×

ไพรด์เทศไพรด์ไทยในการฉลองวัฒนธรรมความเป็นเพศ

24.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 mins read
  • สัญลักษณ์ของเทศกาล Pride คือ ธงสีรุ้ง ถูกใช้มาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงความหลากหลายทางเพศมาตั้งแต่ปี 1978 เป็นเครื่องหมายของการต่อสู้และการรำลึกถึงห้วงเวลาที่ต้องฝ่าฟันเพื่อหาพื้นที่ในการแสดงออกถึงความเป็นเพศภาวะ
  • งานไพรด์ปีนี้ ธงสีรุ้งถูกพัฒนาสู่สัญลักษณ์และจับใส่การออกแบบในหลายผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการสร้างให้ธงสีรุ้งเป็นเครื่องหมายต่างๆ จากเดิมที่เป็นกิจกรรมกลุ่มนักต่อสู้ LGBT ก็ขยายไปสู่ประชาชนทั่วไปที่สนับสนุนเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศ
  • ในเมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา กลุ่มนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเพศหลากหลายได้ออกมาแจ้งว่า ปีนี้ในงานไพรด์ของเมืองจะมีการเพิ่มสีเข้าไปในธงสีรุ้ง นั่นคือสีน้ำตาลและสีดำ เพื่อรณรงค์เรื่องความสำคัญของกลุ่มคนผิวสีที่เป็น LGBT เรียกว่า People of Color

     เป็นเวลาเกือบ 50 ปี ที่งานฉลองความภาคภูมิใจของการเป็นเพศหลากหลายได้เกิดขึ้น คำติดปากที่เรียกกันคือ งานเกย์ไพรด์ (Gay Pride) ที่ในต่างประเทศใช้เรียกรวมและให้ความหมายครอบคลุมทุกเพศที่หลากหลาย

     ในปี 2017 นับเป็นจุดเปลี่ยนหลายด้านของการจัดงานเฉลิมฉลองในครั้งนี้ นอกเหนือจากการที่ผู้คนได้ออกมาแสดงพลังของความเป็น LGBT ในด้านอัตลักษณ์ทางเพศและเพศวิถีแล้ว ยังได้เปิดพื้นที่ในการนำเสนอประเด็นทางสังคมในเรื่องอื่นๆ ทั้งประเด็นการเมือง สุขภาพ ความเป็นธรรม การจ้างงาน การรณรงค์เรื่องกฎหมายและสวัสดิการสังคม รวมไปถึงการนำเสนอเรื่องชาติพันธุ์ งานภาคประชาสังคม และองค์กรธุรกิจของหลายบริษัทชั้นนำ

     ประเด็นข้างต้นทำให้งานไพรด์ในหลายประเทศเป็นพื้นที่ของการบอกเล่าปัญหาของกลุ่มเพศหลากหลายที่สะท้อนไปสู่สังคมเพื่อให้รับรู้สถานการณ์สิทธิ

     สัญลักษณ์ของเทศกาล Pride คือ ธงสีรุ้ง ซึ่งเราจะเห็นภาพธงสีรุ้งอยู่เป็นองค์หลักของกิจกรรม เป็นธีมสีที่ผู้คนจะสวมใส่ และมีอุปกรณ์เป็นสีรุ้ง ธงสีรุ้งนี้ถูกใช้มาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงความหลากหลายทางเพศมาตั้งแต่ปี 1978 เป็นเครื่องหมายของการต่อสู้และการรำลึกถึงห้วงเวลาที่ต้องฝ่าฟันเพื่อหาพื้นที่ในการแสดงออกถึงความเป็นเพศภาวะ

     จนปีนี้ ธงสีรุ้งถูกพัฒนาสู่สัญลักษณ์และจับใส่การออกแบบในหลายผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการสร้างให้ธงสีรุ้งเป็นเครื่องหมายต่างๆ เพื่อร่วมเทศกาลนี้ งานไพรด์ได้ขยายไปใหญ่มากขึ้น จากเดิมที่เป็นกิจกรรมกลุ่มนักต่อสู้ LGBT ก็ขยายไปสู่ประชาชนทั่วไปที่สนับสนุนเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศ

     สิ่งที่น่าสนใจคือ มีกลุ่มบริษัทสนใจเข้าร่วมสนับสนุนการจัดงานไพรด์มากขึ้น ในสหรัฐอเมริกามีทั้งแบรนด์สินค้าชั้นนำ ห้างร้าน ธนาคาร เข้ามาร่วมตั้งบูธและจัดขบวนในฐานะผู้สนับสนุนงานอย่างใหญ่โตพร้อมป้ายโลโก้ใหญ่ๆ วัฒนธรรมงานไพรด์จึงขยายไปเรื่อยๆ ผ่านสินค้าและบริการเพื่อยืนยันว่าแบรนด์เหล่านั้นมีภาพลักษณ์ที่ดีต่อการสนับสนุนกลุ่ม LGBT

 

Photo: PAU BARRENA/AFP

 

สำรวจงานไพรด์ในเมืองใหญ่ทั่วโลก

     งานไพรด์ที่มีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนมากมักเป็นเมืองใหญ่ๆ เช่น ซานฟรานซิสโก นิวยอร์ก ลอนดอน โตรอนโต ออสเตรเลีย และอีกหลายหัวเมือง ในปีนี้แต่ละแห่งก็มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

     ในเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่มาร่วมเดินในงานไพรด์ เป็นประธานกล่าวสุนทรพจน์ประเด็นสิทธิเพศหลากหลาย และเป็นครั้งแรกที่มีการชักธงของกลุ่มคนข้ามเพศขึ้นสู่ยอดเสาหน้าอาคารรัฐสภา เป็นธงสีฟ้าขาวเพื่อแสดงออกถึงความก้าวหน้าของกฎหมายคุ้มครองกะเทยในแคนาดา

     สำหรับนครนิวยอร์กเป็นเหมือนเวทีที่บรรดาห้างร้านและแบรนด์ชั้นนำต่างแข่งขันนำเสนอบทบาทในการเป็นผู้สนับสนุน เส้นทางสายหลักบนถนนเลขที่ห้าเปลี่ยนจากถนนสายแฟชั่นเป็นถนนสายสีรุ้ง LGBT เด็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุต่างมุ่งหน้าเพื่อมาชมขบวนของกลุ่มตัวแทนต่างๆ ประกอบด้วยขบวนของกลุ่มเกย์ กลุ่มเลสเบี้ยน กลุ่มแคริบเบียน กลุ่มแอฟริกันอเมริกัน กลุ่มไบเซ็กชวล กลุ่มผู้นำศาสนา กลุ่มเครือข่ายครอบครัวเพศหลากหลาย และอีกนับร้อยกลุ่ม ซึ่งเป็นงานที่ใช้เวลาชมได้ทั้งวัน รวมทั้งมีผู้มีชื่อเสียง ดารา นักแสดงมาร่วมในขบวนด้วย

     ส่วนในอาเซียนมีเพียงแห่งเดียวที่น่าสนใจที่สุด อาจไม่ใช่งานไพรด์ที่เป็นแบบเดินขบวน แต่เป็นการรวมตัวกันในนามงาน Pink Dot จัดที่สวนสาธารณะ Hong Lim Park โดยทุกคนร่วมใจกันใส่เสื้อสีชมพูเพื่อสื่อสารเรื่องสิทธิของเพศหลากหลายและมีคนเข้าร่วมมากขึ้นทุกปี ธีมหลักเป็นเรื่องอิสรภาพแห่งรัก ซึ่งเป็นจุดเด่นของงานรณรงค์นี้มาตั้งแต่ปี 2009 ที่สื่อสารกับสังคมเรื่องความรัก ทั้งการรักตนเอง รักครอบครัว และสังคม โดยให้ความหมายว่า ความรักก็คือการยอมรับนั่นเอง แถมยังเป็นงานที่ได้รับอนุญาตให้จัดได้ในพื้นที่สวนสาธารณะแห่งนั้นที่เดียวและไม่ถือว่าผิดกฎหมาย อีกทั้งมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการประชาสัมพันธ์งานได้น่าสนใจ

 

Photo: MARVIN RECINOS/AFP

 

โฉมหน้างานไพรด์ที่เปลี่ยนไป เมื่อเงินทุนหลั่งไหลมาจากภาคเอกชน

     จากที่กล่าวถึงงานไพรด์ข้างต้นทำให้เห็นประเด็นการสื่อสารทางสังคมของกลุ่ม LGBT ที่ใช้พื้นที่ในการแสดงออกทางเพศภาวะได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปมากมาย

     แรกเริ่มกิจกรรมแนวนี้เป็นงานของนักรณรงค์ที่รวมกลุ่มกันทำเรื่องนี้ในด้านการรำลึกถึงเหตุการณ์ต่อต้านและใช้ความรุนแรง สื่อใจความสำคัญเรื่องความเสมอภาคและความเท่าเทียม

     แต่ในปีนี้มีการสนับสนุนของแหล่งทุนจากภาคเอกชนมากยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่ากลุ่มทุนในโลกแบบทุนนิยมส่งผลด้านบวกต่อการจัดงานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ แม้จุดประสงค์อยู่ที่การพยายามใช้กลไกการตลาดเพื่อสังคม หรือการลงทุนกับประเด็นสังคม และสนับสนุนด้านเงินทุนจำนวนมาก แต่ก็นับเป็นผลลัพธ์ที่คุ้มค่า ทำให้เกิดมูลค่าและคุณค่าของทั้งองค์กรและสินค้าของยี่ห้อนั้นๆ เป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคต่อสินค้าและบริการมากขึ้น

     อีกทั้งยังสะท้อนมุมมองของภาคเอกชนที่มีต่อกลุ่ม LGBT ว่าเป็นกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ต้องตีตลาดด้วยความเข้าใจในเรื่องความทันสมัยและกำลังซื้อต่อสินค้า

     ทุนจึงเป็นอีกแรงหนึ่งของการทำงานเคลื่อนไหวในสิทธิความหลากหลายทางเพศ หากเทียบกับเมื่อก่อนที่มีการใช้กลไกทางการเมืองเป็นหลัก คือการพยายามสร้างความเข้าใจสิทธิกับพรรคการเมือง มีนักการเมืองออกมาพูดเรื่องนี้เพื่อสนับสนุนให้เป็นนโยบาย ระยะเวลาสั่งสมจนทำให้มีนักการเมืองที่สนับสนุนสิทธิและมีตัวแทนของเพศหลากหลายอยู่ในสภา แต่กลไกแบบนี้ค่อยๆ กลายมาแนวของการทำงานเรื่องสิทธิที่อิงกับแหล่งทุนทางภาคธุรกิจมีแนวโน้มสูงขึ้น

     งานของ The Economist ก็เป็นอีกข้อยืนยันหนึ่ง จากที่มีการศึกษาโครงการ #EcoPride Pride and Prejudice ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจเพื่อเพศหลากหลาย ที่ให้บรรดาผู้นำองค์กร ผู้บริหารระดับสูงออกมากล่าวถึงนโยบายการสนับสนุน LGBT ในภาคธุรกิจ และประเทศไทยเคยจัดงานประชุมทำนองนี้หนึ่งครั้งโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ UNDP มีบริษัทชั้นนำในไทยเข้าร่วมกว่าสิบบริษัท แต่ก็เป็นเวทีสะท้อนว่าภาคธุรกิจไทยห่างไกลจากแนวคิดเรื่องสิทธิอยู่มาก

 

Photo: PAU BARRENA/AFP

 

สีน้ำตาลและสีดำที่ถูกเพิ่มบนธงสีรุ้ง

     อีกเรื่องที่อยากยกมานำเสนอ นับเป็นความพีกของงานไพรด์ปีนี้คือ กรณีเมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา ที่กลุ่มนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเพศหลากหลายได้ออกมาแจ้งว่าปีนี้ในงานไพรด์ของเมืองจะมีการเพิ่มสีเข้าไปในธงสีรุ้ง นั่นคือสีน้ำตาลและสีดำ เพิ่มมาเป็นสองสีอยู่ด้านบนสุดของธงสีรุ้ง เพื่อรณรงค์เรื่องความสำคัญของกลุ่มคนผิวสีที่เป็น LGBT เรียกว่า People of Color – POC ในแคมเปญ ‘More Color More Pride’

     การทำให้กลุ่มคนผิวสีมีตัวตนในประเด็นสิทธิเพศหลากหลาย และเป็นการยืนยันในหลักการเสมอภาคและเท่าเทียม เนื่องจากสถานการณ์การถูกเลือกปฏิบัติและการตีตราพบว่า กลุ่มเพศหลากหลายที่เป็นคนผิวสีถูกกระทำความรุนแรงในอัตราที่สูงมากอย่างต่อเนื่องในสังคมอเมริกา และรวมไปถึงอาชญากรรมที่ทำให้เกิดการสูญเสียซึ่งชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มคนข้ามเพศที่เป็นคนผิวสี

     บทความในวารสารว่าด้วยคนรักเพศเดียวกัน (Journal of Homosexuality)1 กล่าวถึง กลุ่ม LGBT-POC ว่า กลุ่มคนเหล่านี้ถูกกระทำความรุนแรงจากอคติในอัตลักษณ์ทางเพศและการเหยียดสีผิวบวกรวมกัน จึงเป็นความทับซ้อนของปัญหาและความรุนแรงที่เกิดขึ้น เมื่อนึกย้อนไปปี 2015 กับกรณีกราดยิงในผับที่เมืองออร์แลนโด สหรัฐอเมริกา ยิ่งชี้ให้เห็นถึงความเกลียดชังในความเป็นชาติพันธุ์ เพราะคืนที่เกิดเหตุเป็นงานปาร์ตี้ของกลุ่มลาติน และผู้ก่อเหตุเลือกที่จะกราดยิ่งในคืนนั้น เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากและสร้างความสะเทือนใจต่อชุมชน LGBT

     การเพิ่มสีเข้าไปในธงสีรุ้งนั้น มีกลุ่มนักเคลื่อนไหวผิวสีออกมากล่าวถึงกรณีนี้ว่า อาจไม่ใช่เรื่องที่มาพูดรวมกันได้ เพราะเรื่องการเหยียดสีผิวในสหรัฐอเมริกาเป็นประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ต่อสู้เรื่องชนชั้นและการเลือกปฏิบัติเหตุแห่งสีผิว แม้แต่กลุ่ม LGBT ผิวขาวก็ออกมาให้ความเห็นว่า การเคลื่อนไหวด้วยธงสีรุ้งเดิมก็เป็นการแทนและให้ความหมายรวมทุกกลุ่มทุกคนแล้ว ไม่จำเป็นต้องเพิ่มสีเข้าไปอีก

     ดิฉันมองเรื่องนี้ในฐานะเป็นคนใน (หมายถึงเป็น LGBT) ดิฉันก็นับตนเองเป็นกลุ่มผิวสีหากอยู่ในสังคมอเมริกา ดิฉันเห็นว่าการเพิ่มสีจะช่วยสื่อความหมายของการรวมเอาการมีอัตลักษณ์อื่นๆ ที่ทำให้เกิดพื้นที่และการแสดงออกทางตัวตนทางเพศภาวะได้ เป็นการให้ความสำคัญต่อคนชายขอบ คนที่เป็นเป้าของการถูกเหยียด และเป็นเรื่องที่สมควร

     การเพิ่มสีนั้นเป็นสัญญะด้านสิทธิที่ขยายออกไป ทำให้ดิฉันนึกถึงข้อเสนอในเวทีสากลที่จะต้องมีการพูดถึงการให้ความสำคัญกับประเด็นความหลากหลายทางวัฒนธรรม ยิ่งในเอเชียและแปซิฟิกก็ยิ่งควรจะนำเสนอถึงเรื่องนี้มากที่สุดเพื่อให้เกิดมิติความละเอียดอ่อนต่อข้อเสนอต่างๆ

     ในอีกด้าน ดิฉันเห็นว่าหากยกเรื่องนี้กับเรื่องห้องน้ำของ LGBT ที่มีการเสนอให้เข้าห้องน้ำตามเพศกำเนิด หรือไม่ก็สร้างห้องน้ำแยกออกมาเพิ่ม หรือการจัดให้มีแบบคละเพศที่ทุกคนเข้าได้ ก็เป็นประเด็นที่มองเห็นว่า หรือแท้จริงแล้วไม่ควรแยกออก แบ่งขาด แต่ควรรวมให้เป็นหนึ่งเดียวกัน กล่าวได้ว่าดิฉันเองก็อยู่ในภาวะกึ่งกลางทางความคิดระหว่างการรวมเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม และการแยกกันเพื่อชี้ให้เห็นความหลากหลายเพื่อความเสมอภาค

 

Photo: NOEL CELIS/AFP

 

     ทุกสิ่งย่อมมีจุดของการเปลี่ยนแปลงและต้องมีจุดเริ่มต้น การให้ความเห็นต่อการเพิ่มสีเข้าไปในธงสีรุ้งก็ยังมีข้อถกเถียงกันต่อไป แม้ในความเป็นจริงจะมีธงประจำกลุ่มอัตลักษณ์ทางเพศอีกมากมายหลายธงในงานไพรด์นอกเหนือจากธงสีรุ้ง

     ดังนั้นเพศที่ไม่มีความนิ่ง และมีความลื่นไหลสูงจนในอนาคตเราไม่สามารถนิยามได้ การมีธงหรือสัญลักษณ์ก็ย่อมมีเพิ่มขึ้นอีก การต่อสู้เพื่อการแสวงหาความเป็นธรรมเป็นเรื่องของการมองให้เห็นถึงความหลากหลายทั้งทางชนชั้น ภาษา ศาสนา การเมือง เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจและยอมรับกัน การยุติอคติและการตีตราด้วยเหตุแห่งเพศและเรื่องอื่นๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้น ยังนับเป็นเรื่องท้าทายมากของการพิทักษ์สิทธิ

     นอกจากนี้ในงานไพรด์ยังมีความท้าทายในเรื่องของกระแสทุนและอาจนำไปสู่การจัดงานในเชิงธุรกิจ หรือนี่เป็นเวลาที่ต้องขยายความรู้ความเข้าใจในภาคเอกชนก็เป็นได้

     ในประเทศไทยจะมีการจัดงานไพรด์ในสิ้นปีนี้ ดิฉันหวังที่จะเห็นงานที่เป็นพื้นที่ของพวกเราทุกคนและเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการนำเสนอประเด็นสิทธิชีวิตความเป็นอยู่และให้สังคมได้เข้าใจและมีส่วนร่วมในการพัฒนาสิทธิเพศหลากหลายมากขึ้น หวังว่างานไพรด์จะสร้างวัฒนธรรมความเป็นเพศให้สังคมได้เรียนรู้และขยายต่อยอดจากเทศกาลแห่งความภาคภูมิใจ และสังคมก็ร่วมภูมิใจในความหลากหลาย – Happy Pride ภูมิใจที่เป็นเรา

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X