วันอาสาฬหบูชา ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ถือเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธนิกายเถรวาท และเป็นวันหยุดราชการของไทย
คำว่าอาสาฬหบูชา ย่อมาจาก อาสาฬหปูรณมีบูชา ซึ่งแปลว่าการบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์หรือพราหมณ์ทั้ง 5 ที่ประกอบไปด้วย โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ โดยการแสดงธรรมดังกล่าว ทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะเกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรม หรือบรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน จึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า และกลายเป็นสาวกและภิกษุองค์แรกของโลก ทำให้วันนั้นเป็นวันที่พระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรก คือมีทั้งพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์
สำหรับวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษาในปีนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าการใช้จ่าย 6,704 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% จากปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 4 ปี เพราะประชาชนกังวลสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ส่วนกิจกรรมที่ประชาชนนิยมทำในวันอาสาฬหบูชา และเข้าพรรษามากที่สุดคือ ตักบาตร โดยใช้เงินเฉลี่ย 408 บาท รองลงมาคือทำบุญ ใช้เงิน 803 บาท ถวายสังฆทานใช้เงิน 635 บาท เวียนเทียนใช้เงิน 310 บาท