ซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussein) อดีตผู้นำเผด็จการแห่งอิรัก เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 5 ของอิรัก เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 1979 ภายหลังเติบโตทางการเมืองอย่างรวดเร็วในยุคอดีตประธานาธิบดีอาเหม็ด ฮัสซัน อัลบักร์ (Ahmed Hassan al-Bakr) ผู้นำพรรคบะอัธ (Ba’ath Party) เนื่องจากบทบาทในเหตุการณ์ปฏิวัติ 17 กรกฎาคม ซึ่งเป็นการก่อรัฐประหารนองเลือดเพื่อโค่นอำนาจอดีตประธานาธิบดีอับดุล ราห์มัน อาริฟ (Abdul Rahman Arif) ในปี 1968 โดยเขาได้รับตำแหน่งรองประธานาธิบดี
ต่อมาในปี 1976 ซัดดัมได้รับตำแหน่งนายพลแห่งกองทัพอิรัก และเริ่มมีอิทธิพลในรัฐบาลและพรรคบะอัธสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเป็นผู้วางแผนนโยบายการต่างประเทศ และเป็นตัวแทนในพิธีทางการทูตต่างๆ
หลังจากที่กุมอำนาจอยู่เบื้องหลังมา 11 ปี ในปี 1979 ประธานาธิบดีอัลบักร์ได้เริ่มทำสนธิสัญญาหลายฉบับกับซีเรีย ภายใต้การนำของพรรคบะอัธ ซึ่งจะนำไปสู่การรวมเป็นสหภาพระหว่างสองประเทศ และจะทำให้ประธานาธิบดีฮาเฟซ อัล-อัสซาด กลายเป็นรองผู้นำสหภาพ แต่เรื่องนี้ทำให้ซัดดัมเกิดความไม่แน่นอน จึงดำเนินการเพื่อรักษาอำนาจของเขาด้วยการบีบบังคับให้อัลบักร์ที่กำลังป่วยลาออกในวันที่ 16 กรกฎาคม 1979 และเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ
โดยหลังซัดดัมขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเพียงไม่นาน สมาชิกพรรคบะอัธ 22 คน ก็ถูกสั่งประหารชีวิตในข้อหากบฏ
ขณะที่ซัดดัมปกครองอิรักจนถึงปี 2003 หรือกว่า 23 ปี ซึ่งในยุครัฐบาลของเขามุ่งเน้นการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย โดยมีการให้เสรีภาพแก่สตรีเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังพัฒนาอุตสาหกรรมและสร้างระบบกฎหมายแบบตะวันตก ทำให้อิรักกลายเป็นประเทศเดียวในอ่าวเปอร์เซียที่ไม่ได้ปกครองด้วยกฎหมายอิสลาม
ภาพ: Chip HIRES / Gamma-Rapho via Getty Images