ภาพการลงทุนโดยรวมในเดือน มีนาคมที่ผ่านมา อาจจะพูดได้ว่ามีพัฒนาการในเชิงลบ มากกว่าไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ความกังวลส่วนใหญ่กระจายไปในเรื่องของโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะเริ่มถดถอยลง อันเนื่องมาจากนโยบายภาษีของประธานาธิบดีสหรัฐฯ นอกจากนั้น ความกังวลเรื่อง เงินฝืดในหลายประเทศทั่วโลกเนื่องจากนโยบายภาษีดังกล่าว ก็ทำให้ความกังวลเรื่องภาวะเงินฝืดหรือมีเงินแต่ไม่ใช้ Stagflation เริ่ม ขยายตัวออกไปในวงกว้าง
ภาพต่างประเทศ ความกังวลต่อปัจจัยสงครามการค้าของสหรัฐ และมาตรการตอบโต้จากประเทศที่ถูกขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า หรือนโยบายภาษีเท่าเทียม โดยจีนได้ออกมาตรการตอบโต้สหรัฐ ด้วยการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เพิ่มเติมสูงสุด 15% และจีนได้ประกาศว่าพร้อมที่จะทำสงครามการค้าในทุกรูปแบบกับสหรัฐ ในขณะที่ยุโรป ได้ออกมาตอบโต้การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ อย่างแข็งกร้าว โดยประกาศใช้มาตรการตอบโต้ที่รวดเร็วกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ และแคนาดาได้ประกาศว่า จะเก็บภาษี 25% กับสินค้าสหรัฐฯ มูลค่าประมาณ 2.08 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยมุ่งเป้าไปที่เหล็ก อะลูมิเนียม และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์กีฬา
ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย จากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเดินหน้าสงครามการค้าจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สร้างความผันผวนให้กับภาวการณ์ลงทุนทั่วโลก
สำหรับตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด และ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ลดลง ซึ่งต่ำกว่าคาด และต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ทำให้คาดกันว่า FED จะปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง จากเดิมคาดไว้ 2 ครั้ง
แต่อย่างไรก็ตาม ความกังวลสงครามการค้าที่อาจสร้างความรุนแรงมากขึ้นคือ การตอบโต้ของสหรัฐ ที่เตรียมประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ในวันที่ 2 เม.ย. ซึ่งประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบที่สหรัฐจะขึ้นภาษีนำเข้าจากไทยด้วย ประมาณการผลกระทบที่อาจจะมาจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย จะทำให้ GDP ของประเทศไทยลดลง ประมาณ 0.3 – 0.6 % มีผลทำให้ GDP ไทยปีนี้ต่ำกว่า 3% แน่นอน
สำหรับภาพในประเทศ ภาพรวมผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ประกาศออกมา ไม่ดีส่วนใหญ่เป็นผลจาก ไตรมาส 4/67 ที่ออกมาต่ำกว่าคาด ส่งผลต่อการทบทวนประมาณการผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในปี 2568 ต่อมาในช่วงปลายเดือน ก็มีเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีแต่ก็ไม่มีสาระสำคัญอะไร เสถียรภาพรัฐบาลยังเหมือนเดิม
ในช่วงสิ้นเดือนตลาดหุ้นได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็วจากแผ่นดินไหวในประเทศไทยทำให้ตลาดหุ้นฯ ต้องหยุดทำการซื้อขายในช่วงบ่ายของวันที่ 28 มี.ค. เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง แต่ก่อให้เกิดบรรยากาศที่เป็นลบระยะสั้น ในขณะที่ภาวะการลงทุนยังคงถูกกดันจากภาพเศรษฐกิจในประเทศที่มีพัฒนาการถดถอยมากกว่า
ปัจจัยบวกยังพอมี เช่น
- การประกาศตัวเลขส่งออกเดือนกุมภาพันธ์เติบโต 14% y-y อย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง
- พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ คาสิโนได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว
- ธปท. ผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ชั่วคราว เพื่อประคับประคองภาคอสังหาริมทรัพย์
- ก.ล.ต. ออกเกณฑ์รองรับการจัดตั้งและจัดการกองทุน Thai ESGX โดย คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ Thai ESG Extra รับสิทธิลดหย่อนภาษีสูงสุด 500,000 บาท
- บอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจได้ข้อสรุปการออก ดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท เฟส 3 ให้กับกลุ่มเจน Z หรือช่วงอายุ 16-20 ปี จำนวน 2.7 ล้านคน
- จีนเร่งประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เตรียมพร้อมออกบอนด์ 1.3 ล้านล้านหยวน ภายในปีนี้
มาเล่าบรรยากาศการลงทุนด้วยตลาดหุ้นดีกว่า SET Index ในเดือนมีนาคม 2568 ปิดที่ 1,158.09 จุด ดัชนีปรับลดลง 45.63 จุด (-3.8%) โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 38,097 ล้านบาท ลดลง 25.9% จากเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เหตุผลหลักก็มาจากความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐที่เข้าสู่ภาวะถดถอย และเศรษฐกิจจีนที่อาจเกิดภาวะเงินฝืด เล่าสั้นๆ แค่นี้ก็พอครับ
สำหรับเดือน เมษายน ภาพการลงทุนไม่น่าเปลี่ยนแปลง หลายสำนักบอกว่าตลาดหุ้นต่ำแล้ว ส่วนตลาดตราสารหนี้ ยังมีทิศทางที่ไม่แน่นอนแนวโน้ม กนง. อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้อีกสักครั้ง ราคาน้ำมันมีทิศทางปรับตัวลดลงมาจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ราคาทองยังปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากความไม่แน่นอน เรื่องสงครามจริงและสงครามการค้า
ปัจจัยที่น่าจับตามองสำหรับเดือน เมษายน คือ นโยบายภาษีของสหรัฐฯที่จะประกาศในวันที่ 2 เม.ย. และ ความคาดหวังว่ารัฐบาลจีนจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี การลงทุนในเดือนนี้ ระดับของ SET Index อยู่ในระดับที่ต่ำมาก พอร์ตการลงทุน ยังควรที่จะมีหุ้น 50% แต่มีมุมมองที่ระมัดระวังมากขึ้น เน้นกระจายสหรัฐฯ 15% ส่วน ยุโรป และ ญี่ปุ่น รวมกัน 15% เวียดนาม อินเดีย ไทย รวมกันไม่เกิน 15% และจีน 5%
ทั้งนี้การวางกลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศในช่วงถัดจากนี้แนะนำกระจายลงทุนในสินทรัพย์ที่เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะข้างหน้าพร้อมจับจังหวะช่วงตลาดฟื้นตัว หลังตลาดหุ้นโลกถูกกดดันจากความกังวลด้านสงครามการค้าที่รุนแรง อีกทั้ง จากข้อมูลในไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่า หุ้นมูลค่า (Value) และหุ้นปลอดภัย (Defensive Stocks) หุ้นกลุ่มนี้ได้สร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าเฉลี่ยในไตรมาสแรก หากเทียบกับหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (Big Tech) และหุ้นเติบโต (Growth) ทั้งนี้ พอร์ตการลงทุนควรมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนอย่างเหมาะสม
ภาพ: Denisfilm / Getty Images