ก่อนลงสนามยูโร 2024 ทีมชาติอังกฤษถูกจับตามองว่าเป็นทีมเต็งในลำดับต้นๆ ของรายการที่มีโอกาสจะไปถึงแชมป์ได้
สำนักสถิติชื่อดัง Opta ใช้เครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์ประมวลผลแล้วยกให้เป็นถึง ‘เต็ง 1’ ด้วยซ้ำไป
แต่ผลงานที่ทำได้แค่เสมอชนิดเกือบเอาตัวไม่รอดเหมือนกันในการเจอกับเดนมาร์กนั้นสร้างความผิดหวังให้แก่ผู้คนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นแฟนบอล ‘สิงโตคำราม’ หรือเป็นแค่แฟนบอลที่อยากรอดูนักฟุตบอลที่เห็นทุกสัปดาห์ในพรีเมียร์ลีก
ทีมชาติอังกฤษในเวลานี้ทำงานผิดพลาดแทบทุกจุด และมีสิ่งที่ แกเร็ธ เซาท์เกต ต้องตัดสินใจ
เพราะถ้าไม่ทำ พวกเขามีแนวโน้มที่จะไปไม่ถึงดวงดาวอย่างแน่นอน
หากมองแค่ในเรื่องของผลงานอังกฤษ รองแชมป์เก่าที่ลงสนามในศึกยูโร 2024 มาแล้ว 2 นัด ชนะ 1 เสมอ 1 เก็บได้ 4 คะแนน และมีโอกาสผ่านเข้ารอบต่อไปสูง ถือว่าทีมของเซาท์เกตทำได้ไม่ขี้เหร่นัก
แต่ถ้ามองในรายละเอียดแล้วต้องบอกว่า ทีมจากเมืองผู้ดีอาการหนักพอสมควรในยูโรหนนี้
สิ่งที่ทุกคนคาดหวังกับนักเตะดาวดังอย่าง จูด เบลลิงแฮม, บูกาโย ซากา, ฟิล โฟเดน, แฮร์รี เคน, ดีแคลน ไรซ์ หรือ เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ ไม่มีอะไรให้สมหวังเลยสักอย่าง
ทีมชาติอังกฤษเป็นฟุตบอลที่ไม่มีระบบ ไม่มีระเบียบ ไม่มีวิธีการเล่น หรืออาจสรุปได้สั้นๆ ว่าไม่มีอะไรเลย
ไม่มีแม้กระทั่ง Vibe ของทีมฟุตบอลที่ดี ตรงนี้คือสิ่งที่น่าเป็นห่วง
ในเกมกับเซอร์เบีย หลังจากเบลลิงแฮมโหม่งประตูขึ้นนำตั้งแต่นาทีที่ 13 อังกฤษก็ถอยร่นลงไปปักหลักตั้งรับเพื่อรักษาสกอร์ให้ได้ และดีที่ทำได้สำเร็จ
แต่ในเกมกับเดนมาร์ก ทันทีที่ แฮร์รี เคน ยิงประตูขึ้นนำได้ในนาทีที่ 18 อังกฤษยังคงเล่นแบบเดิม เน้นความเหนียวแน่น แต่คราวนี้พวกเขาไม่สามารถรักษาสกอร์เอาไว้ได้อีกแล้ว เมื่อ มอร์เทน ฮุลมานด์ ยิงไกลอย่างเฉียบขาดเป็นประตูตีเสมอ 1-1
หนักกว่านั้นคือ เล่นไปเล่นมาพวกเขาสู้กับเดนมาร์กที่อาจจะไม่ได้มีตัวผู้เล่นดาวดังล้นทีม แต่ใช้ระบบและวิธีการเล่นต่อสู้จนเกือบที่จะคว้าชัยชนะได้เหมือนกัน
สถานการณ์ตอนนี้อังกฤษยังมีโอกาสเข้ารอบสูง พวกเขาต้องการแค่แต้มเดียวก็เพียงพอสำหรับการเข้ารอบต่อไป แต่ในความเป็นทีมเต็งที่แบกความหวังมหาศาล อังกฤษไม่สามารถจะเล่นแบบนี้ต่อไปได้
ดังนั้นจึงเป็นเวลาที่ แกเร็ธ เซาท์เกต ซึ่งอยู่กับทีมมา 8 ปีตั้งแต่ปี 2016 จะต้องตัดสินใจ ซึ่งผมมองว่ามี 3 จุดใหญ่ด้วยกัน
1. ซ่อมห้องเครื่อง
อังกฤษในยูโร 2024 ใช้ระบบการเล่น 4-2-3-1 โดยหัวใจอยู่ที่มิดฟิลด์ตัวรับคู่กลางในแบบ Double Pivot
เซาท์เกต – ไม่ว่าจะถูกกระแสกดดันหรือไม่ – แต่เขาเลือกจะใช้งาน เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ จับคู่กับ ดีแคลน ไรซ์ โดยคาดหวังความครีเอฟทีฟและการวางบอลยาวของแบ็กขวาไฮบริดจากลิเวอร์พูล
แต่มันค่อนข้างชัดเจนว่าจุดนี้คือจุดบอดของทีม เพราะเทรนต์ไม่ใช่กองกลางตัวรับโดยธรรมชาติ และ ‘จ๊อบ’ ของเขากับทีมชาติอังกฤษก็แตกต่างจากสิ่งที่เคยเล่นให้กับลิเวอร์พูลแบบคนละเรื่องด้วย พาลทำให้แดนกลางรวนไปหมด และพาลรวนไปทั้งทีม
กุนซือทีมชาติอังกฤษเองก็ยอมรับว่ารู้ถึงปัญหา แต่ทำเอาคนปวดหัวเมื่อบอกว่า ปัญหาคือการที่ไม่มีคาลวิน ฟิลลิปส์ มาด้วยในครั้งนี้ รวมถึง จอร์แดน เฮนเดอร์สัน สิ่งที่ทำได้คือการพยายามทดลองแก้ไขโจทย์ไปเรื่อยๆ ซึ่งใน 2 นัดแรกของยูโรก็เป็นการทดลองเช่นกัน
บนม้านั่งข้างสนามยังมี ค็อบบี เมนู, คอเนอร์ กัลลาเกอร์ และ อดัม วอร์ตัน เป็นอะไหล่ที่รออยู่ รวมถึงคนที่อาจจะตอบโจทย์ที่สุดคือเบลลิงแฮม ซึ่งถูกมองว่าจับคู่กับไรซ์ได้สบายแน่นอน
หรือจะลองปรับระบบใหม่จากกลางรับคู่เป็นกลางรับตัวเดียว หรือเปลี่ยนระบบการเล่นไปใช้ระบบใกล้เคียงอย่าง 4-3-3
จะไปทางไหนก็ได้ เลือกสักทางเถอะ
2. Put the Right Man on the Right Job
จากข้อ 1 เราจะมองเห็นว่าปัญหาของอังกฤษไม่ได้อยู่ที่ระบบการเล่นเพียงอย่างเดียว
แต่อยู่ที่เรื่องของการใช้คนด้วย
จุดใหญ่นอกจากตำแหน่งกลางรับของเทรนต์ ยังมีสิ่งที่มองเห็นได้ชัดตอนนี้คือ ตำแหน่งแบ็กซ้ายที่เอา คีแรน ทริปเปียร์ มาเล่นก่อน ลุค ชอว์ ตัวหลักเดิมที่อาจจะยังไม่ฟิต เช่นเดียวกับปีกซ้ายที่ใช้งาน ฟิล โฟเดน นักฟุตบอลยอดเยี่ยมแห่งปีของพรีเมียร์ลีก
นั่นทำให้เกมทางซ้ายของอังกฤษตายสนิท ทริปเปียร์เล่นได้แต่ไม่ถึงกับดีสำหรับเวทีระดับนี้ และโฟเดนเองก็ไม่ใช่ปีกซ้ายธรรมชาติที่จะปักหลักคอยดวลกับแบ็กขวาคู่แข่งอย่างนั้น
บนม้านั่งสำรองของอังกฤษนอก จากชอว์แล้วยังมี แอนโธนี กอร์ดอน ที่ทำผลงานได้โดดเด่นกับนิวคาสเซิลในบทปีกซ้าย ซึ่งมีความเร็วจัดจ้านและจะช่วยปลดล็อกเกม Direct ของอังกฤษที่แทบไม่มีได้เป็นอย่างดี เพราะถึงจะมีตัวเปิดบอลที่ดีอย่างเทรนต์หรือเคน ทั้งสองคนก็ไม่รู้จะเปิดไปให้ใคร
ในขณะที่โฟเดนเองก็เป็นเหยื่อของระบบปัจจุบัน ซึ่งในเกมกับเดนมาร์กมีช่วงที่ได้เห็นโกลเดนบอยของอังกฤษขยับเข้ามายืนด้านในและทำได้ดี มีโอกาสยิงไปชนเสาด้วย
บทบาทที่เหมาะสมกับเขาอาจจะเป็นกองกลางตัวรุกหรือกองหน้าตัวต่ำมากกว่าไหม?
3. วางทิฐิ
ถึงจะเป็นคนที่ดูเงียบและเรียบร้อย แต่ แกเร็ธ เซาท์เกต เป็นผู้จัดการทีมที่มีความดึงดันที่สุดคนหนึ่ง
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะคนที่ต้องทำงานภายใต้ความกดดันมหาศาลแบบนี้ หากไม่มีอีโก้เป็นตัวนำทางและเป็นเกราะป้องกันตัวเอง มีโอกาสที่จะแตกสลายได้ง่ายๆ
เราจึงได้เห็นการตัดสินใจปรับเกมแก้ไขแต่ละจุดอย่างเชื่องช้าและดูขัดความรู้สึก อีกทั้งผลลัพธ์ที่ได้มาก็ไม่ดีด้วย
แต่ถึงจุดนี้เซาท์เกตอาจจะต้องตัดสินใจแก้ไขที่ความคิดของตัวเองเป็นลำดับแรกด้วยในฐานะผู้นำ ยอมรับความผิดพลาดก่อน เพื่อจะมองเห็นปัญหาและหาทางแก้ไขทุกอย่างได้
ใน 2 นัดแรก จุดที่ถูกตั้งคำถามคือการส่ง จาร์ร็อด โบเวน ปีกขวาจากเวสต์แฮม ลงสนามก่อนหน้า โคล พาลเมอร์ เจ้าหนูมหัศจรรย์คนใหม่ของวงการฟุตบอลอังกฤษ ทั้งๆ ที่ผลงานของอดีตนักเตะแมนเชสเตอร์ ซิตี้ โดดเด่นกว่ามาก
ทางแท็กติกแล้วเป็นการตัดสินใจบนความเชื่อของเซาท์เกตเอง ที่ไว้ใจความเร็วของโบเวนมากกว่า และเขาพร้อมจะรับผิดชอบเรื่องนี้
แต่ในเมื่อไม่ได้ผลแล้ว การเลิกดื้อแล้วให้โอกาสนักเตะคนอื่นๆ ได้ลงสนามบ้างก็อาจจะเป็นหนทางที่นำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
ไม่มีใครรู้หรอกว่าพาลเมอร์ลงแล้วจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ไหม แต่ที่แน่ๆ คือ ถ้าเซาท์เกตไม่ให้โอกาสลง เขาเปลี่ยนแปลงอะไรจากม้านั่งข้างสนามไม่ได้แน่นอน
นอกจากนี้ยังอาจรวมถึงเรื่องของ ‘คู่มือการเล่น’ ที่ดูเหมือนเซาท์เกตจะใส่แท็กติกที่รัดกุมเกินไป
บางครั้งการมีผู้เล่นพรสวรรค์เก่งๆ ในทีมหลายคนแบบนี้ หนทางที่ดีกว่าการจับพวกเขาใส่กรอบขีดเส้นให้ คือการปล่อยให้พวกเขาได้ทำอะไรๆ ด้วยตัวเองบ้าง
คาร์โล อันเชลอตติ และ ซีเนดีน ซีดาน เคยกล่าวไว้
ถึงตรงนี้เซาท์เกตยังมีโอกาสในการตัดสินใจเพื่อแก้ไขและเปลี่ยนแปลง เวลายังอยู่ข้างเขาและพลพรรคสิงโตคำรามในตอนนี้
แต่เวลาไม่ได้มีตลอดไป
จะทำอะไรก็ต้องรีบทำ