นักเศรษฐศาสตร์ห่วง โอเปกพลัส OPEC+ ลดกำลังการผลิตมากถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะสะเทือนเงินเฟ้อไทยในไตรมาส 4 เนื่องจากต้องเผชิญแรงกดดันทั้งจากฝั่งอุปสงค์และอุปทานพร้อมกัน
อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวถึงกรณีที่กลุ่ม OPEC+ มีมติเตรียมปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 2 ล้านบาร์เรลต่อวันว่า เรื่องดังกล่าวถือเป็นปัจจัยที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่การลดกำลังผลิตอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกดีดตัวกลับขึ้นไปยืนอยู่ในระดับสูงกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อของไทยที่ปัจจุบันเริ่มชะลอตัวลงบ้าง ให้เร่งตัวกลับขึ้นมาอีกครั้งในช่วงไตรมาส 4
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กูรูชี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเขย่าห่วงโซ่การผลิตโลก เตือนไทยมัวแต่เหยียบเรือสองแคม สุดท้ายอาจตกขบวน
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- ต่างชาติแห่ปักหมุด ลงทุนเวียดนาม ยอด FDI พุ่งแซงไทยแบบไม่เห็นฝุ่น สัญญาณบ่งชี้ ไทยเริ่มไร้เสน่ห์?
“เราประเมินว่าการส่งผ่านของราคาสินค้าจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคจะมีมากขึ้นในไตรมาส 4 โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจโดยภาพรวมกำลังฟื้นตัว กำลังซื้อดีขึ้น ต้นทุนด้านแรงงานที่กำลังขยับขึ้นตามค่าแรงขั้นต่ำ น่าจะมีผลให้ราคาสินค้ายังคงขยับสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากราคาน้ำมันปรับขึ้นอีกก็จะทำให้เงินเฟ้อไทยมีแรงส่งทั้งจากฝั่งอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งน่าเป็นห่วง” อมรเทพกล่าว
อมรเทพระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องหากราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นจนสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ซึ่งผลกระทบที่จะตามมาคือภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทำให้ค่าเงินบาทยังมีโอกาสจะพลิกกลับมาอ่อนค่าได้อีก ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมเงินเฟ้อภายในประเทศ จึงต้องจับตาดูว่าสหรัฐฯ จะมีวิธีกดดันให้ OPEC+ ปรับเปลี่ยนนโยบายได้หรือไม่
“หลายคนมองว่าเงินเฟ้อไทยชะลอลงแล้วและน่าจะชะลอต่อในไตรมาส 4 ด้วยฐานที่สูง นั่นเป็นการปรับลดลงเมื่อเทียบแบบ YoY หากเราเทียบแบบ MoM จะพบว่าเงินเฟ้อยังเป็นบวกอยู่ และต้องไม่ลืมว่าเรายังมีปัจจัยอื่นๆ ที่คอยกดดัน เช่น การปรับเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้า และปัญหาน้ำท่วม ที่อาจส่งผลต่อราคาอาหาร เราจึงไม่ควรชะล่าใจ” อมรเทพกล่าว
ด้านนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) ระบุว่า การจำกัดการผลิตน้ำมันในช่วงที่กำลังจะเข้าสู่ฤดูหนาวของ OPEC+ ถือเป็นปัจจัยที่จะกดดันราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น เห็นได้จากทันทีที่มีการรายงานข่าว ราคาน้ำมันในตลาดโลกก็ปรับเพิ่มขึ้นจาก 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็น 93 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัว ยังเชื่อว่าราคาน้ำมันจะไม่กลับไปสูงเหมือนในช่วงที่ผ่านมา โดยหากราคาน้ำมันไม่พุ่งทะลุจากระดับ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก็เชื่อว่าจะมีแรงกดดันต่อเงินเฟ้อไม่มากนัก จึงยังมองว่าเงินเฟ้อของไทยเฉลี่ยทั้งปีนี้จะยังอยู่ที่ระดับ 6%
“ผมมองว่าเงินเฟ้อของไทยในปีนี้น่าจะพีคแล้ว มติของ OPEC+ อาจจะกดดันให้ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น แต่คงไม่มากเหมือนเก่า ด้วยเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ในภาพรวมจึงยังมองว่าเงินเฟ้อไทยคงจะไม่เร่งตัวขึ้น แต่ก็ปรับลดลงไม่เยอะเหมือนที่เคยมองกันก่อนหน้านี้” นริศกล่าว
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP