รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ต้องกลายมาเป็นฉบับชั่วคราวนั้น เป็นฉบับของคณะราษฎร โดยมี ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการร่างขึ้น โดยมีเพียง 39 มาตรา
ทั้งนี้หากมองดูในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พบว่ามีเนื้อหากำหนดให้ ‘พระมหากษัตริย์’ (ในรัฐธรรมนูญนี้ใช้เพียงคำว่า ‘กษัตริย์’) เป็นประมุขสูงสุด และเป็นเพียงสัญลักษณ์ของประเทศเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาในลักษณะจำกัดอำนาจฝ่ายบริหาร โดยให้อำนาจส่วนใหญ่ตกอยู่กับสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในสมัยแรกนั้นสมาชิกทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งโดยคณะราษฎร
ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงไม่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายอนุรักษ์นิยม จึงมีการเจรจาต่อรองให้กลายเป็น ‘ฉบับชั่วคราว’ ก่อนที่จะมีฉบับถาวรตามมาในภายหลัง
‘พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475’ นี้ ใช้เป็นกติกาในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองหลังวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อยู่มาได้จนถึงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 จึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ลงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
อ้างอิง: ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, หนังสือชุดประวัติศาสตร์ร่วมสมัย 3 ประวัติการเมืองไทย พ.ศ. 2475-2500