×

สำรวจมาตรการใหม่ ศบค. เตรียมเปิดประเทศเต็มรูปแบบ 1 พฤษภาคมนี้

23.04.2022
  • LOADING...
สำรวจมาตรการใหม่ ศบค.

ถึงแม้จะยังไม่มีการพิจารณาการประกาศให้โรคโควิดเป็นโรคประจำถิ่น แต่มาตรการที่ ศบค. ประกาศเมื่อวานนี้ (22 เมษายน 2565) ก็เข้าใกล้ความปกติเดิมมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดระดับสีพื้นที่ การยกเลิกระบบ Test & Go เพื่อเปิดประเทศเต็มรูปแบบในวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 และการลดวันกักตัวของผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเหลือ 5+5 วัน ซึ่งอาจเรียกได้ว่า ศบค. ‘ไปต่อไม่รอแล้วนะ’ (จ๊ะ)

 

ไม่รอทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้นใน 21 จังหวัด หรือประมาณ 1 ใน 4 ของจังหวัดทั้งหมด และทั้งสัดส่วนของผู้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ยังไม่ถึง 40% และต่ำกว่าเป้าหมายตามแผนโรคประจำถิ่นของกระทรวงสาธารณสุข แน่นอนว่าการผ่อนคลายมาตรการครั้งนี้เป็น ‘โอกาส’ ฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจและท่องเที่ยวของประเทศไทย แต่มี ‘อุปสรรค’ ด้านสาธารณสุขอะไรที่ต้องระมัดระวังบ้าง

 

สถานการณ์การระบาดล่าสุด

 

‘สถานการณ์อยู่ในช่วงขาลงจริงหรือไม่’ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565 ก่อนการประชุม ศบค. นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค. อธิบายสถานการณ์ในขณะนี้ว่า ยอดผู้ติดเชื้อหลังสงกรานต์ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้หลายเท่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่จากการตรวจด้วยวิธี RT-PCR อยู่ที่ 2.1 หมื่นราย หากรวมกับการตรวจด้วย ATK จะอยู่ที่ 4-5 หมื่นราย ส่วนยอดผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั่วประเทศมี 1.9 แสนราย

 

แสดงว่าอาการของคนไข้ไม่ได้หนัก และเตียงผู้ป่วยระดับสีเหลือง-แดงที่เตรียมไว้ใช้ไปเพียง 25% ของเตียงทั้งหมด โดยรวมจึงสรุปว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ได้มากขึ้น ขณะนี้ผ่านมา 1 สัปดาห์หลังจากเทศกาลสงกรานต์ จึงคิดว่าแนวโน้มอยู่ในช่วงขาลงและดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ถ้าจะให้มั่นใจต้องรอให้ถึงสิ้นเดือนเมษายน-ต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระยะฟักตัว 14 วันหลังเทศกาลสงกรานต์

 

ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงว่า ในภาพรวมยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มลดลง ส่วนผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มทรงตัว เมื่อเทียบกับกราฟคาดการณ์ที่แบ่งออกเป็น 3 กรณี พบว่าจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบอยู่ระหว่างเส้นสีเขียวกับสีเหลือง ส่วนจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตอยู่บนเส้นสีเหลือง ซึ่งผู้ป่วยอาการรุนแรงส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับวัคซีน 2 เข็มแรก หรือเข็มกระตุ้น

 

ด้านยอดการใช้เตียงของประเทศ เนื่องจากผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อยจึงได้รับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกหรือ ‘เจอ แจก จบ’ ทำให้เตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลระดับสีเขียว สีเหลือง (กลุ่มเสี่ยงและปอดอักเสบ) และสีแดง (ปอดอักเสบรุนแรงและใส่ท่อช่วยหายใจ) มีอัตราการครองเตียง 39.1%, 24.4% และ 27.5% ตามลำดับ ซึ่งเมื่อรวมเตียงระดับสีเหลือง-แดงแล้วใช้ไป 25.2%

 

เมื่อวิเคราะห์การระบาดตามแผนโรคประจำถิ่นแยกรายจังหวัด จะแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มการระบาดขาขึ้น (Combating) จำนวน 21 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน แพร่ ลำปาง พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์ สกลนคร บึงกาฬ เลย อุดรธานี ขอนแก่น นครพนม หนองคาย ยโสธร มหาสารคาม ศรีสะเกษ นนทบุรี นครนายก กาญจนบุรี และอุทัยธานี
  • กลุ่มการระบาดทรงตัว (Plateau) จำนวน 44 จังหวัด ซึ่งกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ในกลุ่มนี้
  • กลุ่มการระบาดขาลง (Declining) จำนวน 12 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี กระบี่ ระนอง ตรัง นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส

 

ทั้งนี้ ศบค. ต้องระวัง ‘จุดอ่อน’ ของการติดตามสถานการณ์เช่นนี้ เพราะตัวเลขที่ตรวจด้วยวิธี RT-PCR จะไม่ใช่ยอดผู้ติดเชื้อทั้งหมด ส่วนตัวเลขที่ตรวจด้วย ATK อาจต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะการเข้าไม่ถึงชุดตรวจและระบบรายงาน ในขณะที่ยอดผู้ป่วยอาการรุนแรงจะล่าช้าไปประมาณ 2 สัปดาห์ และยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่ออาการรุนแรงด้วย ศบค. จะทำอย่างไรให้ระบบเฝ้าระวังนี้สะท้อนสถานการณ์จริงมากที่สุด

 

การปรับลดระดับสีพื้นที่

 

ศบค. ปรับระดับพื้นที่สถานการณ์หรือสีพื้นที่ในทิศทางที่ผ่อนคลายขึ้น โดยไม่มีพื้นที่ส้มแล้ว (พื้นที่ควบคุม) เหลือพื้นที่สีเหลือง (พื้นที่เฝ้าระวังสูง) 65 จังหวัด และพื้นที่สีฟ้า (พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว) 12 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ กระบี่ กาญจนบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานี พังงา เพชรบุรี ภูเก็ต เพิ่มระยองและสงขลาขึ้นมา และมีบางพื้นที่ในจังหวัดสีเหลืองอีก 16 จังหวัด

 

มาตรการหลักในพื้นที่สีเหลืองและสีฟ้าไม่แตกต่างกัน คือ

  • ยังปิดสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ แต่ถ้าจะเปิดต้องปรับรูปแบบเป็นร้านอาหารตามมาตรการที่กำหนด
  • นั่งดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ถึง 24.00 น. (เดิม 23.00 น.) แต่จะต้องเป็นร้านอาหารที่ผ่าน SHA+ ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหรือ Thai Stop COVID 2 Plus ของกรมอนามัย และปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยองค์กร (COVID Free Setting)
  • ทำงานจากบ้าน (WFH) ตามความเหมาะสม และการพิจารณาของหน่วยงาน

 

ส่วนที่แตกต่างกันคือประเด็นการจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม พื้นที่สีเหลืองจำกัดไม่เกิน 1,000 คน แต่ถ้าเกินจำนวนต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ส่วนพื้นที่สีฟ้าจัดได้ตามความเหมาะสม และประเด็นสถานศึกษารวมถึงสถาบันกวดวิชา พื้นที่สีเหลืองต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ราชการกำหนด ส่วนพื้นที่สีฟ้าให้ใช้สถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ

 

ดังนั้นถ้าสถานการณ์ไม่แย่ลง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป ทุกจังหวัดจะสามารถดำเนินกิจกรรม/กิจการได้ใกล้เคียงปกติและเหมือนกันทั่วประเทศ พื้นที่สีส้มเดิมกลับมานั่งดื่มในร้านได้อีกครั้ง และจัดกิจกรรมรวมกลุ่มกันได้มากขึ้น อาจทำให้เกิดการระบาดเป็นคลัสเตอร์ แต่ด้วยยอดผู้ติดเชื้อจำนวนมากในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา อาจทำให้มีภูมิคุ้มกันมากพอที่จะป้องกันไม่ให้ระบาดเป็นวงกว้างได้

 

‘อุปสรรค’ ด้านสาธารณสุขที่สำคัญคือ ผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือเข็มกระตุ้น ทำให้มีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรงและต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันมีผู้สูงอายุอีกประมาณ 20% (2 ล้านคน) ที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ 2 เข็ม และสัดส่วนของผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นยังต่ำอยู่ คือประมาณ 40% ทั้งที่ในช่วงเดือนเมษายนนี้ กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายไว้มากกว่า 60%

 

การยกเลิกระบบ Test & Go

 

ศบค. เตรียมเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 นี้เช่นกัน โดยยกเลิกระบบ Test & Go แล้วแบ่งนักท่องเที่ยวออกเป็น 2 ประเภท คือผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ (Vaccinated Travelers) และผู้ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับไม่ครบตามเกณฑ์ (Unvaccinated Travelers) ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นประเภทแรก นักท่องเที่ยวยังต้องทำประกันภัย แต่เป็นวงเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ 

 

ส่วนการตรวจหาเชื้อไม่มีการ ‘บังคับ’ ทั้งการตรวจก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมง ที่ยกเลิกไปก่อนหน้านี้ และการตรวจเมื่อมาถึง ซึ่งเดิมจะเป็นการตรวจด้วยวิธี RT-PCR ในวันแรก และ ATK ด้วยตนเอง ในวันที่ 5 แต่จะ ‘แนะนำ’ ให้ตรวจ ATK ด้วยตนเองระหว่างอยู่ในประเทศ หากพบเชื้อให้เข้าสู่กระบวนการตามประกันภัยหรือตามความรับผิดชอบส่วนบุคคล กรณีเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต้องกักตัว 5+5 วัน (พูดถึงในหัวข้อถัดไป)

 

ดังนั้นจึงไม่ต่างจากการเดินทางเข้าประเทศตามปกติก่อนโควิด ซึ่งน่าจะจูงใจนักท่องเที่ยวให้เข้ามามากขึ้น แต่เมื่อมาถึงแล้วจะยังไม่ได้เที่ยวสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ เพราะยังถูกสั่งปิดอยู่ และนั่งดื่มในร้านได้ไม่เกิน 24.00 น. ตรงนี้จะเป็น ‘อุปสรรค’ ด้านสาธารณสุขที่สำคัญ เพราะอาจมีการลักลอบเปิดเพื่อบริการนักท่องเที่ยวและไม่มีมาตรการควบคุมโรคที่เหมาะสม

 

ความเสี่ยงอีกอย่างคือการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่จากต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยอาจยอมรับได้หากไวรัสไม่ได้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และที่ผ่านมาอัตราการตรวจพบผู้ติดเชื้อในระบบ Tes & Go พบเพียง 0.5% ซึ่งกรมควบคุมโรคระบุว่าต่ำกว่าอัตราการตรวจพบผู้ติดเชื้อในประเทศ แต่พื้นที่สีฟ้าควรมีระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์และการระบาดเป็นคลัสเตอร์เพื่อให้ควบคุมโรคได้ทันเวลา

 

การลดวันกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

 

สุดท้าย ศบค. เห็นชอบแนวทางการกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 5+5 วัน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ จากเมื่อต้นปีที่ผ่านมาลดลงเหลือ 7+3 วัน โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจะต้องกักตัวที่บ้าน (Home Quarantine) 5 วัน หลังสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยครั้งสุดท้าย และสังเกตอาการตนเองอีก 5 วัน ซึ่งไปเรียน/ทำงานได้ แต่ต้องสวมหน้ากากอนามัย งดร่วมกิจกรรมรวมกลุ่ม และงดใช้ขนส่งสาธารณะที่หนาแน่น

 

สำหรับการตรวจหาเชื้อ ให้ตรวจทั้งหมด 2 ครั้ง คือครั้งแรกในวันที่ 5 หลังสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยครั้งสุดท้าย หรือถ้ามีอาการให้ตรวจทันที และครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 ก่อนครบกำหนดสังเกตอาการ

 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเรื่องการลดวันกักตัวเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 ว่าระยะเวลาในการกักตัวจะพิจารณาระยะฟักตัวของโรค สายพันธุ์โอมิครอนมีระยะฟักตัวค่อนข้างสั้น ทั่วโลกได้เริ่มลดวันกักตัวในผู้สัมผัสเสี่ยงสูง คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจึงมีมติให้ลดวันกักตัวเหลือ 5 วัน และสังเกตอาการอีก 5 วัน รวมเป็น 10 วันเท่าเดิม

 

แนวทางนี้สอดคล้องกับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) คือกักตัว 5 วัน และสังเกตอาการรวม 10 วัน แต่ CDC จะแบ่งผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเป็น 2 ประเภท คือ

  1. ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบและเข็มกระตุ้นตามเกณฑ์ ประเภทนี้ไม่ต้องกักตัว
  2. ผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ประเภทนี้ต้องกักตัวที่บ้าน 5 วัน และสังเกตอาการต่ออีก 5 วัน

 

โดยทั้ง 2 ประเภทควรตรวจหาเชื้อ 1 ครั้งในวันที่ 5

 

‘อุปสรรค’ ด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับการกักตัวที่ผ่านมาคือประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ เพราะต้องแยกตัวจากคนในบ้านและหยุดงานเป็นเวลานาน การลดวันกักตัวน่าจะทำให้การกักตัวมีความเป็นไปได้มากขึ้น แต่ก็อาจมีความเสี่ยงจากการแพร่เชื้อในช่วง 5 วัน หลังที่สามารถออกจากบ้านได้ จึงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด และถ้าคนส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้วก็น่าจะยอมรับความเสี่ยงนี้ได้

 

โดยสรุปมาตรการใหม่ของ ศบค. ที่จะเริ่มในอีก 1 สัปดาห์ข้างหน้า เป็นการเดินหน้าสู่การใช้ชีวิตร่วมกับโควิด (Living with COVID) ลดระดับสีพื้นที่เป็นสีเหลืองและสีฟ้า เปิดประเทศเต็มรูปแบบโดยไม่บังคับตรวจหาเชื้อ และลดวันกักตัวเหลือ 5+5 วัน แต่ยังคงมีมาตรการลดความเสี่ยงคือ Universal Prevention และ COVID Free Setting การระบาดน่าจะทรงตัวไปอีกระยะหนึ่ง สิ่งสำคัญคือการฉีดวัคซีน 2 เข็มแรก และเข็มกระตุ้น เพราะนอกจากจะป้องกันอาการรุนแรงแล้ว ผลที่ตามมาคืออัตราการครองเตียงระดับสีเหลือง-แดงที่ต่ำ ซึ่งจะลดแรงต้านการเปิดเมือง/ประเทศจากฝั่งสาธารณสุขด้วย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising