สถานีโทรทัศน์ CNBC รายงานว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือ โอเปกพลัส OPEC+ ได้มีมติหลังเสร็จสิ้นการประชุมเมื่อวานนี้ (5 ตุลาคม) เตรียมปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันที่ 2 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนพฤศจิกายนนี้
มติดังกล่าวถือเป็นการปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่ที่สุดของ OPEC+ นับตั้งแต่ปี 2020 อีกทั้งยังเป็นการปรับลดกำลังการผลิตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และยังเป็นความเคลื่อนไหวที่อยู่ในความคาดหมายของบรรดาผู้เข้าร่วมตลาดพลังงานที่คาดหวังว่ากลุ่ม OPEC+ ซึ่งรวมถึงซาอุดีอาระเบียและรัสเซียจะกำหนดให้มีการลดกำลังการผลิตระหว่าง 5 แสน – 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยเป็นการประชุมแบบพบหน้ากันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มเกิดการแพร่ระบาดของโควิด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- OR-BAFS ตั้งบริษัทร่วมทุน มูลค่าลงทุนเบื้องต้น 2.33 พันล้านบาท คว้างานแรก ‘บริการนํ้ามันเชื้อเพลิงอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา’
- ‘OECD’ เตือน วิกฤตพลังงานและเงินเฟ้อฉุดเศรษฐกิจ ‘ถดถอยทั่วโลก’ ลากยาวตลอดปี 2023
- บริษัทนํ้ามันยักษ์ใหญ่ในสิงคโปร์ส่อล้มละลาย, Nissan Motors ประกาศปิดสำนักงานหลักในญี่ปุ่นชั่วคราว
ก่อนหน้านี้ กลุ่ม OPEC+ มีมติลดกำลังการผลิต 1 แสนบาร์เรลต่อวันในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นการปรับลดกำลังการผลิตเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2020 เพื่อพยุงราคาน้ำมันในตลาด
นอกจากนี้ OPEC+ ยังได้เพิ่มกำลังการผลิต 4.32 แสนบาร์เรลต่อวันในเดือนมิถุนายน รวมทั้งเพิ่มการผลิตอีก 6.48 แสนบาร์เรลต่อวันทั้งในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ก่อนที่จะลดการเพิ่มการผลิตเหลือเพียง 1 แสนบาร์เรลต่อวันในเดือนกันยายน
ในช่วงเวลาที่ OPEC+ เพิ่มกำลังการผลิตในปีนี้ คือเดือนมิถุนายน เป็นช่วงที่ราคาน้ำมันโลกลดลงจาก 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงต้นปีมาอยู่ที่ประมาณ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย จนทำให้ความต้องการบริโภคน้ำมันลดลง
นักวิเคราะห์มองว่า การปรับลดกำลังการผลิตในเดือนพฤศจิกายนเป็นความพยายามของกลุ่ม OPEC+ ที่จะรักษาระดับราคาน้ำมัน แม้ว่าจะมีแรงกดดันซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ที่ต้องการเพิ่มราคาน้ำมันให้สูงขึ้นก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายน
รายงานระบุว่า ทำเนียบขาวได้ออกแถลงการณ์แสดงความผิดหวังต่อการตัดสินใจของกลุ่ม OPEC+ ในครั้งนี้
โดยเมื่อวานนี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดฟิวเจอร์สต่างปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในตลาดฟิวเจอร์ส เพิ่มขึ้นเกือบ 1% มาอยู่ที่ 87.37 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือ เพิ่มขึ้นราว 1.1% มาอยู่ที่ 92.82 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ในส่วนของความเคลื่อนไหวในตลาดหุ้น นักวิเคราะห์ประเมินว่าจะยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อสูง นโยบายคุมเข้มทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวจะส่งผลต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในปีนี้ด้วย
โดยขณะนี้ บรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างสังเกตเห็นความไม่สมดุลพื้นฐานและน่าเป็นห่วงในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งมีการขายพันธบัตรมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ แต่กลับไม่มีผู้ซื้อมากตามพันธบัตรที่ขาย ดังนั้น หากแนวโน้มดังกล่าวยังคงอยู่ อาจนำไปสู่ปัญหาสินเชื่อและขัดขวางความสามารถของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการจัดหาเงินทุนเอง ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่งหลังจากที่หนี้ของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นเหนือ 31 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรกในวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา
อ้างอิง:
- https://www.cnbc.com/2022/10/05/oil-opec-imposes-deep-production-cuts-in-a-bid-to-shore-up-prices.html
- https://edition.cnn.com/2022/10/05/investing/premarket-stocks-trading/index.html
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP