×

24 พฤษภาคม 2489 – เลือกตั้ง ‘พฤฒสภา’ หรือวุฒิสภา เป็นครั้งแรก

โดย THE STANDARD TEAM
24.05.2022
  • LOADING...
พฤฒสภา

ก่อนจะมี 250 สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ย้อนกลับไปวันนี้เมื่อ 73 ปีที่แล้ว ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีการเลือกตั้ง ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 โดยใช้ชื่อในขณะนั้นว่า ‘พฤฒสภา’

 

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475 ไทยได้เลือกรูปแบบการปกครองโดยมีเพียง ‘สภาเดี่ยว’ หรือสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ก่อนจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 โดยเปลี่ยนจากระบบสภาเดี่ยวมาเป็นสภาคู่ ทำให้เกิดพฤฒสภาหรือสภาสูง โดยระบุในมาตรา 24 ของรัฐธรรมนูญว่า

 

‘พฤฒสภาประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งจำนวน 80 คน สมาชิกพฤฒสภาต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาให้ใช้วิธีลงคะแนนเสียงทางอ้อมและลับ’

 

นอกจากนี้ยังระบุหลักเกณฑ์ว่า สมาชิกพฤฒสภาต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีบริบูรณ์ ก่อนจะมีการแก้ไขตามบทเฉพาะกาลให้มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่ามาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี หรือเคยดำรงตำแหน่งทางราชการมาแล้วไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากองหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว โดยให้มีวาระ 6 ปี แต่สามารถรับเลือกได้อีก

 

สำหรับการเลือกสมาชิกพฤฒสภา 80 คนแรก มีจำนวนมากที่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคยถูกแต่งตั้งมาก่อนหน้านั้น และอีกจำนวนไม่น้อยเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งหลังการเลือกตั้งได้มีการประชุมพฤฒสภาเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอภิเศกดุสิต ในวันที่ 3 มิถุนายน 2489 โดยที่ประชุมได้เลือก วิลาศ โอสถานนท์ เป็นประธานพฤฒสภา และ ไต๋ ปาณิกบุตร เป็นรองประธานพฤฒสภา

 

ทั้งนี้ พฤฒสภาชุดนั้นมีอายุการทำงานเพียง 1 ปี 5 เดือน 16 วัน เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ถูกยกเลิกจากการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ต่อมาจึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 โดยเปลี่ยนชื่อ ‘พฤฒสภา’ เป็น ‘วุฒิสภา’ และรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มา จนถึงปัจจุบันก็ไม่ปรากฏคำว่า ‘พฤฒสภา’ อีกเลย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising