จริงๆ แล้วเรื่องของการแช่แข็งเซลล์ไข่ (Oocyte Cryopreservation หรือ Oocyte Freezing) ของผู้หญิง เกิดขึ้นมานานแล้ว และน่าจะตรงกับความสนใจของผู้หญิงยุคนี้หลายๆ คน แม้แต่ในภาพยนตร์ Fast & Feel Love ของค่าย GDH ก็ยังมีประเด็นของการแช่แช็งไข่อยู่ด้วย ในชีวิตจริงที่ไม่ใช่ในหนัง เชื่อว่ามีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่เริ่มมองหาทางเลือกในการจัดการและวางแผนชีวิตตนเองให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา บางคนอยากมีลูกแต่ตอนนี้ยังไม่พร้อม สวนทางกับอายุที่เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันปริมาณไข่ก็ลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ อย่างน่าใจหาย ดังนั้นผู้หญิงยุคนี้ควรจะต้องรับมือและเตรียมพร้อมอย่างไร เราจะไปทำความเข้าใจกับการแช่แข็งไข่ไปด้วยกัน
ความสำคัญของการแช่แข็งไข่ (Oocyte freezing)
มีเหตุผลมากมายที่ผู้หญิงยุคใหม่อยากจะชะลอการมีลูก เช่น แม้จะมีแฟนแต่ยังไม่พร้อมจะมีลูก หรือในคนที่ยังไม่มีแฟน ขณะที่อายุของตนเองก็เพิ่มมากขึ้นทุกที อาจเกรงว่าจะไม่มีโอกาสมีลูกเพราะพ้นวัย หรือหากเกิดตั้งครรภ์ตอนที่ตนเองอายุมากเกินไปจะทำให้เกิดอันตรายทั้งแม่และลูก ซึ่งทำให้ความสนใจในการแช่แข็งไข่ได้รับความนิยมเรื่อยมา แต่เทรนด์นี้ไม่ใช่เกิดเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น เพราะมันเกิดทั่วโลก การแช่งแข็งเซลล์ไข่เมื่ออายุผู้หญิงยังไม่มากจนเกินไปจึงเกิดขึ้น เพื่อขานรับกับความต้องการ เป็นแม่ในเวลาที่ใช่ เคยมีข้อมูลจากสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 2017 ที่รายงานว่าการทำเด็กหลอดแก้วทั้งหมดใช้เซลล์ไข่แช่แข็งถึงร้อยละ 5
ทำไมยิ่งอายุมากจึงมีลูกยาก?
เป็นความเข้าใจผิดของผู้หญิงส่วนหนึ่งที่ว่าอายุเท่าไรก็มีลูกได้ไม่ยาก ความจริงคือ ผู้หญิงจะมีลูกยากขึ้นเริ่มจากอายุ 32 ปี และคนอายุ 45 ปี ร้อยละ 99 ของผู้หญิงก็จะมีลูกยากมากขึ้น นอกจากนี้แม่ที่อายุมากกว่า 35 ปี จึงเสี่ยงสูงต่อการแท้ง การคลอดก่อนกำหนด ภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ครรภ์เป็นพิษ และความผิดปกติของโครโมโซมทารก ที่รู้จักกันดีในนามกลุ่มทารกเด็กดาวน์ มีการรวบรวมสาเหตุของผู้หญิงอายุมากที่มีลูกยาก ดังสาเหตุต่อไปนี้
- สูญเสียปริมาณเซลล์ไข่ ตอนที่เด็กหญิงอยู่ในครรภ์มารดาจะมีเซลล์ไข่ในรังไข่มากถึง 6-7 ล้านเซลล์ ต่อมาค่อยๆ ลดจำนวนลงและฝ่อหายไป เซลล์ไข่จะมีเหลือ 1-2 ล้านฟองเมื่อคลอด เมื่อเป็นวัยรุ่นจะคงเหลือ 2 แสนเซลล์ พออายุ 37 ปี เซลล์ไข่จะถูกทำลายเรื่อยๆ และลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว กระทั่งหมดเซลล์ไข่เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนในอายุประมาณ 51 ปี
- การสูญเสียคุณภาพเซลล์ไข่ นอกจากปริมาณเซลล์ไข่ลดเมื่ออายุที่มากขึ้น คุณภาพยังลดลง ทำให้ทารกที่เกิดมาเสี่ยงต่อการพิการจากความผิดปกติของโครโมโซมมากขึ้น เมื่อผู้หญิงอายุมากกว่า 45 ปี พบว่าไข่ไม่มีคุณภาพถึงร้อยละ 99 ขณะที่มดลูกยังคงมีคุณภาพ และสามารถตอบสนองต่อการกระตุ้นของฮอร์โมนได้อยู่
ใครเหมาะกับการแช่แข็งเซลล์ไข่? สามารถตรวจสอบได้ดังนี้
- ดูตามอายุ
ผู้หญิงอายุ 30-37 ปี เหมาะกับการแช่แข็งเซลล์ไข่
ไข่ของคนที่แช่งแข็งเมื่ออายุน้อยกว่า 35 ปี เมื่อทำเด็กหลอดแก้วมีโอกาสสำเร็จร้อยละ 50-69 สำหรับผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 30 ปี ไม่แนะนำให้แช่แข็งเซลล์ไข่ เพราะจากสถิติ สามารถมีลูกเองได้ ไม่ต้องอาศัยเซลล์ไข่แช่แข็ง เว้นแต่ผู้หญิงที่ญาติสายตรงหมดประจำเดือนเร็วตั้งแต่อายุ 40 ปี ตรวจสอบแล้วมีเซลล์ไข่น้อย โดยการนับเซลล์ไข่และตรวจฮอร์โมน (Anti-Müllerian Hormone (AMH) Concentration, Antral Follicle Count, And Day 3 Follicle-Stimulating Hormone (FSH) And Estradiol (E2))
ผู้หญิงอายุ 38-45 ปี อาจเก็บเซลล์ไข่แช่แข็งได้ แต่อาจจะเกิดปัญหา
เมื่อกระตุ้นด้วยฮอร์โมนแล้วได้จำนวนเซลล์ไข่ไม่มากพอ และส่วนหนึ่งเป็นเซลล์ไข่ที่ไม่มีคุณภาพ เมื่อผสมแล้วไม่เจริญเติบโต หรือเป็นเด็กผิดปกติทางโครโมโซม อย่างไรก็ตามงานวิจัยพบอัตราการตั้งครรภ์ร้อยละ 22 ในเซลล์ไข่ที่เก็บจากผู้หญิงอายุ 41-43 ปี
ผู้หญิงอายุมากกว่า 46 ปี ไม่เหมาะกับการเก็บเซลล์ไข่แช่แข็ง
เหตุผลเพราะผู้หญิงที่อายุมากกว่า 46 ปี จะมีเซลล์ไข่เหลือน้อยมากในรังไข่ บางสถาบันการแพทย์ไม่แนะนำให้เก็บเซลล์ไข่แช่แข็งในผู้หญิงอายุมากกว่า 43 ปี เพราะอัตราการตั้งครรภ์จากเซลล์ไข่เหล่านี้ต่ำมาก แม้จะไม่มีอายุสูงสุดที่กำหนดไว้ แต่ทั่วไปการแพทย์แนะนำว่า เซลล์ไข่จากหญิงอายุ 45 ปีขึ้นไป มีโอกาสน้อยมากที่ผสมแล้วจะเกิดการตั้งครรภ์ได้สำเร็จ
- ควรวางแผนกี่ปีจึงจะมีลูก โดยทั่วไปการแช่งแข็งเซลล์ไข่ไม่เหมาะกับผู้ที่วางแผนจะมีลูกภายใน 1 ปีข้างหน้า เพราะการมีลูกเอง หรือทำเด็กหลอดแก้ว สามารถใช้เซลล์ไข่จากรังไข่โดยตรงได้ มีโอกาสท้องมากกว่าการใช้ชนิดแช่แข็ง
- มีกำหนดการใช้ไข่ การจะทำเซลล์ไข่แช่แข็ง แม้อาจจะเก็บไว้ได้มากกว่า 10 ปี แต่งานวิจัยพบว่า ยิ่งแช่ไว้นาน อาจเกิดความผิดปกติโครโมโซมของเซลล์ไข่ในขณะเอาออกมาทำให้หายแข็ง ดังนั้นหากไม่มีกำหนดว่าจะใช้เมื่อไร สุดท้ายอาจจะไม่ได้ใช้
- มีเซลล์ไข่จำนวนมากพอ ขบวนการทำเซลล์ไข่แช่แข็ง ต้องกระตุ้นด้วยฮอร์โมนให้ไข่ตก เก็บเซลล์ไข่ ผ่านเครื่องอัลตราซาวด์ที่ใส่เข้าไปในช่องคลอด เซลล์ไข่ควรมีจำนวนมากพอ เช่น อย่างน้อย 10 เซลล์ จึงจะพอต่อการทำให้ตั้งครรภ์ 1 ครั้ง
- มีค่าใช้จ่ายเพียงพอ ราคาทำเซลล์ไข่แช่แข็งในสหรัฐฯ ราคาประมาณ 12,000-18,000 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าฝากไข่ต่อปี ปีละ 400 ดอลลาร์สหรัฐ ในเมืองไทยราคาถูกกว่า ประมาณ 70,000-100,000 บาท ไม่รวมค่าฝาก
- มีอายุที่เหมาะสมที่จะฝากไข่และวางแผนตั้งครรภ์
หากคำนวณทางคณิตศาสตร์ การฝากไข่จะคุ้ม ถ้าฝากเกิน 5 ปี เช่น ฝากตอนอายุ 35 ปี ทำตัวอ่อนอีก 5 ปีต่อมาตอนอายุ 40 ปี เพราะโอกาสท้องจะสูงขึ้นจากร้อยละ 42 เป็นร้อยละ 62 และลดค่าทำเด็กหลอดแก้วลงได้ เพราะมีไข่อยู่แล้ว ใช้อสุจิผสมได้เลย
- ต้องเตรียมใจ งานวิจัยในสหรัฐฯ พบว่า คนที่ฝากเซลล์ไข่แช่แข็งอาจจะผิดหวังถึงร้อยละ 50 เพราะค่าใช้จ่ายสูง แต่เมื่อพร้อมจะมีลูก เซลล์ไข่แช่แข็งเหล่านี้ไม่สามารถทำให้มีลูกได้ อาจเพราะมีจำนวนไม่เพียงพอ คุณภาพด้อยลงไป รวมทั้งเจ้าของไข่เองอาจมีโรคของมดลูก รังไข่จากอายุที่มาก ทำให้ท้องไม่ได้ ดังนั้นการฝากเซลล์ไข่แช่แข็งจะไม่สามารถประกันในอนาคตว่า เมื่อคุณพร้อม คุณจะสามารถมีลูกได้
อ้างอิง:
- ESHRE Task Force on Ethics and Law, Dondorp W, de Wert G, et al. Oocyte cryopreservation for age-related fertility loss. Hum Reprod 2012; 27:1231.
- Lockwood GM. Social egg freezing: the prospect of reproductive ‘immortality’ or a dangerous delusion? Reprod Biomed Online 2011; 23:334.
- Mertes H, Pennings G. Social egg freezing: for better, not for worse. Reprod Biomed Online 2011; 23:824.
- American College of Obstetricians and Gynecologists Committee on Gynecologic Practice and Practice Committee. Female age-related fertility decline. Committee Opinion No. 589. Fertil Steril 2014; 101:633.
- Menken J, Trussell J, Larsen U. Age and infertility. Science 1986; 233:1389.
- Faddy MJ, Gosden RG, Gougeon A, et al. Accelerated disappearance of ovarian follicles in mid-life: implications for forecasting menopause. Hum Reprod 1992; 7:1342.