นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแอริโซนา เผยผลวิจัยที่ระบุว่าสภาพแวดล้อมการทำงานในออฟฟิศแบบเปิด (Open-plan Offices) หรือไม่มีโต๊ะประจำ จะช่วยให้พนักงานกระตือรือร้น ตื่นตัวในการทำงานมากขึ้น เครียดน้อยลง ต่างจากการทำงานในห้องแคบๆ หรือนั่งที่เดิมเป็นเวลานานๆ
ทีมวิจัยเริ่มต้นศึกษาโดยตั้งสมมติฐานว่าสภาพแวดล้อมการทำงานอาจมีส่วนทางอ้อมให้พนักงานป่วยหรือเครียดได้ หลังจากนั้นพวกเขาจึงทดลองโดยนำเซนเซอร์ตรวจจับอัตราการเต้นของหัวใจและการเคลื่อนไหวของร่างกายไปติดบริเวณหน้าอกของกลุ่มตัวอย่างพนักงานออฟฟิศ 4 บริษัทที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันจำนวน 231 คน ตลอดระยะเวลา 3 วัน เพื่อวัดผลว่าคนทำงานแต่ละบริษัทมีระดับความเครียดหรือมีวิธีตอบสนองต่อความเครียดผ่านการแสดงออกแตกต่างกันอย่างไร แล้วสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมในการทำงานมากน้อยแค่ไหน
ผลปรากฏว่ารูปแบบของสถานที่ทำงานมีผลเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการเคลื่อนไหวของพนักงานและยังช่วยลดความเครียดได้ โดยชี้ว่าพนักงานที่ต้องนั่งทำงานประจำมีแนวโน้มจะพบปัญหาด้านสุขภาพ ไล่ตั้งแต่โรคหัวใจ รู้สึกเหนื่อย เมื่อยล้า จนถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งปัญหาความเครียดสะสมพวกนี้เกิดขึ้นจากการไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเท่าที่ควรในระหว่างชั่วโมงการทำงาน
เอสเธอร์ สเติร์นเบิร์ก (Esther Sternberg) หนึ่งในทีมนักวิจัยและศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแอริโซนา ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่าคนทำงานทุกคนคงรู้อยู่แล้วว่าการขยับร่างกายหรือการไม่นั่งอุดอู้อยู่กับที่เป็นเวลานานๆ จะช่วยส่งผลด้านบวกให้กับสุขภาพร่างกายได้ แต่ปัญหาก็คือไม่ว่าจะแนะนำคนทำงานมากแค่ไหน สุดท้ายแล้วพวกเขาก็จะไม่สนใจอยู่ดี
“ดังนั้นการเปลี่ยนดีไซน์ของออฟฟิศและสำนักงานเพื่อช่วยส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่ดีน่าจะเป็นวิธีที่จะช่วยให้ผู้คนตื่นตัวและกระฉับกระเฉงกันมากขึ้น”
สำหรับออฟฟิศแบบเปิด ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแอริโซนาเชื่อว่าจะช่วยให้พนักงานมีการพูดคุยสื่อสารระหว่างกันคนในองค์กรได้ดี และยังสนใจเพื่อนรอบตัวมากกว่าการทำงานงานในห้องส่วนตัว ส่วนการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ในอาคารสำนักงานก็ส่งผลด้านสุขภาพได้เหมือนกัน เช่น การให้ความสำคัญกับบันไดมากกว่าลิฟต์
อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาในครั้งนี้อาจขัดแย้งกับผลวิจัยที่ศึกษาผลกระทบจากออฟฟิศแบบเปิดที่ถูกเปิดเผยมาก่อนหน้านี้พอสมควร โดยเฉพาะงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ระบุว่าสภาพแวดล้อมของดีไซน์ออฟฟิศแบบเปิดจะทำให้พนักงานในองค์กรมีการสื่อสารแบบเผชิญหน้ากัน (Face to Face) น้อยลง 70% ตรงข้ามกับการสื่อสารกันผ่านอีเมลที่เพิ่มขึ้นกว่า 50% ซึ่งอาจตีความได้ว่าพนักงานจะเปิดใจคุยกันน้อยลงกว่าเดิม
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: