เงินพดด้วงนั้นยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีใช้กันครั้งแรกในรัชกาลใด แต่สันนิษฐานว่า เกิดขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งกรุงสุโขทัย เงินพดด้วงส่วนใหญ่ทำด้วยเงินบริสุทธิ์ ส่วนเงินพดด้วงที่ทำด้วยทองคำนั้นพบในสมัยรัตนโกสินทร์เท่านั้น
เงินพดด้วงมีรูปร่างลักษณะสัณฐานกลม ปลายทั้งสองข้างงอเข้าหากันเหมือนตัวด้วงขด มีด้านต่างๆ คือ ด้านบนประทับตราประจำแผ่นดิน ด้านหน้าประทับตราประจำรัชกาล ด้านหลังปล่อยว่าง ด้านล่างประทับรอยเมล็ดข้าวสาร ด้านข้างเป็นรอยค้อน
ต่อมาไทยมีการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ทำให้การค้าเฟื่องฟูมาก การผลิตพดด้วงทำได้ช้า ไม่ทันต่อความต้องการ ใน พ.ศ. 2403 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผลิตเหรียญกระษาปณ์จากเครื่องจักรแทนการผลิตเงินพดด้วง
จนกระทั่ง พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศยกเลิกการใช้เงินพดด้วงเป็นเงินตราตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2447 เป็นต้นมา
อ้างอิง: สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 20