×

จากแผ่นดินไหว สู่ภาษีทรัมป์: ‘วิกฤต’ หรือ ‘โอกาส’?

07.04.2025
  • LOADING...

หากพิจารณาถึงสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันแล้ว ไม่แน่ใจว่าท่านผู้อ่านจะรู้สึกเหมือนผมไหมครับว่า ประเทศไทยเรากำลังเจอกับแผ่นดินไหว 2 รอบ แม้จะเป็นอาการของแผ่นดินไหวคนละบริบทก็ตาม

 

แผ่นดินไหวรอบแรกเป็นเรื่องทางธรรมชาติ อันเป็นผลจากปัญหารอยเลื่อนทางธรณีวิทยา แต่ในรอบ 2 เป็นแผ่นดินไหวทางการเมืองและเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวโยงกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัฐมหาอำนาจใหญ่คือ สหรัฐอเมริกาที่มีการประกาศขึ้นกำแพงภาษีกับสินค้านำเข้าจากทั่วโลก ซึ่งการประกาศเช่นนี้ส่งผลโดยตรงกับการส่งออกของไทย ที่ถือเป็น ‘หัวรถจักร’ สำคัญของเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด 

 

หากหัวรถจักรตัวนี้เกิดมีอาการติดขัด ขับเคลื่อนไม่ได้ อันเป็นผลของปัญหากำแพงภาษีของทรัมป์แล้ว ย่อมจะเป็นคำตอบในตัวเองว่า อนาคตเศรษฐกิจไทยไม่มีทางสดใสอย่างแน่นอน หรืออย่างน้อยเป็นสัญญาณว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2025 นั้น กำลังมีอุปสรรคใหญ่รออยู่เบื้องหน้า

 

วิกฤตกับการเมือง

 

ในทางรัฐศาสตร์ เรามักจะมีข้อสังเกตว่า ปัญหาของแผ่นดินไหวมีผลในทางการเมืองอย่างหนึ่งอย่างใดเสมอ โดยเฉพาะในกรณีของแผ่นดินไหวใหญ่ เพราะจะมีการเสียชีวิตของผู้คน ที่มาพร้อมกับการพังทลายของตึกรามบ้านช่องนั้น ย่อมเป็นปัญหาทางการเมืองในตัวเอง และยิ่งมีความรุนแรงมากเท่าใด ก็ยิ่งมีผลทางการเมืองมากเท่านั้น กล่าวคือ ภัยพิบัติดังกล่าวแม้จะเป็นเรื่องทางธรรมชาติ แต่ความรับผิดชอบของรัฐบาลในการจัดการบรรเทาผลที่เกิดตามมานั้น เป็นประเด็นสำคัญ

 

ข้อสังเกตเช่นนี้เกิดขึ้น เพราะความสูญเสียทั้งชีวิต อาคารที่อยู่อาศัย และทรัพย์สินของผู้คนในสังคมนั้น เป็นความท้าทายโดยตรงต่อขีดความสามารถในการบริหารจัดการของรัฐ ซึ่งก็มีนัยของการเป็นประเด็นทางการเมืองในตัวเอง เช่น ในสังคมที่มีระบบจัดการปัญหาภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น เมื่อเกิดปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ และมีผลกระทบกับชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน รัฐบาลมักจะไม่ตกเป็นเป้าหมายของการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองมากนัก เพราะปัญหาเช่นนี้ ถูกแก้ด้วยการบริหารจัดการของรัฐบาลในการรับมือกับภัยที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การจัดการภัยพิบัติของรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้

 

ดังนั้น จึงไม่แปลกแต่อย่างใดที่จะกล่าวว่า ‘การรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ’ คือ กุญแจดอกสำคัญของการลดผลกระทบทางการเมืองจากปัญหาภัยพิบัติดังกล่าว เนื่องจากประสิทธิภาพของรัฐ จะเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนถึงสถานะและขีดความสามารถของรัฐบาลในมุมมองของประชาชน 

 

อีกทั้ง เราอาจกล่าวในมิติทางรัฐศาสตร์ได้ว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่ ซึ่งมักจะมีความเป็น ‘วิกฤต’ ในตัวเองด้วย คือ ‘ห้องสอบ’ ของรัฐบาล และคงไม่ผิดนักที่จะต้องกล่าวว่า คนที่ถูกจับให้ทำข้อสอบที่หนักที่สุด ก็คือตัวผู้นำประเทศนั่นเอง และในบริบทของไทยคือ ตัวนายกรัฐมนตรีจะถูกทดสอบจาก ‘ข้อสอบ’ ชุดนี้ แม้จะมีส่วนราชการเข้ามารับผิดชอบตามสายงานก็ตามที แต่อำนาจการจัดการสูงสุดเป็นอำนาจที่นายกรัฐมนตรีจะต้องแสดงให้สังคมได้เห็น

 

ดังนั้น ผู้นำประเทศจึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบในความเป็นรัฐบาล ที่จะต้องแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้น ภาวะเช่นนี้ในด้านหนึ่ง ทำให้วิกฤติจึงเป็นโอกาสในการแสดงให้เห็นขีดความสามารถของรัฐบาล หรือที่เรามักชอบพูดกันเสมอในยามที่ประเทศต้องเจอกับปัญหาใหญ่ว่า รัฐบาลต้อง “เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส” ให้ได้ กล่าวคือ วิกฤตเปิดโอกาสให้รัฐบาลได้ ‘โชว์ฝีมือ’ 

 

ถ้ารัฐบาลสามารถทำได้จริงตามที่กล่าวแล้ว ผลที่ตามมาจะกลายเป็น ‘คะแนนเสียง’ ทางการเมืองชุดใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บทบาทของรัฐบาลไทยรักไทยในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 1997 (วิกฤตต้มยำกุ้ง) ทำให้ภาพความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร โดดเด่นขึ้นมาอย่างชัดเจน และกลายเป็นเครดิตทางการเมืองของพรรคไทยรักไทยมาอย่างยาวนาน

 

แต่ในอีกด้านของปัญหา อาจจะเป็นสภาวะในทางกลับกันคือ รัฐบาลต้องไม่ “ทำโอกาสให้เป็นวิกฤต” เพราะโอกาสที่เปิดให้รัฐบาล โดยเฉพาะตัวผู้นำประเทศได้แสดงขีดความสามารถนั้น จะกลายเป็นวิกฤตไปอย่างน่าเสียดาย ถ้ารัฐบาลไม่มีขีดความสามารถในการรับมือกับวิกฤตที่เกิดได้จริง หรือรัฐบาลไม่สามารถแสดงให้ประชาชนในประเทศเกิดความเชื่อมั่นต่อการดำเนินการของรัฐบาลในวิกฤตที่เกิดขึ้น

 

ในภาวะเช่นนี้ ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อตัวผู้นำในการเป็นผู้แก้ไขปัญหาของประเทศในยามวิกฤติ หรือเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘วิกฤติศรัทธา’ ต่อตัวผู้นำรัฐบาล

 

ผลสืบเนื่องทางการเมืองจากสภาวะเช่นนี้ก็คือ วิกฤตที่เกิดขึ้นมักจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของรัฐบาล หรือในบางประเทศ วิกฤตเช่นนี้คือ จุดเริ่มต้นของการประท้วงต่อต้านรัฐบาลนั่นเอง เพราะวิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องบ่งชี้ที่ชัดเจนถึงขีดความสามารถของรัฐบาลในตัวเอง 

 

วิกฤตหรือโอกาส?

 

ที่เปิดประเด็นนำร่องมาอย่างยืดยาวในข้างต้นนั้น ก็เพื่อให้เห็นภาพรวมทางรัฐศาสตร์ถึงผลของวิกฤตที่จะเกิดกับรัฐบาล หรือกับตัวผู้นำประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม บทความจะไม่มุ่งประเด็นในเรื่องของภัยทางธรรมชาติที่ทำให้ตึกของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มลงมา และมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่อย่างน้อยในกรณีนี้ ก็ดูจะมีข้อวิจารณ์รัฐบาลอยู่พอสมควร และโอกาสที่เปิดรอให้รัฐบาลได้แสดงฝีมืออย่างดีก็คือ การเข้ามาจัดการกับการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ และบุคคลสัญชาติไทย ตลอดรวมถึงการจัดการกับการแสวงหาประโยชน์ของกลุ่มทุนจีน ที่ใช้ความเป็นบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีความเป็นทุนข้ามชาติจากจีน เข้ามาแสวงประโยชน์จากความอ่อนแอของรัฐไทย อันเป็นผลจากการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่เกี่ยวข้อง จนทำให้บริษัทก่อสร้างจากจีนดังกล่าวขยายอิทธิพล และได้รับสัญญาในการก่อสร้างตึกของหน่วยราชการไทยหลายต่อหลายแห่ง

 

ถ้าผู้นำรัฐบาลจะกล้าพอที่จะเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสแล้ว การประกาศเดินหน้า ‘ชูธงนำ’ ในการจัดการกับการคอร์รัปชันของข้าราชการไทย บุคคลสัญชาติไทย และบุคคลสัญชาติจีนที่เกี่ยวข้องในกรณีตึกถล่ม จะส่งผลให้ตัวนายกรัฐมนตรีมี ‘ภาพบวก’ ทางการเมืองของการเป็นผู้นำประเทศได้อย่างแท้จริง และลบภาพที่ถูกดูแคลนมาโดยตลอด เพราะผู้คนในสังคมกำลังรู้สึกว่า ‘วิกฤตตึกถล่ม’ ครั้งนี้ คือ เครื่องวัดใจรัฐบาลในการจัดการกับปัญหาคอร์รัปชันที่เห็นได้ชัดอย่างประจักษ์จากภาพข่าวในแต่ละวัน เพราะภาพเช่นนี้คือ ประจักษ์พยานของการคอร์รัปชันขนาดใหญ่ในภาคราชการไทย

 

ส่วนวิกฤตอีกชุด เป็นดัง ‘แผ่นดินไหวทางเศรษฐกิจการเมือง’ อันเป็นผลจากการประกาศขึ้นกำแพงภาษีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งดูจะไม่มีประโยชน์เอาเสียเลย ที่คนมีตำแหน่งในรัฐบาลจะออกมาอธิบายในแบบว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก…คำอธิบายนามธรรมเช่นนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนรู้อยู่แก่ใจ แต่วันนี้ ทุกคนในสังคมอยากรู้ว่า รัฐบาลจะนำเสนออะไรเป็นแนวทางในการแก้ปัญหากำแพงภาษีของทรัมป์ 

 

ถ้าคำตอบของรัฐบาลในการสู้กับมาตรการภาษีคือ การเปิดสถานบันเทิงคาสิโนแล้ว ก็ตอบได้ว่า รัฐบาลกำลังสร้าง ‘วิกฤตศรัทธา’ ให้กับตัวเองอย่างช่วยไม่ได้ เพราะขณะที่คนมีตำแหน่งในรัฐบาลไทย น่าจะสามารถนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาของประเทศ ด้วยภูมิปัญญาที่มากกว่าข้อเสนอเรื่อง ‘บ่อนคาสิโน’

 

ขณะที่ผู้มีตำแหน่งระดับสูงของรัฐบาลไทยนำเสนอการแก้ปัญหากำแพงภาษีของทรัมป์ด้วยบ่อนคาสิโนนั้น ผู้นำในประเทศเพื่อนบ้านกลับเสนอยุทธศาสตร์ และแนวทางที่พยายามสร้าง ‘อำนาจการต่อรอง’ ให้ประเทศในรูปแบบต่างๆ เช่น ข้อเสนอภาษีสินค้าสหรัฐฯ นำเข้าเวียดนามที่ 0% หรือผู้นำกัมพูชาส่งจดหมายถึงทำเนียบขาวขอลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ หรือการออกมาสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในบ้านของผู้นำสิงคโปร์ หรือการเปิดเวทีของประธานอาเซียนในการแสวงหาทางออกร่วมกันของผู้นำ 5 ชาติ (ในกรณีนี้ ไม่มีผู้นำไทยรวมอยู่ด้วย) เป็นต้น

 

การแสดงออกของผู้นำชาติต่างๆ ไม่เพียงต้องการให้คนในสังคมรับรู้ถึง ‘ความกระตือรือร้น’ ของรัฐบาลในการแก้ปัญหาเท่านั้น หากยังมีนัยถึงการบ่งบอกถึง ‘ความเร่งด่วน’ ของปัญหาที่รัฐบาลจะต้องรีบแก้ไข…ไม่ใช่การรอเรียกประชุมหลังวันหยุดราชการ (ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ได้ในทางการเมือง!)

 

แต่จนถึงวันนี้ เราแทบไม่ได้ยินมาตรการในการรับมือกับกำแพงภาษีของทรัมป์จากรัฐบาลไทยแต่อย่างใด…เราไม่เห็นภาพของนายกรัฐมนตรีที่ควรจะต้อง ‘นั่งหัวโต๊ะ’ ในการประชุม ครม. เศรษฐกิจ และรีบประชุมกับทีมที่ปรึกษาในเรื่องนี้ (ถ้าทีมนี้ยังมีสภาพจริง!) [บทความนี้เขียนในวันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน ก็ยังไม่เห็นภาพเช่นนั้น] 

 

ผู้นำรัฐบาลจะต้องรีบทำความเข้าใจว่า ผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์ กำลังก่อวิกฤตขนาดใหญ่กับเศรษฐกิจไทยอย่างที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญหรือนักเศรษฐศาสตร์คนไหนมาอธิบาย และสิ่งที่ต้องการอย่างมากขณะนี้คือ การแสดงออกถึง ‘ความเร่งด่วน’ ในการแก้ปัญหาของรัฐบาล ซึ่งในอีกมุมหนึ่งนั้น ตัวนายกรัฐมนตรีจะต้อง ‘เร่ง’ ทำความเข้าใจในเรื่องนี้ และไม่ใช่การใช้เวลาในการไปเดินเปิดงานในสถานการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่ เพราะประเทศต้องการ ‘การนำ’ จากสถานะของความเป็นรัฐบาล

 

การประกาศกำแพงภาษีของทำเนียบขาวเช่นนี้กำลังเป็นคำตอบในตัวเองว่า วิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ในเวทีโลกกำลังก่อตัวขึ้น พร้อมกับภาวะของ ‘สงครามการค้า’ ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จะมีแนวโน้มที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นด้วยในอนาคต ปรากฏการณ์เช่นนี้ย่อมเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า เศรษฐกิจโลก 2025 ไม่มีทางที่จะสดใสอย่างแน่นอน พร้อมกับเศรษฐกิจไทยที่มีปัญหามาระยะหนึ่งแล้ว จะยิ่งมีปัญหามากขึ้นไปอีก อย่างน้อยราคาทองคำในปัจจุบันเป็นสัญญาณที่บ่งบอกให้เราได้ตระหนักถึง การมาของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในอนาคตอย่างแน่นอน

 

ความท้าทาย

 

ฉะนั้น ปัญหาความท้าทายเฉพาะหน้าที่สำคัญอย่างน้อย 3 ประการ คือ 1) อะไรคือ ‘แนวทาง’ ที่รัฐบาลโดยตัวนายกรัฐมนตรีจะบอกให้คนในภาคส่วนต่างๆ ของสังคมไทยเตรียมตัว 2) อะไรคือ ‘แนวคิด’ เชิงนโยบายที่จะรับมือกับกำแพงภาษีของทรัมป์ และ 3) อะไรคือ ‘ข้อเสนอ’ ในการปรับตัวของประเทศไทยกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่สดใสในอนาคต

 

การนำเสนอเช่นนี้ จะเป็นการแสดงให้เห็นถึง ‘การรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ’ ของรัฐบาลต่อวิกฤตที่เกิดขึ้น ดังนั้น วันนี้จึงไม่แปลกที่ผู้คนในสังคมไทยจึงใจจดใจจ่ออย่างยิ่งที่อยากจะได้ยินสิ่งเหล่านี้จากปากของนายกรัฐมนตรีเองในฐานะผู้นำประเทศ ไม่ใช่ออกมาในแบบแถลงการณ์ที่ดูจะเป็นภาษาแบบนามธรรมที่ไม่ตอบโจทย์ของวิกฤตที่ประเทศกำลังเผชิญ (อาจเปรียบเทียบกับการสื่อสารทางการเมืองของผู้นำสิงคโปร์ถึงคนในบ้านของเขา)

 

วันนี้ นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ในความเป็นผู้นำรัฐบาลจะต้องกล้าแสดงบทบาท ‘ถือธงนำ’ ในการแก้วิกฤตของประเทศ ดังเช่นที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เคยทำสำเร็จมาแล้วในวิกฤตเศรษฐกิจ 1997 (วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540) แม้ปัญหาและสถานการณ์จะมีความแตกต่างในเชิงบริบทก็ตาม แต่หน้าที่ของผู้นำประเทศในภาวะวิกฤตไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด

 

คิดเล่นๆ ท้ายบท

 

แต่ถ้าคิดอะไรไม่ออกเลย อยากเสนอ ‘เล่นๆ’ ดังนี้ 

 

1) ขอให้นายกรัฐมนตรีใส่เสื้อผ้าแบรนด์เนมของอเมริกันโชว์ทรัมป์ เพราะจากภาพที่ปรากฏ เห็นชัดว่านายกรัฐมนตรีชอบ ‘แบรนด์เนม’ ก็ขอใช้ของแบรนด์อเมริกันให้ทำเนียบขาวเห็น (ข้อเสนอนี้ไม่ได้มีเจตนากระแนะกระแหนเรื่องการแต่งกายของบุคคลแต่อย่างใด)

 

2) ประกาศซื้อเครื่องบินรบแบบ F-16 (block 70/72) ของสหรัฐฯ เพื่อเอาใจทรัมป์ไปเลย แทนที่จะปล่อยให้เป็นเรื่องตามใจทหารแถวดอนเมือง ที่คิดได้แค่ซื้อเครื่อง Gripen ของสวีเดน หรือทหารแถววังเดิม ที่อยากจะซื้อแต่ ‘เรือรบจีน’ ไม่หยุด 

 

3) นายกรัฐมนตรีอาจต้องคิดใหม่ว่า ถ้าไทยจะซื้ออาวุธ จะต้องทำให้การซื้ออาวุธวันนี้เป็นเครื่องมือช่วยในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ใช่การซื้อตามใจผู้มีอำนาจในกองทัพ เพียงเพราะการวิ่งเต้นของพ่อค้าอาวุธ หรือความอยากได้ของผู้นำเหล่าทัพ (ข้อเสนอนี้ไม่มีนัยที่ต้องการกล่าวถึงเรื่อง ‘เงินทอน’ แต่อย่างใดทั้งสิ้น)

 

แต่ถ้าดีที่สุดแล้ว บางทีรัฐบาลอาจจะต้องยุติการใช้งบประมาณที่ไม่ตอบโจทย์กับการแก้วิกฤตเศรษฐกิจในอนาคตไปทั้งหมด เพราะสถานะทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันกำลังอยู่ในภาวะที่ล่อแหลมและเปราะบางเป็นอย่างยิ่ง…วันนี้ สิ่งที่รัฐบาลไทยต้องการอย่างมากในปัจจุบันคือ การทำตามคำขวัญของพรรคไทยรักไทย…“คิดใหม่ ทำใหม่” เท่านั้นเอง!

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising