×

OPEC+ หั่นกำลังผลิตน้ำมัน อาจกลายเป็นจุด ‘พลิกเกม’ ตลาดหุ้นโลก โบรกฯ แนะปรับพอร์ตถือเงินสด 80%

04.04.2023
  • LOADING...
OPEC+

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (2 เมษายน) The Organization of Petroleum Exporting Countries and Allies หรือ OPEC+ ได้เซอร์ไพรส์นักลงทุนทั่วโลกด้วยการประกาศว่าจะลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน นำโดยผู้ผลิตรายใหญ่อย่างซาอุดีอาระเบียที่มีแผนจะลดกำลังการผลิตลง 5 แสนบาร์เรลต่อวัน 

 

หลังการประกาศของ OPEC+ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกอย่าง WTI พุ่งขึ้น 8% ในวันนี้ (4 เมษายน) นับเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาในวันที่มากที่สุดในรอบกว่า 1 ปี 

 

Daniel Hynes นักกลยุทธ์อาวุโสด้านสินค้าโภคภัณฑ์ของ Australia & New Zealand Banking Group กล่าวว่า “มาตรการดังกล่าวได้ส่งสัญญาณที่ค่อนข้างชัดเจนว่า OPEC+ พยายามจะประคองราคา ส่งผลให้ราคาน้ำมันมีโอกาสจะกลับไปสู่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล” 

 

ขณะที่ Goldman Sachs มองว่า ในอดีตที่ผ่านมา OPEC+ มีอิทธิพลต่อราคาน้ำมันอย่างมาก การประกาศลดกำลังการผลิตของ OPEC+ เมื่อผนวกเข้ากับการลดกำลังการผลิตของรัสเซีย ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบเบรนต์มีโอกาสจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในเดือนธันวาคมนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล พร้อมคาดราคาน้ำมัน ณ สิ้นปี 2024 ที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากเดิมที่คาดไว้ที่ 95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

 

ทางด้าน Francisco Blanch หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านสินค้าโภคภัณฑ์และอนุพันธ์ของ Bank of America กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงอย่างไม่คาดคิดของกำลังการผลิตน้ำมัน 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน อาจกระทบต่อราคาน้ำมันราว 20-25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล” 

 

การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของ OPEC+ ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อการลงทุนทั่วโลก และอาจจะทำให้ทิศทางของตลาดหุ้นทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปจากที่นักลงทุนประเมินไว้ก่อนหน้านี้

 

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า การตัดสินใจของ OPEC+ อาจกลายเป็นจุดพลิกเกมของตลาดหุ้นและการลงทุนทั่วโลก 

 

ก่อนหน้านี้นักลงทุนส่วนใหญ่ประเมินว่าจุดสูงสุดของความกลัวในเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ได้ผ่านไปแล้ว เช่นเดียวกับแรงกดดันในเรื่องวิกฤตราคาพลังงานสูงและเงินเฟ้อก็น่าจะผ่านไปแล้วเช่นกัน 

 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ภาพอุปสงค์และอุปทานต่อราคาน้ำมันดิบเปลี่ยนไป อุปสงค์ต่อน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นจากจีน เมื่อเผชิญกับอุปทานที่อาจจะลดลง ทำให้ความเสี่ยงเรื่องการขาดแคลนพลังงานอาจเกิดขึ้นได้อีกครั้ง พร้อมกับราคาพลังงานที่สูงขึ้น จนนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อครั้งใหม่ 

 

“ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นอาจนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อ และส่งผลต่อการเข้มงวดด้านนโยบายการเงินที่อาจยังไม่จบลงในไตรมาส 2 แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า OPEC+ จะทำจริงอย่างที่พูดหรือไม่”

 

แม้ว่าผลกระทบจากการตัดสินใจของ OPEC+ อาจดูไม่มากในแง่ราคาน้ำมันดิบ แต่จะส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อการลงทุน เพราะสมมติฐานเดิมที่นักลงทุนส่วนใหญ่ประเมินไว้อาจต้องเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในเรื่องนโยบายการเงินของธนาคารกลางแต่ละประเทศ

 

สำหรับประเทศไทยในฐานะผู้นำเข้าพลังงานสุทธิต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ในช่วงที่ราคาพลังงานสูงเมื่อปีก่อน ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เคยคาดว่าจะพลิกกลับมาเกินดุล อาจขาดดุลต่อไป และส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงอีกครั้ง 

 

ณัฐชาตกล่าวต่อว่า การปรับพอร์ตลงทุนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ อาจต้องตัดสินใจและดำเนินการให้เร็ว เพราะความเสี่ยงจากการเป็นผู้ตามค่อนข้างสูง 

 

“หาก OPEC+ ทำจริง จะเพิ่มความเสี่ยงเรื่อง Recession โดยเฉพาะการเกิดแบบ Hard Landing และทำให้ธนาคารกลางต่างๆ มีโอกาสจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ซึ่งจะกระทบต่อมูลค่าของหุ้น” 

 

นักลงทุนอาจต้องเริ่มปรับพอร์ตส่วนหนึ่งก่อน แม้ยังมีความไม่แน่นอนว่า OPEC+ จะลดกำลังการผลิตจริงอย่างที่ประกาศหรือไม่ แต่นักลงทุนอาจมีทางเลือกไม่มากนัก เพราะหากพิจารณาจากช่วงที่ราคาพลังงานสูงเมื่อปีก่อน จะเห็นว่าแทบจะทุกสินทรัพย์ถูกเทขาย

 

“หากย้อนไปดูปีก่อนแทบจะไม่มีหลุมหลบภัยใดๆ แม้แต่บอนด์ก็ขาดทุน ในภาวะเช่นนี้ต้องกลับมาหากลุ่มหุ้นที่ทนทานต่อเงินเฟ้อ รวมถึงการถือเงินสด ส่วนทองคำอาจไม่แน่นอน แม้เงินเฟ้อจะสูงขึ้น แต่บอนด์ยีลด์ก็สูงขึ้นเช่นกัน โดยสุทธิแล้วควรต้องเพิ่มน้ำหนักเงินสด”

 

สำหรับช่วงนี้ที่ยังไม่แน่ชัดว่า OPEC+ จะทำจริงหรือไม่ แนะนำว่านักลงทุนควรถือเงินสดเพิ่มขึ้นเป็น 60% จากเดิมที่เราแนะนำให้ถือเงินสด 20% โดยลดน้ำหนักหุ้นและบอนด์ลงมาเหลือ 25% และ 15% จากเดิมที่ 50% และ 30% ตามลำดับ 

 

หาก OPEC+ ทำจริงอย่างที่ประกาศไว้ นักลงทุนควรถือเงินสดถึง 80% โดยเหลือสัดส่วนหุ้นและบอนด์ 15% และ 5% เพราะความเสี่ยงเรื่องต้นทุนพลังงานจะกลับมาอีกครั้ง จนกว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณที่ OPEC+ จะเริ่มกลับนโยบาย หรือสัญญาณอื่นๆ ที่ราคาพลังงานจะอ่อนลงอีกครั้ง 

 

ทั้งนี้ หุ้นที่เป็นทางเลือกที่น่าสนใจในช่วงนี้ควรเป็นกลุ่มที่ทนทานต่อเงินเฟ้อ และมีศักยภาพในการส่งผ่านต้นทุนได้เร็วและแรง เช่น กลุ่มเฮลท์แคร์ เพราะเป็นบริการที่จำเป็นและมีสัดส่วนต้นทุนพลังงานไม่สูง นอกจากนี้กลุ่มบริการ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม หรือค้าปลีก ที่มีแรงหนุนจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นก็เป็นอีกกลุ่มที่น่าสนใจ 

 

ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงานเป็นกลุ่มที่คาดการณ์ได้ค่อนข้างยาก เพราะราคาอาจผันผวนตามข่าวในแต่ละวัน ซึ่งอาจพลิกผันได้ตลอดจึงเป็นกลุ่มที่เหมาะแก่การเก็งกำไรระยะสั้นมากกว่า 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X