ความขัดแย้งระหว่างสตาร์ทอัพผู้สร้าง ChatGPT อย่าง OpenAI และมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกอย่าง อีลอน มัสก์ มีพื้นฐานอยู่บนประเด็นความไม่ลงรอยทางวิสัยทัศน์ของทั้งสองฝ่าย ท่ามกลางความพยายามของ OpenAI ที่กำลังจะเปลี่ยนสถานะจาก ‘องค์กรไม่แสวงผลกำไร’ ไปสู่ ‘ธุรกิจที่ดำเนินกิจการเพื่อผลกำไร’ ซึ่งเป็นสิ่งที่มัสก์ที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งในปี 2015 เห็นว่าทิศทางอนาคตของ OpenAI กำลังขัดกับเจตจำนงการก่อตั้งบริษัทตั้งแต่แรก
การไม่ลงรอยกันของทั้งสองฝ่ายเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อมัสก์เปลี่ยนจากคำวิจารณ์ธรรมดามาเป็นการยื่นคำฟ้องร้องในชั้นศาล โดยกล่าวอ้างว่านอกจาก OpenAI จะให้ค่าผลกำไรมากกว่าการสร้างผลประโยชน์เชิงบวกกับสังคมแล้ว บริษัทยังพยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่ปิดกั้นการแข่งขัน เช่น การห้ามนักลงทุนสนับสนุนเงินทุนให้บริษัทอื่น อย่างเช่น ในกรณี xAI ของมัสก์ เพื่อรักษาอำนาจของตนเองไว้
ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา มัสก์ขอให้ศาลตัดสินให้ OpenAI ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนสถานะไปสู่ ‘ธุรกิจที่แสวงผลกำไร’ ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ต้านสุดแรง! อีลอน มัสก์ ยื่นร้องศาล ขวาง OpenAI ไม่ให้เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจไปเป็น ‘บริษัทแสวงหาผลกำไร’
- OpenAI กระโดดเข้าสู่ ‘ธุรกิจสงคราม’ จับมือผู้ผลิตอาวุธเชิงพาณิชย์พัฒนาระบบ AI ต่อต้านการโจมตีด้วยโดรน
- OpenAI เปิดให้ใช้ ‘Sora’ แล้ว AI ทำวิดีโอ 1080p จากข้อความ-ภาพนิ่ง มีความยาวสูงสุด 20 วินาที ผู้ใช้ ChatGPT Pro จะสร้างได้ไม่จำกัด
อย่างไรก็ดี OpenAI ออกมาโต้กลับว่า การกระทำของมัสก์คือความพยายามที่จะขัดขวางการแข่งขันในระหว่างที่ตนพัฒนา xAI ให้เก่งขึ้น พร้อมกันนี้ OpenAI ยังเขียนจดหมายแถลงการณ์บนเว็บไซต์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เพื่อชี้แจงข้อกล่าวหาเรื่องการเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรให้กลายเป็นบริษัทที่แสวงผลกำไรว่า แท้จริงแล้วมัสก์เองนั่นแหละที่เป็นผู้ผลักดันโครงสร้างดังกล่าวตั้งแต่แรกในปี 2017
“อีลอน มัสก์ ไม่เพียงแค่ต้องการ แต่คือผู้สร้างโครงสร้างองค์กรแสวงผลกำไร” จดหมายแถลงการณ์ของ OpenAI ระบุ
นอกจากนี้ในจดหมายแถลงการณ์ยังมีภาพอีเมลฉบับปี 2015 ที่ อีลอน มัสก์ เขียนถึง แซม อัลต์แมน ซีอีโอของ OpenAI คนปัจจุบัน ว่า โครงสร้างองค์กรไม่แสวงผลกำไร “อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสม” เนื่องจากบริษัทจำเป็นที่จะต้องดึงดูดเงินลงทุนเพื่อให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยี AI ให้บรรลุเป้าหมายของบริษัทที่ต้องการทำให้ AI เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ซึ่งในปี 2017 ก็เป็นช่วงเวลาที่ OpenAI และ อีลอน มัสก์ ตกลงกันว่าบริษัทควรจะเน้นการทำกำไร
แต่แล้วเมื่อการตกลงเสร็จสิ้น มัสก์ก็มีอีกหนึ่งคำขอนั่นคือการให้อำนาจเขาในการควบคุม OpenAI ผ่านการให้สิทธิ์ถือครองหุ้นส่วนใหญ่ แต่เมื่อผู้บริหารรายอื่นไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ มัสก์จึงขอเลือกเดินออกมาและพูดว่า OpenAI กำลังเดินหน้าไปสู่ความล้มเหลว
ตัดกลับมาที่ช่วงเวลาปัจจุบัน แนวโน้มกลับกลายเป็นว่า OpenAI เปรียบได้กับหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรม บริษัทจึงมองว่าสถานการณ์ดังกล่าวผนวกกับการที่มัสก์มีสตาร์ทอัพ AI ของตนเอง ทำให้เขาต้องขอร้องให้ศาล ‘ยับยั้งไม่ให้ OpenAI ทำตามเป้าหมายที่บริษัทวางเอาไว้’
OpenAI มองว่ามัสก์ควรจะแข่งขันในตลาดอย่างเท่าเทียมแทนการใช้อำนาจศาล
“คุณ (อีลอน มัสก์) ไม่สามารถฟ้องร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยี Artificial General Intelligence (AGI) เรา (บริษัท) ทั้งเคารพและขอบคุณสำหรับการมีส่วนร่วมในช่วงแรกของมัสก์กับ OpenAI แต่ตอนนี้เขา (อีลอน มัสก์) ควรจะแข่งขันในตลาดมากกว่าในศาล” ส่วนหนึ่งของจดหมายแถลงการณ์ OpenAI ระบุ
อ้างอิง: