×

เมื่ออังกฤษใกล้ถึงเวลาเปลี่ยนผ่าน: พิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งแรกของเจ้าชายชาร์ลส์

24.05.2022
  • LOADING...
เจ้าชายชาร์ลส์

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • พิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภาประจำปี 2022 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงให้เจ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ และเจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ พระราชนัดดา ซึ่งเป็นพระโอรสในเจ้าชายชาร์ลส์ ทำหน้าที่เป็นผู้แทนพระองค์ในพิธีการอันสำคัญยิ่งนี้ โดยคณะแพทย์ได้ถวายความเห็นว่า ควีนทรงมีปัญหาในการเคลื่อนไหวพระวรกาย ทำให้ไม่สามารถเสด็จพระราชดำเนินไปด้วยพระองค์เองได้
  • แม้ว่าจะมีการอัญเชิญพระมหามงกุฎมาตั้งไว้บริเวณที่พระองค์เคยประทับนั่งบนพระราชบัลลังก์ อันอยู่เคียงข้างกับบัลลังก์ของเจ้าชาย เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์สมเด็จพระราชินีนาถ เสมือนหนึ่งว่าพระองค์ประทับอยู่ในที่ประชุมแห่งนั้นด้วย แต่ภาพที่เจ้าชายชาร์ลส์ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจแทนองค์ประมุขในพิธีสำคัญของประเทศนี้ เปรียบเหมือนหมุดหมายอันแสดงว่า การเปลี่ยนผ่านราชบัลลังก์กำลังจะเข้ามาถึง และในอนาคตอันใกล้นี้ เจ้าชายวัย 73 พรรษาผู้นี้จะรับช่วงต่อในการทำหน้าที่ประมุขของประเทศที่มีประวัติศาสตร์ราชวงศ์ยาวนานที่สุด
  • พิธีเปิดประชุมรัฐสภาปีนี้ยังเป็นครั้งแรกที่เจ้าชายวิลเลียม ผู้มีสิทธิลำดับที่ 2 ในราชบัลลังก์อังกฤษ ได้เสด็จเข้าร่วม พร้อมด้วยดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ พระชายา อันยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านที่ใกล้เข้ามาถึง และแสดงถึงความพร้อมในการรับภาระประมุขของประเทศของทายาทอีกรุ่นหนึ่งด้วย

เมื่อกล่าวถึงการเปิดประชุมรัฐสภาอังกฤษ (State Opening of Parliament) ภาพที่หลายคนคุ้นเคยมาเป็นเวลานานหลายสิบปีคือ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงสวมพระมหามงกุฎ (Imperial State Crown) และประทับบนพระราชบัลลังก์ เพื่อทรงมีพระราชดำรัสถึงแนวทางในการตรากฎหมายอันเป็นนโยบายในการบริหารประเทศของรัฐบาลต่อรัฐสภา 

 

แต่พิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภาประจำปี 2022 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา สมเด็จพระราชินีนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ และเจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ พระราชนัดดา ซึ่งเป็นพระโอรสในเจ้าชายชาร์ลส์ ทำหน้าที่เป็นผู้แทนพระองค์ในพิธีการอันสำคัญยิ่งนี้ เนื่องด้วยพระชนมายุที่มากถึง 97 พรรษา และพระสุขภาพอนามัยที่ไม่แข็งแรงดังเดิม โดยคณะแพทย์ได้ถวายความเห็นว่า ทรงมีปัญหาในการเคลื่อนไหวพระวรกาย ทำให้ไม่สามารถเสด็จพระราชดำเนินไปด้วยพระองค์เองได้

 

ตลอดเวลาที่ผ่านมานับแต่ทรงครองราชย์ในปี 1952 สมเด็จพระราชินีนาถจะเสด็จพระราชดำเนินมายังอาคารรัฐสภาด้วยพระองค์เองเกือบทุกครั้ง เว้นแต่เพียงในปี 1959 และ 1963 ซึ่งทรงพระครรภ์เจ้าชายแอนดรูว์ และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งเวสเซ็กซ์ โดยในสองครั้งนั้น Lord Chancellor ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของขุนนาง อันสืบทอดมาแต่โบราณ เป็นผู้ทำหน้าที่แทนพระองค์ ดังนั้นพิธีในปีนี้จึงเป็นครั้งแรกในรอบ 59 ปีที่ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีนี้ด้วยพระองค์เอง และเป็นครั้งแรกของเจ้าชายชาร์ลส์ในการมีพระราชดำรัสต่อรัฐสภาในฐานะผู้แทนพระองค์

 

จะทำอย่างไร? หากกษัตริย์อังกฤษไม่อาจปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้

ตามธรรมเนียมปฏิบัติอันยาวนานจนมีสถานะทียบเท่ากับรัฐธรรมนูญของอังกฤษนั้น กษัตริย์หรือพระราชินีนาถซึ่งเป็นประมุขของประเทศมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติภารกิจในฐานะประมุขด้วยพระองค์เอง อย่างไรก็ตามอาจมีบางกรณีที่ประมุขไม่สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจนั้นได้ อันทำให้ต้องมีผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน อันเป็นไปตามหลักการที่ประมุขของประเทศจะต้องพร้อมปฏิบัติหน้าที่อยู่เสมอ เพื่อให้กิจการต่างๆ ของประเทศดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง

 

ดังนั้นหากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงพระประชวร หรือมีเหตุอื่นใดที่ทำให้ทรงไม่สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้ กฎหมายอังกฤษได้กำหนดแนวทางไว้ตามพระราชบัญญัติผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (The Regency Act 1937) ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กรณีตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กล่าวคือ

 

กรณีแรก หากสมเด็จพระราชินีนาถทรงไม่อาจปฏิบัติพระราชภารกิจได้เป็นการถาวรด้วยเหตุประชวรอย่างร้ายแรง เช่น ประชวรหนักจนไม่มีพระสติ กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (Regent) เพื่อทำหน้าที่แทนเสมือนเป็นกษัตริย์ โดยผู้ที่มีสิทธิที่จะได้รับการแต่งตั้งมักจะเป็นรัชทายาทลำดับแรกของราชบัลลังก์ ซึ่งในกรณีนี้คือ เจ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ ที่ทรงดำรงสถานะรัชทายาทมาตั้งแต่ปี 1958 

 

อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในกรณีนี้มักจะเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก โดยครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้น คือ ในปี 1819 เมื่อพระเจ้าจอร์จที่ 3 ทรงประชวรเสียพระสติ ทำให้ไม่อาจทรงบริหารพระราชภารกิจได้ เจ้าชายจอร์จ พระราชโอรส จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ระหว่างปี 1810-1820 อันเป็นที่มาของการเรียกช่วงเวลานั้นว่า ‘Regency Era’

 

กรณีต่อมา หากสมเด็จพระราชินีนาถทรงไม่อาจปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้เป็นการชั่วคราว เช่น ประชวรเล็กน้อย หรือกรณีที่เสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวให้พระราชอำนาจแก่พระราชินีนาถในการแต่งตั้งพระบรมวงศานุวงศ์เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์ในพระราชภารกิจนั้นๆ โดยมีชื่อเรียกว่า ‘Counsellors of State’

 

โดยการแต่งตั้งดังกล่าวนั้นจะต้องมีการประกาศพระบรมราชโองการที่เรียกว่า ‘Letters Patent’ ซึ่งจะเป็นการกำหนดตัวบุคคลและกิจการที่บุคคลนั้นสามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ ยกเว้นแต่กิจการสำคัญที่กษัตริย์หรือพระราชินีจะต้องทรงกระทำด้วยพระองค์เอง โดยไม่สามารถแต่งตั้งผู้แทนพระองค์ได้ เช่น กิจการของเครือจักรภพ การยุบสภาสามัญ การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี การสถาปนาบรรดาศักดิ์ เป็นต้น 

 

สำหรับผู้ที่สามารถทำหน้าที่ Counsellors of State ได้นั้น ได้แก่ พระราชินี หรือพระสวามีของกษัตริย์หรือพระราชินีนาถพระองค์นั้น และรัชทายาทผู้มีสิทธิในราชสมบัติ 4 ลำดับแรก ซึ่งจะต้องมีพระชนมายุ 21 พรรษาขึ้นไป (ยกเว้นรัชทายาทลำดับแรกที่ใช้เกณฑ์เพียง 18 พรรษา)

 

ปัจจุบัน เนื่องจากเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามี สิ้นพระชนม์เมื่อปี 2021 ทำให้ผู้ที่อยู่ในข่ายจะได้รับการแต่งตั้งเป็น Counsellors of State ได้นั้น มี 4 พระองค์ ได้แก่ เจ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ มกุฎราชกุมาร (ลำดับแรก), เจ้าชายวิลเลียม (ลำดับที่ 2), เจ้าชายแฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซ็กซ์ (ลำดับที่ 6) และเจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก (ลำดับที่ 9) เนื่องจากพระโอรสและพระธิดาในเจ้าชายวิลเลียม ซึ่งอยู่ในลำดับรัชทายาทที่สูงกว่า ยังทรงมีพระชนมายุไม่ถึง 21 พรรษา 

 

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นข้อสงสัยเกิดขึ้นว่า เจ้าชายแฮร์รีและเจ้าชายแอนดรูว์นั้นจะยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ Counsellors of State ได้อยู่หรือไม่ เนื่องจากเจ้าชายแฮร์รีนั้นทรงประกาศว่าจะไม่ทรงปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพระราชวงศ์ชั้นสูง (Senior Royal) และย้ายไปประทับที่ต่างประเทศตั้งแต่ปี 2020 ซึ่งการไม่ประทับที่ดินแดนของอังกฤษจะทำให้ขาดคุณสมบัติในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ส่วนเจ้าชายแอนดรูว์นั้นทรงมีกรณีอื้อฉาวทางเพศ และประกาศถอนตัวจากการปฏิบัติหน้าที่สาธารณะตั้งแต่ปี 2020 เช่นกัน 

 

โดยที่ผ่านมาการแต่งตั้ง Counsellors of State เป็นผู้แทนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 นั้นมีอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ รวมถึงการเสด็จเยือนประเทศในเครือจักรภพในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของประเทศนั้นๆ ก็จะมีการแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่แทนในช่วงเวลาดังกล่าวเช่นกัน

 

แม้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าชายชาร์ลส์ในการมีพระราชดำรัสเปิดสมัยประชุมรัฐสภา จะเป็นการทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในนามของสมเด็จพระราชินีนาถ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะเกิดขึ้นได้ในประเทศที่ปกครองในระบอบกษัตริย์ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของพระองค์ในครั้งนี้เป็นเสมือนการเตรียมพระองค์เพื่อทำหน้าที่ประมุขของประเทศในอนาคตอันใกล้

 

เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภา

พิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภาอังกฤษนั้นเป็นพิธีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในระบบรัฐสภา ด้วยเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานหลายร้อยปี และเป็นพิธีเดียวที่ทั้งสามองค์กรหลักของฝ่ายนิติบัญญัติอังกฤษ อันได้แก่ สภาสามัญ (House of Commons) สภาขุนนาง (House of Lords) และพระราชินีนาถ (The Queen) จะมาร่วมกันประกอบพิธีสำคัญในสภาขุนนางแห่งนี้ หรือที่เรียกว่า The Crown in Parliament

 

ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ที่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองและศาสนาระหว่างฝ่ายกษัตริย์กับฝ่ายรัฐสภาในปี 1642 ทำให้ในที่สุดพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทรงละเมิดเอกสิทธิ์ของสมาชิกสภา ด้วยการนำกำลังบุกจับกุมสมาชิกในที่ประชุม อันนำไปสู่สงครามกลางเมืองอังกฤษในระหว่างปี 1642-1648 ซึ่งจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายกษัตริย์ และการสำเร็จโทษพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ในที่สุด ทำให้เกิดเป็นข้อห้ามและกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อมาว่า กษัตริย์จะไม่เสด็จเข้าไปในห้องประชุมสภาสามัญหากมีการประชุมสภาอยู่ พิธีนี้จึงมีความสำคัญยิ่ง ด้วยเป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์ขององค์กรผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติในอังกฤษ

 

เมื่อกษัตริย์มิอาจเข้าไปในสภาสามัญ จึงเป็นหน้าที่ของ ‘Black Rod’ หรือเจ้าหน้าที่รัฐสภาผู้แต่งกายชุดสีดำและถือคทา ในการไปเชิญสมาชิกสภาสามัญเข้ามาร่วมพิธีเปิดสมัยประชุมที่ห้องประชุมสภาขุนนางนั้น โดยเมื่อ Black Rod เดินมาถึงหน้าห้องประชุม สมาชิกสภาสามัญจะปิดประตูใส่ ทำให้ Black Rod ต้องใช้คทาเคาะประตู 3 ครั้ง เพื่อขออนุญาตก่อนจะเข้าไปในห้องประชุม อันแสดงถึงอำนาจอิสระของสมาชิกสภาซึ่งไม่ได้ขึ้นต่อองค์กษัตริย์

 

นอกจากนั้นแล้ว ด้วยความขัดแย้งของสถาบันกษัตริย์กับสภาสามัญในอดีต ทำให้ต่างฝ่ายต่างไม่ไว้วางใจกัน เนื่องจากเมื่อกษัตริย์หรือพระราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินเข้ามาภายในอาคารรัฐสภา ย่อมเท่ากับตกอยู่ในเงื้อมมือของฝ่ายรัฐสภา ทำให้เสี่ยงต่อความปลอดภัยของพระองค์ หรืออาจเกิดเหตุไม่คาดฝัน จึงเกิดเป็นข้อตกลงขึ้นว่า ฝ่ายรัฐสภาจะต้องส่งสมาชิกสภาคนสำคัญไปเป็นตัวประกันอยู่ที่พระราชวังบักกิงแฮมจนกว่าจะเสด็จพระราชดำเนินกลับ จึงจะปล่อยตัวประกันผู้นั้นได้ ซึ่งเรื่องนี้ยังคงมีการดำเนินการมาจนปัจจุบัน 

 

เมื่อสมาชิกสภาสามัญเข้ามาในห้องประชุมสภาขุนนางแล้ว พิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภาจะเริ่มต้นขึ้น โดยการมีพระราชดำรัสของกษัตริย์หรือพระราชินีนาถต่อสมาชิกรัฐสภา

 

การมีพระราชดำรัสนี้ แม้จะเรียกว่าพระราชดำรัสเปิดประชุมรัฐสภา (The Queen’s Speech) แต่เนื้อหานั้นหาได้เป็นถ้อยแถลงหรือข้อความของพระองค์ หากแต่เป็นสิ่งที่รัฐบาลได้ยกร่างและจัดทำขึ้น เพื่อนำเสนอแผนของรัฐบาลว่าจะมีการเสนอร่างกฎหมายเรื่องใดบ้างในสมัยประชุมนั้น อันสะท้อนถึงนโยบายของรัฐบาล โดยกษัตริย์นั้นเป็นผู้ทรงประกาศโดยแถลงต่อที่ประชุมของรัฐสภาเท่านั้น อันสอดคล้องกับหลัก The King can do no wrong, the King can do nothing กษัตริย์ไม่ทรงต้องรับผิด เพราะไม่ได้ทรงทำสิ่งใด

 

ความเปลี่ยนแปลงในพิธีเปิดสมัยประชุม

แม้ว่าพิธีโดยรวมจะเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติเดิมที่เคยเป็นมากว่า 400 ปี แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนแปลงไป และสมเด็จพระราชินีนาถมิอาจเสด็จพระราชดำเนินมาทรงปฏิบัติหน้าที่ได้ดังเดิม ทำให้พิธีนี้ต้องเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่อง ซึ่งเรื่องที่สำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงบริเวณบัลลังก์ที่ประทับ

 

โดยปกติแล้วสมเด็จพระราชินีนาถจะประทับบนราชบัลลังก์สำหรับกษัตริย์ (The Sovereign’s Throne) และเจ้าชายฟิลิปจะประทับบนบัลลังก์สำหรับพระสวามีคู่สมรส (The Consort’s Throne) ซึ่งตั้งอยู่ด้านซ้ายและมีขนาดเล็กกว่า แต่ในปีนี้ราชบัลลังก์สำหรับกษัตริย์ได้ถูกย้ายออกไป และมีการอัญเชิญพระมหามงกุฎมาประดิษฐานแทนในบริเวณนั้น ส่วนเจ้าชายชาร์ลส์นั้นประทับที่บัลลังก์เดียวกันกับพระราชบิดาของพระองค์ โดยมิได้ประทับบนพระราชบัลลังก์ของพระราชมารดาแต่อย่างใด

 

นอกจากนั้นแล้วยังมีประเด็นที่น่าสนใจคือ ถ้อยคำหรือคำพูดของผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแตกต่างไปจากเดิม อันเนื่องมาจากผู้ปฏิบัติหน้าที่ประมุขของประเทศเปลี่ยนแปลงไป

 

กรณีแรกคือ เมื่อ Black Rod เข้าไปในห้องประชุมสภาสามัญแล้ว โดยปกติจะต้องกล่าวถ้อยคำต่อที่ประชุมสภาว่า “Mr Speaker, The Queen commands you and this honourable House to attend her Majesty immediately in the House of Peers.” อันหมายถึงการเชิญไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถ แต่กรณีนี้เมื่อเจ้าชายชาร์ลส์และเจ้าชายวิลเลียมเป็นผู้แทนพระองค์มาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ Counsellors of State  ถ้อยคำดังกล่าวจึงต้องเปลี่ยนเป็นว่า “…to attend her Counsellors of State immediately in the House of Peers.”

 

กรณีต่อมา เมื่อทุกฝ่ายพร้อมกันในที่ประชุมแล้ว สมเด็จพระราชินีนาถจะทรงมีพระราชดำรัส โดยจะทรงกล่าวถึงรัฐบาลว่า ‘My Government’ หรือ ‘รัฐบาลของพระองค์’ แต่ในกรณีของเจ้าชายชาร์ลส์นั้นได้ทรงมีพระราชดำรัสว่า ‘Her Majesty’s Government’ หรือ ‘รัฐบาลของสมเด็จพระราชินีนาถ’ อันแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในสถานะของพระองค์

 

กรณีรายละเอียดเหล่านี้แม้ดูจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในประเทศที่ให้ความสำคัญกับธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติเช่นอังกฤษ เรื่องดังกล่าวย่อมมิอาจถูกละเลยหรือปฏิบัติไปโดยอำเภอใจ หากแต่จะต้องคำนึงถึงแบบแผนและรูปแบบที่ถูกต้องด้วย

 

เมื่อสายลมแห่งการเปลี่ยนผ่านใกล้จะมาถึง

แม้ว่าจะมีการอัญเชิญพระมหามงกุฎมาตั้งไว้บริเวณที่พระองค์เคยประทับนั่งบนพระราชบัลลังก์ อันอยู่เคียงข้างกับบัลลังก์ของเจ้าชาย เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์สมเด็จพระราชินีนาถ เสมือนหนึ่งว่าพระองค์ประทับอยู่ในที่ประชุมแห่งนั้นด้วย แต่ภาพที่เจ้าชายชาร์ลส์ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจแทนองค์ประมุขในพิธีสำคัญของประเทศนี้ เปรียบเหมือนหมุดหมายอันแสดงว่า การเปลี่ยนผ่านราชบัลลังก์กำลังจะเข้ามาถึง และในอนาคตอันใกล้นี้ เจ้าชายวัย 73 พรรษาผู้นี้จะรับช่วงต่อในการทำหน้าที่ประมุขของประเทศที่มีประวัติศาสตร์ราชวงศ์ยาวนานที่สุด

 

นอกจากนั้นแล้ว พิธีเปิดประชุมรัฐสภาปีนี้ยังเป็นครั้งแรกที่เจ้าชายวิลเลียม ผู้มีสิทธิลำดับที่ 2 ในราชบัลลังก์อังกฤษ ได้เสด็จเข้าร่วม พร้อมด้วยดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ พระชายา อันยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านที่ใกล้เข้ามาถึง และแสดงถึงความพร้อมในการรับภาระประมุขของประเทศของทายาทอีกรุ่นหนึ่งด้วย 

 

นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ความเข้มแข็งของสถาบันกษัตริย์นั้นขึ้นอยู่กับการมีผู้สืบทอดที่ชัดเจนแน่นอน เพื่อให้การสืบราชสันตติวงศ์เป็นไปโดยต่อเนื่องไม่ขาดสายและไม่มีความขัดแย้ง ตลอดจนจะเป็นการเตรียมความพร้อมในการทำหน้าที่ประมุขของประเทศให้แก่ผู้สืบทอดนั้นด้วย ซึ่งสถาบันกษัตริย์อังกฤษได้ยึดมั่นในแนวทางดังกล่าวมาเป็นเวลานาน โดยมีการกำหนดตัวบุคคลผู้ที่จะขึ้นสืบราชสมบัติไว้อย่างชัดเจน ทำให้ช่วยป้องกันความคลุมเครือหรือปัญหาที่จะเกิดขึ้น รวมถึงเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับราชบัลลังก์ได้อีกด้วย 

 

อนึ่ง มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า โดยปกติแล้วเจ้าชายชาร์ลส์มักจะแสดงความคิดเห็นหรือแสดงความรู้สึกของพระองค์ต่อสาธารณะอย่างชัดเจน แต่เมื่อพระองค์ต้องมาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนประมุขในครั้งนี้ พระองค์ต้องทรงอ่านตามข้อความที่รัฐบาลได้ยกร่างไว้แล้ว และทรงไม่สามารถแสดงความรู้สึกใดๆ ต่อเรื่องดังกล่าวได้ การปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนี้จึงเป็นเหมือนบททดสอบในการเตรียมพระองค์เพื่อเป็นประมุขของประเทศ เนื่องจากการดำรงสถานะดังกล่าวจะต้องวางพระองค์เป็นกลางทางการเมืองและไม่ทรงกระทำสิ่งใดด้วยพระองค์เอง

 

การปฏิบัติหน้าที่ประมุขของประเทศของเจ้าชายชาร์ลส์ในอนาคตอันใกล้จะถึงนี้ จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของพระองค์ รวมถึงเป็นความท้าทายสำคัญของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ ในช่วงเวลาที่กระแสเรียกร้องสาธารณรัฐและการเปลี่ยนแปลงระบอบกษัตริย์ดังขึ้นเรื่อยๆ

 

ภาพ: Alastair Grant – WPA Pool / Getty Images

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising