วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 คำว่า มาฆบูชา ย่อมาจาก มาฆปูรณมีบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินอินเดีย หรือเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย เนื่องในโอกาสคล้ายวันที่พระโคตมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น เนื้อหาเป็นทั้งหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการปฏิบัติ แต่สรุปโดยรวมคือ ให้ละความชั่วทุกชนิด ทำความดีให้ถึงพร้อม และทำจิตใจให้ผ่องใส
หลังจากตรัสรู้ได้ 9 เดือน พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับที่วัดเวฬุวันมหาวิหาร เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ประเทศอินเดีย ในปัจจุบัน เหตุการณ์อัศจรรย์ที่พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้ามาเฝ้าพระพุทธองค์ในวันนั้น มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ เรียกว่า วันจาตุรงคสันนิบาต (องค์ประชุม 4 ส่วน) คือ
- เป็นวันที่พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย
- พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น ‘เอหิภิกขุอุปสัมปทา’ คือ เป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น
- พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปที่ได้มาประชุมในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผู้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วทุกรูป
- เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ์
วันมาฆบูชาเป็น 1 ใน 3 วันพระใหญ่ของไทย สันนิษฐานว่าการประกอบพิธีพระพุทธศาสนาในวันสำคัญนี้น่าจะเริ่มต้นขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จากหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งระบุเรื่องราวเกี่ยวกับมาฆบูชาไว้ว่า
“ประเทศไทยเริ่มกำหนดพิธีปฏิบัติในวันมาฆบูชาเป็นครั้งแรกในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งมีการประกอบพิธีเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2394 ในพระบรมมหาราชวังก่อน โดยมีพิธีพระราชกุศลในเวลาเช้า นมัสการพระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศราชวรวิหารและวัดราชประดิษฐฯ จำนวน 30 รูป ฉันภัตตาหารในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม”