวกฤษฎีกากับแนวศาลคือเหลื่อมกันหนึ่งวัน
สำหรับเหตุผลของแต่ละแนวมีดังนี้
แนวกฤษฎีกามองว่า เมื่อกฎหมายบัญญัติถึงคำว่า ‘นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา’ ก็ต้องนับตั้งแต่วันที่กฎหมายนั้นลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นวันแรก
ส่วนแนวศาลยุติธรรมมองว่า ไม่นับวันแรกรวมคำนวณเข้าด้วย แต่เริ่มนับหนึ่งในวันถัดไป โดยศาลยุติธรรมอ้างอิงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3
ข้อหารือในอดีต
ความแตกต่างกันในการนับวันที่กฎหมายมีผลนี้เคยเกิดเหตุเป็นประเด็นขอหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วยในปี 2543 เกี่ยวกับการมีผลของกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ในครั้งนั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้เหตุผลเรื่องวันมีผลของกฎหมายตามที่ได้กล่าวไป ทั้งนี้ ยังอ้างด้วยว่าเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 70/2477 ตัดสินวิธีการนับอย่างที่กฤษฎีกานับ นอกจากนั้นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายังชี้ว่าคำพิพากษาศาลมีผลผูกพันเฉพาะคดี เรื่องนี้ปรากฏในหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ นร 0601/514 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2543
ต่อประเด็นที่กล่าวมา ผู้เขียนเคยให้ข้อมูลและข้อสังเกตไว้ใน THE STANDARD เรื่อง ‘กฎหมายสมรสเท่าเทียม เริ่มมีผลบังคับวันใดกันแน่?’ แล้ว ท่านใดสนใจประเด็นนี้และประเด็นเกี่ยวพันสามารถย้อนอ่านได้
ประชาชนในฐานะคนกลาง
ในมุมประชาชน เรื่องนี้จะสร้างความมึนงงอย่างแน่นอนว่า ในที่สุดแล้วกฎหมายประกาศใช้แล้วจะนับกันอย่างไร เมื่อกฤษฎีกานับอย่างหนึ่ง แต่ศาลยุติธรรมนับอีกอย่างหนึ่ง โดยที่กฤษฎีกามีความสำคัญในฝั่งการบริหารราชการแผ่นดิน เนื่องจากมีบทบาทต่อการเป็นที่ปรึกษากฎหมายของภาครัฐ ส่วนศาลยุติธรรมก็มีความสำคัญในเวลาที่เกิดคดีความขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ถ้าไม่ใช่คดีปกครองที่ไปขึ้นศาลปกครอง หากแต่เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับครอบครัวก็ไม่พ้นที่จะต้องอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมชี้ขาด
ล่าสุดที่มหาดไทยยึดถือ
ผู้เขียนไม่ทราบว่ารัฐบาล ณ ปัจจุบัน ได้สั่งให้นำเรื่องไปหารือกฤษฎีกาเกี่ยวกับวันมีผลของกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้วหรือยัง แต่เมื่อพิจารณาจากข่าวล่าสุดที่แถลงออกมาเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2568 จากฝั่งกระทรวงมหาดไทยในฐานะที่คุมเรื่องการจดทะเบียนสมรส พบว่ามหาดไทยยังยืนยันว่าวันที่ 23 มกราคม 2568 คือวันที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลใช้บังคับ
(อย่างไรก็ดี ถ้าใครได้ติดตามข่าวสารแต่ต้นจะพบว่า ช่วงแรกหลังจากที่ประกาศกฎหมายสมรสเท่าเทียม รัฐบาลได้ออกมาสื่อสารผ่านช่องทางสื่อที่ชื่อ ‘ไทยคู่ฟ้า’ ว่า ‘ประกาศแล้ว กฎหมายสมรสเท่าเทียม มีผลใช้บังคับ 22 ม.ค. 68’ ผู้เขียนขอให้ข้อสังเกตว่าเป็นการนับวันมีผลของกฎหมายตามแนวกฤษฎีกา)
เมื่อปีที่แล้วมีหนังสือเวียนของสำนักงานศาลยุติธรรม ฉบับลงวันที่ 26 กันยายน 2567 ระบุวันที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลใช้บังคับคือวันที่ 23 มกราคม 2568 และก่อนเข้าสู่ปี 2568 มีหนังสือเวียนของสำนักงานศาลยุติธรรมลงวันที่ 27 ธันวาคม 2567 ออกมายืนยันสำทับเรื่องวันมีผลของกฎหมายอีกครั้งพร้อมข้อพิจารณาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หนังสือทั้งสองฉบับสะท้อนว่าสำนักงานศาลยุติธรรมถือหลักไม่นับวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นวันแรกของการคำนวณเวลาที่กฎหมายมีผล โดยมีถึงหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม ชี้ว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมจะมีผลในวันที่ 23 มกราคม 2568
แต่สำนักงานศาลก็เคยนับแบบอื่น
ดูเหมือนนักกฎหมายส่วนหนึ่งจะทราบว่าสำนักงานศาลยุติธรรมออกหนังสือเวียน โดยถือแนวของศาลที่ไม่นับวันแรกที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นวันเริ่มต้นในการคำนวณเวลาที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ อย่างล่าสุดคือหนังสือเวียนของสำนักงานศาลยุติธรรม 2 ฉบับดังกล่าวที่เกี่ยวกับกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ถือเอาแนวนั้น
อย่างไรก็ตาม เอาเข้าจริงพบว่าสำนักงานศาลยุติธรรมเคยแจ้งเวียนวันที่กฎหมายมีผลโดยใช้วิธีการนับที่นับวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นวันแรกด้วย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การนับแบบนี้คือการไปนับตามแนวกฤษฎีกานั่นเอง
หนังสือเวียนของสำนักงานศาลยุติธรรมที่สะท้อนให้เห็นว่าสำนักงานศาลยุติธรรมนับแนวเดียวกับกฤษฎีกาคือ
หนังสือเวียนของสำนักงานศาลยุติธรรมที่ ศย 016/ ว 903 เรื่องข้อพิจารณาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ซึ่งเกี่ยวกับพืชกระท่อม กับหนังสือเวียนของสำนักงานศาลยุติธรรม ที่ ศย 016/ ว 1184 เกี่ยวกับวันมีผลของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564
หนังสือเวียนของสำนักงานศาลยุติธรรมฯ ฉบับลงวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ซึ่งเกี่ยวกับพืชกระท่อมนั้น อธิบายเรื่องการแก้ไขกฎหมายที่ปลดพืชกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติด โดยระบุเรื่องวันมีผลของกฎหมายไว้ในเอกสารข้อพิจารณาว่า ‘มาตรา 2 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป พระราชบัญญัติดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับในวันที่ 24 สิงหาคม 2564’
ทั้งนี้ ผู้เขียนมีข้อสังเกตสำคัญคือ สำนักงานศาลยุติธรรมระบุในเชิงอรรถหมายเลข 1 ว่า ‘เนื่องจากพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับความผิดและโทษทางอาญา การนับระยะเวลาซึ่งมีผลต่อการมีผลใช้บังคับกฎหมายจึงต้องใช้ในทางที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด โดยนับวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นวันแรก’
จากข้อความที่สำนักงานศาลยุติธรรมระบุจะพบว่าไม่ปรากฏการอ้างอิงเรื่องการนับระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 ที่มักยึดถือกันแต่อย่างใด ไม่ปรากฏว่ายกหลักกฎหมายอื่นขึ้นอ้างอิง ไม่ปรากฏคำพิพากษาศาลฎีกาที่อ้างถึง และมีแต่เพียงข้อความที่สื่อเรื่องการตีความว่าควรใช้ในทางที่เป็นคุณ จึงเกิดความน่าฉงนว่า แนวทางการตีความที่เคยยึดถือมานั้น สำนักงานศาลยุติธรรมละไว้ที่ไหน หลักกฎหมายที่ใช้คืออะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อจะไม่กล่าวถึงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 (และข้อน่าคิดว่า สำนักงานศาลยุติธรรมจะอ้างหลักตีความเพื่อเป็นคุณแก่การใช้บังคับกฎหมายสมรสเท่าเทียมบ้างไม่ได้หรือ)
แต่ผลดีเกิดแน่ในแง่ที่ว่า การเร็วขึ้นหนึ่งวันจากที่เคยยึดแนวนั้นส่งผลดีต่อรัฐด้วย เพราะเมื่อสิ่งที่ผิดกฎหมายกลายเป็นไม่ผิดแล้ว จึงไม่อาจขังผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อไป หรือหากคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลก็ต้องยกฟ้อง หรือถ้าจำคุกอยู่ก็ต้องยกเลิก เป็นต้น ดังนั้นหนึ่งวันที่เร็วขึ้นก็เป็นหนึ่งวันที่มีความหมาย ไม่ใช่แค่ต่อประชาชน แต่ต่อทรัพยากรและภาระของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทั้งประเทศด้วย
ถึงกระนั้น แก่นของเรื่องในกรณีนี้ก็คือสำนักงานศาลยุติธรรมไม่ได้นับโดยถือแนวที่อ้างกันในปัจจุบัน
สำหรับอีกฉบับ คือหนังสือเวียนของสำนักงานศาลยุติธรรมฯ ฉบับลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเกี่ยวกับวันมีผลของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 นั้น พบว่าในมาตรา 2 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป สำนักงานศาลยุติธรรมระบุในหนังสือเวียนว่า ‘คือ วันที่ 8 ธันวาคม 2564’ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564)
จากวันที่ระบุดังกล่าว เมื่อลองกางปฏิทินแล้วนับดูจะพบว่าตกวันดังกล่าวได้ก็เพราะสำนักงานศาลยุติธรรมต้องเริ่มนับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นวันแรกเลยทีเดียว ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการนับตามแนวกฤษฎีกา แม้ไม่มีข้อความหรือเชิงอรรถระบุว่าในกรณีนี้ก็ใช้หลักเดียวกับหนังสือเวียนของสำนักงานศาลยุติธรรมเรื่องปลดพืชกระท่อมจากยาเสพติดก็ตาม ก็น่าคิดว่าสำนักงานศาลยุติธรรมน่าจะใช้เหตุผลแบบเดียวกันอยู่ลึกๆ หรือไม่
(อนึ่ง หนังสือเวียนฉบับนี้กล่าวถึงวันมีผลใช้บังคับของประมวลกฎหมายยาเสพติดด้วย ซึ่งแม้ถ้อยบัญญัติในส่วนวันมีผลของกฎหมายไม่เหมือนกับพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 เสียทีเดียว แต่เมื่อลองนับแล้วก็เป็นไปในแนวเดียวกันคือนับวันแรกเข้าด้วย)
จากหนังสือเวียนที่กล่าวมาสะท้อนว่า ถึงที่สุดแล้วการนับของสำนักงานศาลยุติธรรมก็ไม่ได้มีทิศทางการตีความแบบเดียวกันมาโดยตลอดแต่อย่างใด ข้อนี้เป็นสิ่งที่ฝากไว้ให้ตระหนัก
ปัญหาที่กล่าวข้างต้นจะนำมาซึ่งความสับสนในแง่วันมีผลของกฎหมาย ที่บัดนี้ไม่ใช่แค่เรื่องระหว่างแนวกฤษฎีกากับแนวศาลเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาความสับสนที่เกิดขึ้นได้จากการตีความของสำนักงานศาลยุติธรรมด้วย ที่อาจก่อให้เกิดข้อลังเลว่ากฎหมายประเภทใดนับแบบใด กฎหมายประเภทใดจะเข้าข่ายที่จะนับแบบหนึ่ง และกฎหมายประเภทใดจะเข้าข่ายการนับอีกแบบหนึ่ง แล้วจะกลายเป็นว่าต้องรอดูหนังสือเวียนของสำนักงานศาลเช่นนั้นหรือในการบังคับใช้กฎหมาย? และคำตอบสุดท้ายก็คือคำตอบที่ต้องรอจากทางนั้นหรือ?
ปัญหาทั้งมวลไม่ใช่เรื่องที่เป็นผลดีกับประชาชนอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อความมั่นคงแน่นอนทางกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญในประเทศที่จะสมาทานว่าถือหลักนิติรัฐหรือนิติธรรม ปัญหาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ใช่แค่มีปัญหาเรื่องการตรากฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรมหรือไม่เท่านั้น แต่ขนาดปัญหาเรื่องวันมีผลใช้บังคับของกฎหมายซึ่งเป็นแค่เรื่องพื้นฐานก็พาให้สับสนเสียแล้ว
ฝากผู้แทนปวงชนชาวไทยหาทางออกจากความสับสน
ปัญหาเรื่องวันมีผลใช้บังคับของกฎหมายว่าใช้แนวใดมีมาตลอดในสังคมไทย แต่ผ่านมาหลายปีก็ยังไม่มีการหาทางออกหรือแก้ไข และดูเหมือนจะตื่นฮือขึ้นทุกครั้งเมื่อมีกฎหมายสำคัญๆ เกิดขึ้นเป็นที่สนใจของสังคม สร้างคำถามใหญ่ว่า จุดเริ่มต้นของสิทธิ หน้าที่ หรือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากกฎหมายใหม่นั้นจะมีเมื่อใด เพราะจุดต่างที่เหลื่อมกันหนึ่งวันดังกล่าวก่อกวนให้เกิดข้อถกเถียงในสังคม และยิ่งมีความสำคัญหรือเป็นจุดเป็นจุดตายเมื่อหนึ่งวันนั้นเป็นเรื่องวันเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ สถานภาพใหม่ที่ระบบกฎหมายจะยอมรับ และความสมบูรณ์หรือความเป็นโมฆะของสิ่งที่จะลงมือทำ
ผู้เขียนขอฝากปัญหาเรื่องนี้ให้สังคมไทยพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขอฝากให้ผู้แทนปวงชนชาวไทยผู้มีบทบาทโดยตรงต่อการนิติบัญญัติไม่ปล่อยผ่าน เห็นควรที่จะต้องพิจารณาเพื่อสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของการนับวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ โดยเขียนกฎหมายให้แน่นอนเสียเลยดีหรือไม่ว่า ในกรณีการนับวันที่กฎหมายจะมีผลใช้บังคับจะถือหลักใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการทอดเวลาการมีผลออกไปหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ในกรณีนั้นได้โปรดพิจารณากันว่า ควรให้นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นจุดเริ่มต้นการคำนวณ หรือไม่ให้นับแต่ให้นับวันถัดไป ก็ควรที่จะหาทางปรึกษาหารือและอภิปรายในเรื่องนี้ให้เกิดความรอบคอบและตกผลึกเพื่อหาทางออกจากความสับสนนี้
กฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นแค่อีกตัวอย่างหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว และปัญหาเช่นนี้จะวนเวียนซ้ำซากให้เห็นอยู่ร่ำไปหากไม่หาหนทางยุติ