×

50 ปี คาราวาน คีตศิลป์ขับขาน กาลเวลาแห่งบทเพลง

05.02.2024
  • LOADING...

​ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ยอมรับตรงกันว่าการลุกขึ้นสู้ของนักศึกษาประชาชนเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ก่อให้เกิดคุณภาพใหม่แห่งการตื่นตัวอย่างทั่วด้านของเยาวชนหนุ่มสาว ที่เข้าร่วมกับกรรมกรชาวนาและประชาชนเพื่อร่วมกันเปลี่ยนแปลงสังคมไทย

 

​เป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งความคิด จิตวิญญาณ และการกระทำ คือการออกเหงื่อออกแรงอย่างเอาการเอางานในปริมณฑลต่างๆ ทั่วทั้งประเทศ แม้ว่าจะมีจำนวนไม่น้อยที่เดินแนวทางสุดโต่ง แต่ควรเรียกได้ว่าเป็นจิตสำนึกที่เริ่มต้นจากการปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นสำคัญ

 

​การผนึกกำลังเพื่อทวงถามความเป็นธรรมจบลงด้วยการร่วมกันสังหารโหด ในกรณีวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาประชาชนกว่า 3,000 คนทิ้งเมืองเข้าป่า แบกเป้ถือปืนร่วมกันเป็นกองกำลังอาวุธปฏิวัติ

 

​ในการเคลื่อนไหวทั่วทั้งกระบวนนั้น แนวรบด้านศิลปวัฒนธรรมมี สุรชัย จันทิมาธร หรือรู้จักกันในนาม หงา คาราวาน เด็กหนุ่มจากอีสาน เป็นแถวหน้าของขบวนวงดนตรีเพื่อชีวิต ที่บรรเลงคีตศิลป์ขับขานความเป็นธรรมอย่างเป็นหนึ่งเดียวกันกับการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคมไทยต่อเนื่องกันตลอดมา

 

 

​เมื่อเย็นย่ำของวันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2567 ณ หอประชุมออดิทอเรียม (ปรับปรุงใหม่) ของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) ด้วยการประสานงานของ พิณโญ รุ่งสมัย ผู้จัดรายการ ถนนดนตรี ทางวิทยุ สวท. FM 92.5 ภายใต้การสนับสนุนอย่างดีจาก ชนิสา ชมศิลป์ ผอ.สวท. และ สุดฤทัย เลิศเกษม อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ทำให้ถนนดนตรีไลฟ์ ‘ครบรอบ 50 ปี คาราวาน’ เปิดการแสดงขึ้นอีกครั้งท่ามกลางมิตรรักแฟนเพลงเนืองแน่นเต็มหอประชุมราว 1,500 คน

 

​ผู้เขียนในฐานะคน 14 ตุลาด้วยกัน ได้รับเชิญขึ้นกล่าวทักทายผู้ชมต่อหน้า หงา คาราวาน

 

​“ผมกับ หงา คาราวาน เป็นคนรุ่นเดียวกัน เกิดปีเดียวกัน เราพบกันที่สำนักงานทนายความธรรมรังสี วิสุทธิกษัตริย์ เมื่อต้นปี 2516 ที่นั่นเป็นที่รวมตัวของคนหนุ่มสาวกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ​หงากำลังฝึกเล่นกีตาร์ใหม่ๆ เล่นไม่ค่อยเป็นเพลงอะไรนัก จากวันนั้นถึงวันนี้ 50 ปี คาราวาน ได้ขับขานบทเพลงที่ฉายภาพความทุกข์ยากของชาวนา ความแล้งเข็ญของแผ่นดินอีสาน และความอยุติธรรมในสังคมตลอดมา​ การเล่นเพลงในยุคนั้นไม่มีใครจะมาจ่ายสตางค์ให้ เล่นกันด้วยใจ แม้กระทั่งยุคนี้ บางงานก็ไปเล่นฟรี ต้องควักกระเป๋าจ่ายเองเป็นค่าเดินทาง ค่าเหนื่อยของทีมงานด้วยซ้ำไป คาราวานจึงไม่ได้ร่ำรวยเหมือนคนอื่นเขา”

 

 

​ถึงตรงนี้ หงาหันมายิ้มให้แล้วพูดว่า

 

​“ที่จริงผมก็อยากรวยเหมือนกันนะ”

 

​ประโยคนี้เรียกเสียงฮาลั่นห้องประชุม ผู้เขียนพูดต่อว่า

 

ความจริง หงา คาราวาน ก่อนหน้านั้นสรวลเสเฮฮาอยู่ในกลุ่มนักเขียนและกวีที่เรียกว่า ‘กลุ่มพระจันทร์เสี้ยว’ ต่อมาเมื่อบรรจบกับเพื่อน วีระศักดิ์ สุนทรศรี, ทองกราน ทานา และ มงคล อุทก จึงร่วมกันทำวงดนตรีคาราวาน

 

​ขณะที่เล่นวงดนตรีอยู่ที่ขอนแก่น วันนั้นเกิดเหตุการณ์สังหารโหดวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้คาราวานทั้งวงเดินเท้าเข้าสู่เขตป่าเขาที่ภูซาง เขตอีสาน

 

​หงาในชุดเสื้อกางเกงยีนส์สีฟ้า สวมหมวก หิ้วกีตาร์ขึ้นมาเล่นและร้องเดี่ยวด้วยเพลง 

 

สานแสงทอง’ เป็นเพลงแรกที่มีเนื้อหาเพียง 4 วรรค

 

“ขอผองเราจงมาร่วมกัน​ผูกสัมพันธ์ยิ่งใหญ่
สานแสงทองของความเป็นไทยด้วยหัวใจบริสุทธิ์”

 

ตามมาด้วยเพลง ‘ข้าวคอยฝน’ 

 

สองเพลงนี้คือผลงานแรกสุดของ หงา คาราวาน เป็นการสื่อสารว่าคาราวานมีสองเพลงนี้เป็นต้นธารของวงในยุคแรกเริ่ม

 

​เมื่อวงดนตรีเต็มวงเริ่มต้น หงาเปิดด้วยเพลง ‘เปิบข้าว’ บทกวีของ จิตร ภูมิศักดิ์ ตามด้วยเพลง ‘กุลาร้องไห้’ และเพลง ‘ตาคำ

 

​โดยเฉพาะเพลง ‘ปลาน้อยกินปลาใหญ่’ นั้น มีข้อเท็จจริงว่าหงาได้ยินเพลงผญาหนึ่งจาก ไขแสง สุกใส มีความว่า

 

“อัศจรรย์ใจกุ้ง สิกุ่มกินปลาบึกใหญ่
ปลาซิวไล่สวบแข่ ลี้ไปซนอยู่หลืบหิน”

 

หงาบอกว่า “คนที่เขียนผญาบทนี้เป็นปราชญ์ชาวบ้านชื่อ วิฑูรณ์ บัณฑิต เป็นผญา

 

ที่สื่อว่ากุ้งและปลาซิวตัวน้อยๆ จำนวนมากมายเหมือนคลื่นมหาชนที่รวมพลังเข้าสู้กับชนชั้นนำจนต้องหลบลี้หนีไป นี่คือพลังของมวลชน”

 

​ในช่วงหนึ่ง หงาเชิญ ฮิเดกิ โมริ เพื่อนนักดนตรีญี่ปุ่น ขึ้นมาเล่นแอคคอร์เดียนเพลง ‘คนกับควาย’ โดยแซวว่า

 

 

​“โมริชอบกินเหล้า ฝึกพูดไทยกันในวงเหล้านี่แหละ ไปๆ มาๆ ได้หลานน้าหว่องเป็นเมียเลยไม่ยอมกลับญี่ปุ่น”

 

​มีเสียงฮาลั่นตามมา ขณะที่โมริมีอาการยิ้มเขินๆ

 

​อีกช่วงหนึ่งหงาบอกว่า “เพลง คนกับควาย, เพลง กรรมาชน กับเพลง ข้าวคอยฝน ทั้งสามเพลงนี้ เมื่อ 50 ปีก่อนเป็นเพลงต้องห้ามของกรมประชาสัมพันธ์ พอมาถึงวันนี้ ผมมาเล่นเพลงนี้บนเวทีห้องประชุมกรมประชาสัมพันธ์”

 

​โดยเฉพาะเมื่อมาถึงเพลง ‘คืนรัง’ ซึ่งเป็นเพลงบ่งบอกเส้นแบ่งประวัติศาสตร์ในช่วงสหายป่าคืนสู่เมือง ทำให้ระลึกถึงวันแห่งความทรงจำที่ยากจะลืมเลือนได้

 

ณ เวทีหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2525 หลังจากวงดนตรีอื่นเล่นครบตามคิวแล้ว

 

​พิธีกรสาวชื่อดัง จันทรา ชัยนาม ประกาศเสียงใสว่า “ต่อไปนี้ขอเชิญพบกับวงคาราวานค่ะ” 

 

​ชูเกียรติ ฉาไธสง นักเขียนและนักร้อง เล่าไว้ในหนังสือ ‘เส้นทางและวิถีทาง หงา คาราวาน’ ว่า คนดูแน่นขนัดล้นหอประชุมปรบมือกระหึ่ม ต้อนรับการคืนสู่เวทีธรรมศาสตร์อย่างอบอุ่น ม่านค่อยๆ รูดเปิดออก แสงไฟสปอตไลต์สาดลงมาจนนัยน์ตาพร่าไปชั่วขณะ แล้วพยางค์เสียงแรกในมือหงาก็กรีดกังวาน ตามด้วยเสียงร้อง

 

“โอ้ยอดรัก​ฉันกลับมา
จากขอบฟ้า​ที่ไกลแสนไกล
​จากโคนรุ้ง​ที่เนินไศล
จากใบไม้​หลากสีสัน 
​ฉันเหนื่อย ​ฉันเพลีย ฉันหวัง…”

 

เพียงท่อนแรกของเพลง ด้วยสุ้มเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ที่ทุกคนจำได้ สะกดให้ผู้คนในหอประชุมสะอื้น ไม่อาจกลั้นน้ำตาไว้ได้

 

ลองคิดดูเถิดว่า สี่สหายที่พวกเขาคุ้นเคยแห่งวงดนตรี ‘ท.เสนและสัญจร’ หรือชื่อ ‘คาราวาน’ ในเวลาต่อมา หงา-สุรชัย จันทิมาธร มือกีตาร์และนักร้องนำ, หว่อง-มงคล อุทก พิณ ฮาร์โมนิกา และโหวด, อืด-ทองกราน ทานา ไวโอลิน กีตาร์ และกลอง และ แดง-วีระศักดิ์ สุนทรศรี มือกีตาร์ ทั้งสี่คนที่ประกอบวงกันมาแต่แรกเริ่มเข้าป่าและคืนเมืองมากันครบ ไม่มีใครตกหล่น หลังจากที่ห่างหายจากเมืองไปนานกว่า 5 ปี ได้มาร่วมวงกันใหม่ในวงแบบอะคูสติก เปิดแสดงสดเพลง ‘คืนรัง’ โดยไม่ได้เข้าห้องอัดเสียงมาก่อน

 

 

“ฝากชีวิตให้เธอเก็บไว้
ฝากดวงใจ​ให้นอนแนบรัง
ฝากดวงตาและความมุ่งหวัง 
อย่าชิงชัง​ฉันเลยยอดรัก”

 

ลีลาเพลงที่หวาน เศร้า และพลิ้วไหว อ้อยสร้อยด้วยเสียงไวโอลินของ ทองกราน ทานา ประสานกับเสียงพิณอันเสนาะเหมือนอยู่ในบรรยากาศแห่งพงไพร เสียงพร่ำถึงอดีตที่ฝากชีวิต ฝากดวงใจ ฝากดวงตา ยิ่งชวนให้ทุกคนในห้องประชุมสะเทือนใจ

 

“โอ้ยอดรัก​ฉันกลับมา
ดังชีวา​​ที่เคยล่องลอย
​มาบัดนี้​ที่เราเฝ้าคอย 
​เจ้านกน้อย​โผคืนสู่รัง
​ฉันเหนื่อย ​ฉันเพลีย ฉันหวัง…”

 

ท่วงทำนองและเนื้อหาเพลง ‘คืนรัง’ ในค่ำวันนั้นเป็นตัวแทนความรู้สึกทั้งหมดของ

 

อดีตสหายในหอประชุมวันนั้น เป็นประสบการณ์ตรงแห่งอารมณ์ห่วงหาอาทร เป็นชะตากรรมร่วมที่อดีตสหายล้วนผ่านพบมาด้วยกัน

 

“หงาแต่งเพลงนี้ตอนไหน” ผู้เขียนถามตรงกับ หงา คาราวาน

 

​“หลังจากอยู่ป่ามาหลายปี ผมคืนเมืองตอนอยู่ที่เขตผาจิ-ผาช้าง จังหวัดน่าน แล้วมาลงจากภูที่จังหวัดพะเยาเมื่อเดือนเมษายน 2525 พอกลับมาถึงบ้านก็คิดถึงเพื่อน คิดถึงบรรยากาศในป่าเขา ซึ่งเราใช้ชีวิตอยู่กว่า 5 ปี อารมณ์ผิดหวัง อารมณ์หวนหา ก็เลยเขียนเพลงนี้ขึ้น ก่อนจะขึ้นเวทีคอนเสิร์ต ฟอร์ ยูนิเซฟ ไม่กี่วัน”

 

“แล้วทำไมถึงใช้คำว่าโอ้ยอดรัก” ผู้เขียนซักต่อ

 

“ผมไม่ได้หมายถึงรักของหนุ่มสาว ยอดรักเป็นคำแทนมิตรสหายและบรรยากาศทั้งหมดในเขตป่าเขาที่เราได้มีประสบการณ์ร่วมกันในช่วงหนึ่งของชีวิต การปฏิวัติจะแพ้หรือชนะนั่นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ความผูกพันในความเป็นมนุษย์มันอยู่ในใจ ลืมไม่ได้ และเป็นสิ่งมีคุณค่า”

 

เพลง ‘คืนรัง’ ในวันนั้นกลายเป็นไฮไลต์ของงานคอนเสิร์ต ฟอร์ ยูนิเซฟ ที่ทุกคนเก็บรับไว้ในความทรงจำอย่างไม่อาจจะลืมได้

 

มันไม่ใช่เพียงการก่อเกิดพลังร่วมทางอารมณ์เท่านั้น แต่ ‘คืนรัง’ เป็นปากคำประวัติศาสตร์ของสังคมไทย ที่ในยุคหนึ่งนั้นเรามีบทเรียนร่วมกันว่า ความไม่เป็นธรรมและการข่มเหงรังแกนำไปสู่การต่อสู้อย่างรุนแรง และยังได้บทเรียนบทต่อมาอีกว่า สำหรับสังคมไทยแล้ว การต่อสู้แบบ ‘เลือดต้องล้างด้วยเลือด’ เป็นหนทางที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ด้วยกันทุกฝ่าย

 

หงา คาราวาน ยังเล่นเพลง ‘คนตีเหล็ก’, เพลง ‘อานนท์’, เพลง ‘ยิ้มกลางสายฝน’, เพลง ‘ดวงจำปา’, เพลง ‘เดือนเพ็ญ’, เพลง ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’, เพลง ‘ปณิธาน’ และเพลง ‘คนไม่เต็ม

 

แม้เป็นเพลงที่ฟังกันมาหลายครั้ง ร้องกันมาหลายหน แต่บรรยากาศค่ำวันนั้นคือการร้องตาม ปรบมือเข้าจังหวะ และออกมาเต้นมารำกันอย่างเป็นกันเอง

 

คิดถึงคนอย่าง วีระศักดิ์ สุนทรศรี และ หว่อง-มงคล อุทก ผู้ล่วงลับไปแล้ว ที่อาจกำลังร่วมเล่นร่วมร้องอยู่ที่ไหนสักแห่งในบรรยากาศ 50 ปีเช่นนี้

 

27 เพลงที่ หงา คาราวาน เลือกมาเล่นใช้เวลาเกือบ 4 ชั่วโมง ค่ำวันนั้นเหมือนเป็นกาลานุกรมประวัติศาสตร์ต่อสู้ของประชาชนในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา

 

ผู้เขียนพูดต่อแฟนเพลงและต่อหน้าหงาว่า

 

“หงาไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ไม่ใช่สังคมนิยม ไม่เคยบอกว่าตนเองเป็นซ้าย เป็นขวา ใดๆ เพลงและวิถีชีวิตของหงาคือความเป็นมนุษย์ที่มีหัวจิตหัวใจเพรียกหาความเป็นธรรมมาชั่วชีวิต”

 

หงาได้รับคำประกาศเกียรติคุณเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เมื่อปี 2553 ว่า

 

“ในด้านดนตรีและเพลง การเป็นนายวงดนตรีคาราวานทำให้สุรชัยเป็นตำนานแห่งเพลงเพื่อชีวิต เป็น ‘อาจารย์ใหญ่’ ต้นแบบของแนวเพลงนี้ การเขียนวรรณกรรม การเขียนเพลง การเล่นดนตรี เป็นน้ำเนื้อเดียวกันในชีวิตของ สุรชัย จันทิมาธร ช่วงเวลาที่กระแสความคิดเพื่อชีวิตมีอิทธิพลในสังคมไทยอย่างสูง เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความเป็นศิลปิน (Artist) ของสุรชัยทั้งผลงานและจิตวิญญาณ มีพลังกระทบ (Impact) สังคมไทยอย่างแข็งแกร่ง ชื่อของ สุรชัย จันทิมาธร จึงเป็นหมุดหมายที่ตรึงแน่นอยู่บนพื้นที่แห่งศิลปวัฒนธรรมไทยที่กาลเวลาไม่อาจลบเลือน”

 

ทำให้นึกถึงถ้อยคำของ อองตวน เดอ แซงแตกซูเปรี นักเขียนฝรั่งเศสที่เขียนนวนิยายบันลือโลกเรื่อง เจ้าชายน้อย (Le Petit Prince) ที่แปลออกไปทั่วโลกถึง 300 ภาษา 

 

มีคนถามเขาว่า

 

“อะไรคือสิ่งที่มีความหมายต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์”

 

แซงแตกซูเปรีตอบว่า

 

“สิ่งที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่าคือการรู้จักหาความสมดุล และทำให้มนุษยนิยมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตจิตใจของตน”

 

คนแบบนี้จะหาได้ที่ไหนหรือ

 

ก็เพื่อนผมคนนี้ไง หงา คาราวาน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising