หากพูดถึงการปฏิวัติฝรั่งเศสสังคมไทย มักคิดถึงเหตุการณ์ทลายคุกบาสตีย์ ซึ่งเป็นที่เก็บอาวุธ เป็นคุก และยังเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจของราชวงศ์ที่ตั้งอยู่กลางกรุงปารีส หรืออาจคิดถึงการประหารชีวิตด้วยเครื่อง ‘กีโยตีน’
แต่อีกหนึ่งสัญลักษณ์สำคัญของการปฏิวัติฝรั่งเศสในแง่มุมของการถ่ายโอนอำนาจอธิปไตยจากราชวงศ์มาสู่ชนชาติฝรั่งเศสในรูปแบบของ ‘สภา’ ยังไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนัก
วันที่ 24 มกราคม 1789 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ประกาศให้มีการเลือกตั้งสภาฐานันดร ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ฐานันดร หรือ 3 สภา ได้แก่ ฐานันดรขุนนาง ฐานันดรพระ และฐานันดรที่สาม ซึ่งทั้งสามฐานันดรนี้ต้องแยกกันประชุมและลงมติแยกกัน
ในการประชุมสภาฐานันดรวันแรก สมาชิกสภาฐานันดรที่สามเสนอวาระให้พิจารณายกเลิกการแยกประชุมในแต่ละฐานันดร และยกเลิกการลงมติในแต่ละฐานันดรแยกกัน
โดยเสนอให้ทั้งสามฐานันดรประชุมร่วมกันและลงมตินับคะแนนเป็นรายบุคคล แต่ฐานันดรพระและขุนนางปฏิเสธ
สภาฐานันดรที่สามจัดการเปลี่ยนชื่อเรียกตนเองเสียใหม่ว่า สภา Communes โดยหยิบยืมมาจาก House of Commons ของอังกฤษ และประกาศเชิญชวนสมาชิกสภาฐานันดรขุนนางและพระที่เห็นด้วยให้มาร่วมประชุมด้วยกัน
พร้อมยื่นคำขาดกำหนดเส้นตายในวันที่ 10 มิถุนายน หากพระและขุนนางยังไม่เข้าร่วม ฐานันดรที่สามก็จะประชุมต่อไปกันเอง
ในท้ายที่สุด มีสมาชิกสภาฐานันดรพระและสมาชิกสภาฐานันดรขุนนางบางส่วนมาร่วมในวันที่ 17 มิถุนายน 1789
โดยที่ประชุมเสนอให้สภาฐานันดรเปลี่ยนสถานะตนเองเป็นสภาแห่งชาติ (Assemble Nationale) และที่ประชุมมีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 491 เสียงต่อ 90 เสียง
การเปลี่ยนจากสภาฐานันดรเป็นสภาแห่งชาติ ไม่ใช่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงชื่อเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความคิดใหม่เรื่อง ‘อำนาจอธิปไตยแห่งชาติ’ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของการกำเนิดกฎหมายมหาชนสมัยใหม่ในฝรั่งเศส
โดยนับแต่นี้ อำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของพระมหากษัตริย์อีกต่อไป แต่เป็นของ ‘ชาติ’ ซึ่งมี ‘สภาแห่งชาติ’ ที่ประกอบไปด้วยผู้แทนของชาติเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย
อ้างอิง: ปิยบุตร แสงกนกกุล, [ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส] ว่าด้วยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16, มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19-25 พฤษภาคม 2560