ข่าวลือ OpenSea แพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสสำหรับซื้อ-ขายผลงาน NFT ที่มีมูลค่ากิจการกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท ตรวจพบว่ามีพนักงานภายในบริษัทนำข้อมูลวงในไปใช้ซื้อขายผลงาน NFT กวาดเงินไปหลายล้านบาทนั้น ดูเหมือนว่าข่าวนี้จะเป็นความจริง
โดยบล็อกของ OpenSea ได้ออกมาชี้แจงเรื่องนี้ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า “เราตรวจพบมีพนักงานคนหนึ่งของเราได้ซื้อผลงาน NFT บางชิ้นล่วงหน้า ก่อนที่ผลงานชิ้นดังกล่าวจะได้ขึ้นแสดงบนหน้าหลัก”
อย่างไรก็ตาม ทาง OpenSea ไม่ได้เปิดเผยชื่อของพนักงานคนดังกล่าว ทำให้ หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ OpenSea เนท ชาสเตน ถูกกล่าวหา โดยบัญชีผู้ใช้งาน Twitter ชื่อ ‘@ZuwuTV’ ว่า เนทมีการเปิดบัญชีคริปโตเคอร์เรนซีอย่างลับๆ เพื่อใช้ในการซื้อขายผลงาน NFT จากข่าววงใน
ประเด็นดังกล่าวแพร่ไปอย่างรวดเร็วใน Twitter จากการที่ @ZuwuTV ออกมาเผยถึงบัญชีคริปโตเคอร์เรนซีหนึ่งที่เขาเข้าไปตรวจสอบเส้นทางของธุรกรรมในบล็อกเชน และสันนิษฐานว่าเป็นบัญชีของเนทที่เข้าไปซื้อ NFT ก่อนที่ทางเว็บไซต์ OpenSea จะนำขึ้นแสดงบนหน้าแรก และขายออกมาหลังจากราคาโดดขึ้นไป
นอกจากนี้แพลตฟอร์มข่าวด้านบล็อกเชนและคริปโตเคอร์เรนซี ‘8BTC’ ในจีน เผยว่า บัญชีคริปโตเคอร์เรนซีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นของเนทนั้นได้กำไรไปราวๆ 18.875 Ether หรือประมาณ 67,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2 ล้านบาท ตามราคา Ether ณ วันนั้นๆ) แต่ทาง CNBC ก็ยังไม่ได้รับการยืนยันตัวเลขดังกล่าวจาก OpenSea แต่อย่างใด
OpenSea ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องดังกล่าว โดยได้ออกมาชี้แจงเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์ดังกล่าวน่าผิดหวังเป็นอย่างมาก และกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบอย่างเร่งด่วน ซึ่งในระยะแรกทาง OpenSea ได้บอกกับสำนักข่าว CNBC ว่า ยังไม่สามารถยืนยันตัวตนพนักงานดังกล่าวได้ แต่จะแจ้งอย่างทันทีหากได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการ
จากข้อมูลของ Dune Analytics แพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ปริมาณวอลุ่มของการซื้อขายบน OpenSea นั้นมียอดกว่า 3.4 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 1 แสนล้านบาท แต่ก็พบมีความหละหลวมของนโยบาย ทำให้มีพนักงานสามารถใช้ข้อมูลวงในหาเงินจากปริมาณเงินที่ไหลเวียนอยู่บนแพลตฟอร์มได้
ทาง OpenSea จึงประกาศนโยบายที่มีผลบังคับใช้ทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดประเด็นดังกล่าวขึ้นได้อีก โดยนโยบายดังกล่าวก็คือ ไม่ให้พนักงานของ OpenSea ซื้อหรือขายคอลเล็กชันใดที่มีอยู่บน OpenSea และป้องกันพนักงานจากการนำข้อมูลวงในบนแพลตฟอร์มไปใช้ซื้อผลงาน NFT ที่อยู่บน OpenSea หรือไม่ก็ตาม
แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวมิได้มีแต่ข้อเสียเพียงด้านเดียว หากแต่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของบล็อกเชน ซึ่งทาง Boaz Sobrado นักวิเคราะห์ข้อมูลจากบริษัทฟินเทคในอังกฤษชี้ให้เห็นว่า ความโปร่งใสของบล็อกเชนเป็นอาวุธที่ทรงพลัง เพื่อใช้ในการป้องกันพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรม จากการที่ข้อมูลธุรกรรมทั้งหมดถูกเก็บไว้เป็นสาธารณะและถูกบันทึกตลอดไป ทำให้มีผู้เข้าไปตรวจสอบความไม่เป็นธรรมในกรณีของ OpenSea ซึ่งทางฝ่ายกำกับดูแลมักไม่ค่อยนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์
อ้างอิง: