×

ซีอีโอชั้นนำรับมือกับความผันผวนทั่วโลกด้วยการทุ่มเทให้กับ AI และบุคลากร

25.11.2024
  • LOADING...

KPMG CEO Outlook ฉบับล่าสุด ซึ่งเผยแพร่โดยเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล มีหลายประเด็นสำคัญที่ผมคิดว่าน่าจับตามอง

 

จากผลการสำรวจ CEO Outlook ของเคพีเอ็มจีชี้ว่า มีเพียงร้อยละ 72 ของซีอีโอที่มั่นใจในทิศทางเศรษฐกิจโลกในอีกสามปีข้างหน้า ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับช่วงสองปีที่ผ่านมา แต่เมื่อมองย้อนกลับไปดูข้อมูลในปี 2558 จะพบว่าซีอีโอมีความมั่นใจสูงถึงร้อยละ 93

 

ตัวเลขที่ลดลงอย่างมากนี้เป็นผลกระทบจากความท้าทายทางธุรกิจหลายประการที่ซีอีโอต้องเผชิญตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ความท้าทายด้านห่วงโซ่อุปทานและปัญหาในการดำเนินงานได้กลายมาเป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุดในปีนี้ แซงหน้าความปลอดภัยทางไซเบอร์และความไม่มั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์และการเมือง ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งในปีที่ผ่านมา

 

ปี 2567 เป็นอีกหนึ่งปีที่มีทั้งความท้าทายและโอกาสทางธุรกิจที่ภาคเศรษฐกิจต้องคำนึงถึงในหลายประเด็น มุมมองของผู้นำองค์กรต่อประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางสำคัญของโลกธุรกิจในอนาคต ผมจึงอยากหยิบยกข้อมูลที่น่าสนใจจากผลสำรวจ KPMG CEO Outlook ฉบับล่าสุด ซึ่งเผยแพร่โดยเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล มาแบ่งปันกับทุกท่าน เพื่อให้ท่านได้เห็นถึงแนวคิดของซีอีโอจากบริษัทชั้นนำทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์โลก ซึ่งมีหลายประเด็นสำคัญที่ผมคิดว่าน่าจับตามอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อความก้าวหน้าของธุรกิจในอีกสามปีข้างหน้า เพื่อให้ทุกท่านได้เตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายและตัวแปรต่างๆ ในโลกธุรกิจแห่งอนาคต

 

สิบปีของการสำรวจซีอีโอทั่วโลกกับความท้าทายที่เปลี่ยนไป

 

จากผลการสำรวจ CEO Outlook ของเคพีเอ็มจีชี้ว่า มีเพียงร้อยละ 72 ของซีอีโอที่มั่นใจในทิศทางเศรษฐกิจโลกในอีกสามปีข้างหน้า ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับช่วงสองปีที่ผ่านมา (ร้อยละ 71 ในปี 2565 และร้อยละ 73 ในปี 2566) แต่เมื่อมองย้อนกลับไปดูข้อมูลในปี 2558 จะพบว่าซีอีโอมีความมั่นใจสูงถึงร้อยละ 93 ตัวเลขที่ลดลงอย่างมากนี้เป็นผลกระทบจากความท้าทายทางธุรกิจหลายประการที่ซีอีโอต้องเผชิญตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ความท้าทายด้านห่วงโซ่อุปทานและปัญหาในการดำเนินงานได้กลายมาเป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุดในปีนี้ แซงหน้าความปลอดภัยทางไซเบอร์ และความไม่มั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์และการเมือง ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งในปีที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่าซีอีโอถึงร้อยละ 72 รู้สึกกดดันมากกว่าปีก่อนหน้าในการรับประกันความสำเร็จในระยะยาวของธุรกิจ เพื่อรับมือกับแรงกดดันที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ ผมมีความเห็นว่าซีอีโอต้องหาวิธีสร้างความเชื่อมั่นโดยการเร่งการเติบโตของธุรกิจ โดยเฉพาะการเพิ่มการลงทุนในนวัตกรรมและเทคโนโลยี การให้ความสำคัญกับบุคลากร และการให้คำมั่นในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) เพื่อเป็นการสร้างคุณค่าให้แก่องค์กร

 

ความมุ่งมั่นในการลงทุนในเทคโนโลยี AI

 

เมื่อพูดถึงเทรนด์ธุรกิจแห่งอนาคต แน่นอนครับว่าการนำ AI (Artificial Intelligence) มาใช้ในการดำเนินงานเป็นประเด็นร้อนที่ถูกจับตามองในทุกภาคเศรษฐกิจ และผลการสำรวจ CEO Outlook เองก็แสดงข้อมูลที่สอดคล้องกัน โดยระบุว่าในปีนี้ซีอีโอร้อยละ 64 ให้ความสำคัญในการลงทุนด้าน AI เป็นลำดับต้นๆ และร้อยละ 63 คาดหวังจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนนี้ภายในสามถึงห้าปีข้างหน้า

 

อย่างไรก็ตาม การเร่งลงทุนกับ AI ยังคงมีความเสี่ยง โดยผลสำรวจได้ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายด้านต่างๆ ที่ผมอยากให้ธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำองค์กร พิจารณาเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือ ไม่ว่าจะเป็นความท้าทายด้านจริยธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาที่รับมือยากที่สุด ตามมาด้วยการขาดกฎข้อบังคับที่ชัดเจน และการขาดแคลนทักษะความสามารถ ผมคิดว่าการให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะของบุคลากรเพื่อให้สามารถใช้งานเทคโนโลยี AI ได้อย่างเต็มที่เป็นสิ่งจำเป็น เพราะบุคลากรคือหัวใจสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพของ AI อย่างเต็มรูปแบบ

 

หัวใจสำคัญคือการรักษาสมดุลระหว่างความต้องการของบุคลากรและธุรกิจ

 

หนึ่งในหัวข้อของทรัพยากรบุคคลที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงในช่วงสิบปีที่ผ่านมาคือเรื่องความยืดหยุ่นในการทำงาน ในยุคที่บุคลากรให้ความสำคัญกับความสอดคล้องระหว่างเป้าหมายส่วนตัวและเป้าหมายขององค์กรมากขึ้นเรื่อยๆ ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือผู้นำองค์กรต้องพิจารณาปรับกลยุทธ์ขององค์กรให้สอดคล้องกับความต้องการนี้ ด้วยการวางบุคลากรไว้เป็นศูนย์กลางของกลยุทธ์ด้านการเติบโต เพื่อที่จะดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถไว้

 

ประเด็นเกี่ยวกับการกลับไปทำงานที่ออฟฟิศก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้นำองค์กรต้องนำมาพิจารณา ผลการสำรวจในปีนี้แสดงให้เห็นว่าซีอีโอร้อยละ 83 คาดหวังว่าพนักงานจะกลับมาทำงานในออฟฟิศอย่างเต็มรูปแบบภายในสามปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 64 ในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ผมคิดว่าองค์กรที่เลือกใช้โมเดลการทำงานแบบไฮบริดเองก็อาจมีข้อได้เปรียบในการรักษาบุคลากรด้วยการให้ความยืดหยุ่นในการทำงาน

 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ ด้านบุคลากรที่อาจส่งผลต่อการเติบโตของบริษัทในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะที่จะมาทดแทนแรงงานที่กำลังจะเกษียณ ซีอีโอร้อยละ 80 เห็นด้วยว่าควรลงทุนกับการพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ตลอดชีวิตในชุมชนท้องถิ่น และร้อยละ 92 ตั้งใจที่จะเพิ่มจำนวนพนักงานในสามปีข้างหน้า เพื่อเตรียมรับมือกับจำนวนแรงงานที่ลดลงนี้

 

ความสำคัญของงานด้าน ESG ที่เพิ่มขึ้น

 

ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน ประเด็นด้าน ESG อาจเป็นสิ่งที่ผู้นำองค์กรอาจไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก ในปีนี้ผมอยากให้ทุกท่านได้เห็นข้อมูลที่น่าสนใจที่แสดงให้เห็นว่าซีอีโอให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้าน ESG และความยั่งยืนมากขึ้น และได้ผสาน ESG เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์องค์กร โดยเกือบหนึ่งในสี่ (ร้อยละ 24) ตระหนักว่าการไม่ปฏิบัติตามความคาดหวังด้าน ESG เป็นการยอมให้คู่แข่งได้เปรียบ สามในสี่ (ร้อยละ 76) ของซีอีโอกล่าวว่าพวกเขาพร้อมที่จะตัดส่วนที่ทำกำไรของธุรกิจทิ้งหากมันส่งผลต่อชื่อเสียงขององค์กร และซีอีโอร้อยละ 68 บอกว่าพวกเขาพร้อมที่จะแสดงจุดยืนในประเด็นที่มีความขัดแย้งทางการเมืองหรือทางสังคม แม้ว่าที่ประชุมคณะกรรมการจะแสดงถึงความกังวลในการกระทำดังกล่าว

 

แม้ประเด็นด้าน ESG เป็นสิ่งที่สังคมจับตามองและถกเถียงมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผลการสำรวจชี้ว่าซีอีโอมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 66) ยอมรับว่าพวกเขายังไม่พร้อมที่จะรับมือกับการตรวจสอบที่อาจเกิดขึ้น ทำให้ซีอีโอต้องหาวิธีรับมือกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้น โดยร้อยละ 69 เผยว่าแม้องค์กรจะใช้กลยุทธ์งานด้านสภาพภูมิอากาศแบบเดิมในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา แต่ก็ได้ปรับปรุงภาษาที่ใช้สื่อสารให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม หากท่านผู้นำองค์กรใดยังไม่เริ่มคำนึงประเด็นด้าน ESG ผมเห็นว่าการเริ่มต้นพิจารณาผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต ตลอดจนวางแผนปรับกลยุทธ์ขององค์กรเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม

 

สรุป

 

ในโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยความผันผวน ผู้นำองค์กรต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ ทั้งจากภูมิรัฐศาสตร์และการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน ไปจนถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์ ภาวะเงินเฟ้อ และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ผมเชื่อว่าสิ่งสำคัญที่ซีอีโอยุคปัจจุบันต้องมีคือความสามารถในการปรับตัวที่รวดเร็วเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายที่เปลี่ยนแปลงและวิสัยทัศน์ที่แน่วแน่ในการวางกลยุทธ์เพื่ออนาคตด้วยการลงทุนกับเทคโนโลยี นอกจากนี้การให้ความสำคัญกับบุคลากรและการสร้างความยั่งยืนผ่านการดำเนินงาน ESG จะช่วยสร้างคุณค่าให้องค์กรในระยะยาวได้

 

หมายเหตุ

 

  • การสำรวจ CEO Outlook ของเคพีเอ็มจีฉบับที่ 10 เป็นการสำรวจซีอีโอจำนวน 1,325 คน ในช่วงวันที่ 25 กรกฎาคม – 29 สิงหาคม 2567 และนำเสนอมุมมองเชิงลึกเกี่ยวกับมุมมอง กลยุทธ์ และการวางแผนงานของซีอีโอ
  • ผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดเป็นผู้บริหารของบริษัทที่ทำรายได้ต่อปีมากกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และหนึ่งในสามของบริษัทที่ถูกสำรวจมีรายได้ต่อปีมากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ การสำรวจนี้มีซีอีโอจาก 11 ตลาดหลักเข้าร่วม ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อิตาลี ญี่ปุ่น สเปน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา และจาก 11 ภาคธุรกิจหลัก ได้แก่ บริหารจัดการสินทรัพย์ ยานยนต์ ธนาคาร ค้าปลีก พลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน ประกัน วิทยาศาสตร์ชีวภาพ อุตสาหกรรมการผลิต เทคโนโลยี และโทรคมนาคม
  • ตัวเลขบางส่วนอาจไม่รวมเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการปัดเศษ
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X