×

เบื้องหลังยุคทองของลิเวอร์พูล จากเด็กเนิร์ดผู้ช่วยเหลือคล็อปป์อยู่เงียบๆ (ตอนที่ 1)

20.08.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 MIN READ
  • คล็อปป์ แม้ว่าจะเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับทีมงาน ให้เกียรติทีมงานทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนไหนก็ตาม แต่อีกด้านเขาเป็นคนที่แข็งกร้าวในความคิดเห็น ค่อนข้างมีข้อเรียกร้อง (Demanding) ทำให้คนทำงานด้วยต้องเหนื่อยยาก พูดได้ว่าไม่ใช่คนที่ทำงานด้วยได้สบายเท่าไรนัก
  • ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงคือ การต่อสู้และปะทะกันทางความคิดระหว่างพวกเขากับคล็อปป์ ซึ่งแม้จะเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานที่เกิดขึ้นได้อยู่แล้ว แต่ความหนักหน่วงของมันมีผลอย่างมาก และนำไปสู่การตัดสินใจ ซึ่งเกรแฮมเผยว่า เขาเล่าเรื่องราวนี้ไว้ในหนังสือ How to Win the Premier League ด้วยเช่นกัน

ลิเวอร์พูลยุคใหม่กำลังเริ่มต้นได้อย่างน่าตื่นเต้นภายใต้การนำของ อาร์เน สลอต บิ๊กบอสคนใหม่ชาวดัตช์ ที่มาพร้อมกับสไตล์การเล่นแบบใหม่ที่น่าสนใจ

 

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าช่วงเวลาที่สวยงามตลอด 9 ปีของ เจอร์เกน คล็อปป์ จะเป็นสิ่งที่ทุกคนจะลืมได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉพาะการเป็นผู้จัดการทีมลิเวอร์พูลคนแรกที่พาทีมกลับมาคว้าแชมป์ลีกสูงสุดได้เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี รวมถึงแชมเปียนส์ลีกสมัยที่ 6 และแชมป์สโมสรโลก 

 

ความสำเร็จในช่วงเวลานั้น วันนี้ถูกนำมาถ่ายทอดส่วนหนึ่ง และเป็นหนึ่งในส่วนที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะในขณะที่คล็อปป์คือนายของทีมผู้ตัดสินใจในเรื่องของแท็กติกการเล่น การจัดผู้เล่นลงสนาม รวมถึงการบริหารจัดการนักเตะในทีม แต่งาน ‘หลังบ้าน’ ที่มีคุณค่าและความหมายไม่น้อยไปกว่ากันคืองานด้านข้อมูล

 

งานส่วนนี้เป็นของ ‘เด็กเนิร์ด’ อย่าง เอียน เกรแฮม ผู้ดูแลฝ่ายค้นคว้าของลิเวอร์พูล ซึ่งได้นำเรื่องราวการทำงานเบื้องหลังที่มีส่วนทำให้สโมสรกลับมาทวงความยิ่งใหญ่ได้อีกครั้งผ่านหนังสือ ‘How to Win the Premier League’ 

 

โดยนี่คือเรื่องราว ‘อินไซด์’ บางส่วนที่มีการเปิดเผยกันออกมา

 

“นี่มันโคตรไร้สาระเลยนะ” ไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส์ ผู้อำนวยการฟุตบอลของสโมสรลิเวอร์พูล ตั้งคำถามกับ เอียน เกรแฮม เพื่อขอคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับโมเดลที่เขาใช้ในระหว่างที่ทำงานกับท็อตแนม ฮอตสเปอร์

 

ถึงคำถามจะค่อนข้างแรง แต่สำหรับเอ็ดเวิร์ดส์และเกรแฮมแล้ว การแลกเปลี่ยนแบบดุดันเช่นนี้เป็นการทำงานปกติของทั้งคู่

 

เอ็ดเวิร์ดส์เองเคยเป็นนักวิเคราะห์เกมของสเปอร์สมาก่อนเช่นกัน ก่อนที่จะมารับงานที่ใหญ่ขึ้นกับลิเวอร์พูล และเป็นคนเลือกเกรแฮม ผู้จบการศึกษาในระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เข้ามาทำงานด้วยกันในแอนฟิลด์

 

งานของทั้งสองคนในเวลานั้นเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ เพราะย้อนกลับไปในช่วง 10-15 ปีที่แล้ว เรื่องของการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ (Data Analysis) เป็นเรื่องใหม่อย่างมากสำหรับเกมฟุตบอล การทำงานของคนพูดน้อยที่เก็บตัวทำงานเงียบๆ ในสโมสรอย่างเอ็ดเวิร์ดส์และเกรแฮมไม่ได้รับการยอมรับมากนักในช่วงแรก

 

จนกระทั่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญเกิดขึ้นในยุคของคล็อปป์ ผู้จัดการทีมที่ดีที่สุดของลิเวอร์พูลในยุคโมเดิร์น

 

คนที่เป็นคนทำสรุปข้อมูลให้กับกลุ่มผู้บริหารจาก Fenway Sports Group ว่าคนที่เหมาะสมกับตำแหน่งผู้จัดการทีมลิเวอร์พูลที่สุดคือคล็อปป์ก็คือสองหนุ่มเนิร์ดคนนี้เอง

 

 

Data Revolution ในแอนฟิลด์

 

หนึ่งในเรื่องราวยุคของคล็อปป์ที่ถูกกล่าวขานถึงมากที่สุดคือ การพบกันครั้งแรกระหว่างคล็อปป์กับเกรแฮม

 

ในเวลานั้นเกรแฮมทำงานอยู่เงียบๆ ไม่มีบทบาทสำคัญที่โดดเด่นมากนักในสโมสร หลายคนมองเขาว่าเป็นแค่ ‘เนิร์ด’ ที่ถือเครื่องคอมพิวเตอร์เดินไปมาในสโมสรเท่านั้น แต่ความจริงแล้วเขาคือหนึ่งในคนที่รู้จักและเข้าใจคล็อปป์ดีที่สุด

 

เกรแฮมมีโอกาสพบกับคล็อปป์ในช่วงแรกที่บอสชาวเยอรมันเข้ามารับงานในแอนฟิลด์ และได้นำเสนอข้อมูลสถิติเกมการเล่นของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ทีมเก่าของผู้จัดการทีมคนใหม่ โดยที่เขาเล่าได้เป็นฉากๆ ถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นจนคล็อปป์ถึงกับทึ่ง

 

“คุณก็ดูเกมนั้นด้วยเหรอ”

 

“เปล่าหรอก ผมวิเคราะห์จากสถิติที่เกิดขึ้นในเกม” 

 

การพบกันครั้งนั้นเป็นจุดเปลี่ยนของการปฏิวัติด้านข้อมูล (Data Revolution) ของลิเวอร์พูล เพราะคล็อปป์เปิดใจที่จะรับฟังเรื่องเหล่านี้จากเกรแฮม รวมถึงเอ็ดเวิร์ดส์ ซึ่งทั้ง 3 คนไม่ได้คุยกันแค่เรื่องของเกมในสนาม

 

แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ เรื่องของการเลือกผู้เล่นเข้ามาร่วมทีมลิเวอร์พูล ซึ่งมาจากโมเดลการคำนวณของเกรแฮมกับวิธีการของเอ็ดเวิร์ดส์ที่นำมาผสมผสานกัน จนได้เป็นสูตรแห่งความสำเร็จที่น่าทึ่งและเป็นต้นแบบของหลายสโมสรในยุคปัจจุบัน

 

 

กว่าจะได้นักเตะหนึ่งคน

 

สิ่งที่ดีในการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายผู้จัดการทีมอย่างคล็อปป์และฝ่ายข้อมูลอย่างเกรแฮมคือ พวกเขามองเรื่องของงานเป็นหลัก ไม่มีเรื่องส่วนตัว

 

คล็อปป์ แม้ว่าจะเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับทีมงาน ให้เกียรติทีมงานทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนไหนก็ตาม แต่อีกด้านเขาเป็นคนที่แข็งกร้าวในความคิดเห็น ค่อนข้างมีข้อเรียกร้อง (Demanding) ทำให้คนทำงานด้วยต้องเหนื่อยยาก พูดได้ว่าไม่ใช่คนที่ทำงานด้วยได้สบายเท่าไรนัก

 

เกรแฮมรวมถึงเอ็ดเวิร์ดส์แทบจะต้องเปิดศึกกับคล็อปป์ตลอดทุกปีเมื่อถึงเวลาในการเลือกผู้เล่นใหม่เข้าทีม โดยคล็อปป์จะเป็นคนที่บอกว่าเขาอยากได้ผู้เล่นตำแหน่งไหนเข้ามาเสริมทีม “หนึ่งในเรื่องหลักที่เขามีคือภาพที่ชัดเจนของแท็กติกการเล่นที่อยากใช้ เขามีภาพชัดว่าเขาต้องการอะไร ซึ่งไม่ใช่ผู้จัดการทีมทุกคนจะมองเห็นภาพได้ชัดแบบเขา”

 

งานต่อจากนั้นเป็นของเกรแฮมและเอ็ดเวิร์ดส์ ที่จะทำรายงานสรุปเกี่ยวกับผู้เล่นที่น่าสนใจที่ได้จากการทำงานร่วมกับทีมแมวมอง ซึ่งจะใส่รายละเอียดเอาไว้ครบทุกอย่าง ตั้งแต่ตำแหน่ง อายุ ฟอร์มการเล่น จุดเด่น-จุดด้อย ราคา โอกาสความเป็นไปได้ ไปจนถึงอุปนิสัยส่วนตัว

 

และสิ่งสำคัญที่สุดคือ นักเตะเหล่านั้นอยากจะเล่นให้ลิเวอร์พูลในการคุมทีมของคล็อปป์หรือไม่ ซึ่งงานในการ ‘ปิดจ๊อบ’ จะเป็นของบอสชาวเยอรมันที่ได้ทักษะความเป็นเซลส์แมน ขายเก่งและพูดเก่งมาจากพ่อ

 

เกรแฮมเชื่อว่า ถ้าเป็นคนอื่นที่นั่งเก้าอี้ผู้จัดการทีม การทำงานจะต่างไปจากนี้ 

 

“ถามว่าเราจะเซ็นกับ (เวอร์จิล) ฟาน ไดจ์ค ไหมถ้าคนอื่นคุมทีม” เกรแฮมพูดก่อนจะหยุดคิด “บางทีอาจจะต้องลองถามฟาน ไดจ์ค ดู”

 

แต่ก็เพราะการทำงานแบบนี้แหละที่ทำให้ลิเวอร์พูลได้นักเตะอย่าง ซาดิโอ มาเน, โมฮัมเหม็ด ซาลาห์, แอนดี โรเบิร์ตสัน, อลิสสัน เบ็คเกอร์ และ เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ค ที่เป็นแกนหลักพาทีมคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้สำเร็จ

 

 

งานเลี้ยงที่ต้องเลิกรา

 

สิ่งแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมกันสำหรับความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของลิเวอร์พูลในยุคของคล็อปป์ก็คือ การหมดสิ้นเรี่ยวแรงของคนทำงาน

 

ก่อนที่คล็อปป์จะประกาศอำลาลิเวอร์พูลแบบสุดช็อกเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา และปิดฉากตำนานของตัวเองเมื่อจบฤดูกาล 2023/24 อย่างยิ่งใหญ่ มีสัญญาณของการล่มสลายเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2021 เมื่อ ไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส์ ประกาศอำลาทีมไป ก่อนที่ เอียน เกรแฮม จะอำลาทีมตามไป

 

ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงก็คือ การต่อสู้และปะทะกันทางความคิดระหว่างพวกเขากับคล็อปป์ ซึ่งแม้จะเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานที่เกิดขึ้นได้อยู่แล้ว แต่ความหนักหน่วงของมันมีผลอย่างมากและนำไปสู่การตัดสินใจ ซึ่งเกรแฮมเผยว่า เขาเล่าเรื่องราวนี้ไว้ในหนังสือ How to Win the Premier League ด้วยเช่นกัน

 

“ในหนังสือผมพูดถึงเรื่องของการโต้เถียงกัน” เกรแฮมบอก “แม้ว่าเราจะไปในทางเดียวกัน แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะคิดแบบเดียวกันหรือมีความกลมเกลียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างเรานั้นดี แต่ก็เป็นความสัมพันธ์ที่ยากและหนักหน่วง”

 

ความหนักหน่วงนั้นทำให้เมื่อต้องคิดถึงว่าจะต้องเตรียมมาถกเถียงกันอีกแล้วในเรื่องของการเสริมทีมฤดูกาลใหม่ ก็ทำให้ไม่เหลือแรงใจที่จะไปต่อสู้อะไรอีก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่เอ็ดเวิร์ดส์หรือเกรแฮม

 

แม้แต่คล็อปป์เองก็มีปัญหาในเรื่องของกำลังใจเช่นกัน

 

แต่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่ถูกกันจนถึงขั้นทำงานด้วยกันไม่ได้นะ เพราะทุกคนต่างรู้หน้าที่ในส่วนของตัวเอง และทุกคนก็มีโอกาสจะต้องผิดหวังที่ไอเดียของตัวเองถูกคัดค้าน

 

“เรื่องที่บอกกันว่าพวกเราทนเจอร์เกนไม่ได้นั้นมันเป็นเหมือนการ์ตูนล้อเลียน ความสำเร็จของเจอร์เกนนำความยินดีมาให้ แต่ก็อยู่ในโครงสร้างของสโมสรเสมอ ซึ่งมีมาตั้งแต่ยุคของ เบรนแดน ร็อดเจอร์ส แล้ว

 

“ทุกคนมีปัญหากับโครงสร้างนี้เหมือนกัน ผมเองก็มีปัญหาเวลาที่คิดว่านักเตะคนนี้ควรจะเซ็นเข้ามา แต่ถูกไมเคิลหรือเจอร์เกนคัดค้านไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างกันนั้นมีอยู่แน่นอน” 

 

เพียงแต่เกรแฮมยืนยันว่าคล็อปป์ไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้เขาหรือเอ็ดเวิร์ดส์ลาออกจากงานที่ลิเวอร์พูล

 

“ไมเคิลไปก่อน เพราะเขาต้องเป็นคนรับอะไรหลายอย่างมากกว่าที่ผมต้องเจอ เขาเป็นคนที่ต้องถกเถียงกับทุกคน ไม่ใช่แค่กับเจอร์เกน แต่รวมถึงเจ้าของ เอเจนต์ นักเตะ ผมพูดแทนเขาไม่ได้หรอก แต่ที่มองจากภายนอกแล้วงานของผมเครียดน้อยกว่ามาก”

 

เกรแฮมบอกว่าแม้แต่วง The Beatles เองก็มีอายุแค่ 10 ปีเท่านั้น การที่พวกเขาต้องแยกตัวกันก็ไม่น่าแปลกใจ 

 

“The Beatles ก็อยู่ด้วยกันแค่ 10 ปี พวกเขาถกเถียงกันมากมาย แต่พวกเขาก็สร้างบทเพลงที่ยอดเยี่ยม การถกเถียงเหล่านั้นอาจจะมีส่วนทำให้วงการดนตรีดีขึ้นก็ได้”

 

เบื้องหลังเรื่องราวความสำเร็จของลิเวอร์พูลจากการเล่าของ เอียน เกรแฮม จะมีอะไรอีกบ้าง ติดตามกันต่อได้ในตอนต่อไปนะครับ 🙂

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising