×

15 มีนาคม 1917 – ซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซียสละราชสมบัติ จุดสิ้นสุดราชวงศ์โรมานอฟ

โดย THE STANDARD TEAM
15.03.2022
  • LOADING...
Nicholas II of Russia

การปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 เป็นผลสืบเนื่องมาจากความยืดเยื้อของสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ขณะนั้นรัสเซียต้องต่อสู้กับฝ่ายเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี อิตาลี และตุรกี และเกิดเพลี่ยงพล้ำจนส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยอย่างหนัก เกิดภาวะเงินเฟ้อ ราคาอาหารและสินค้าถีบตัวสูงขึ้น เกิดเป็นกระแสต่อต้านการทำสงคราม แต่ซาร์นิโคลัสที่ 2 องค์จักรพรรดิแห่งรัสเซีย ทรงยืนยันจะทำสงครามต่อไป และเสด็จไปบัญชาการรบด้วยพระองค์เอง ส่วนภายในประเทศมอบให้ ซารีนา อเล็กซานดรา จักรพรรดินี เป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินแทนพระองค์

 

การบริหารราชการแผ่นดินในขณะนั้นของ ซารีนา อเล็กซานดรา ขาดเสถียรภาพ เนื่องจากทรงเชื่อคำแนะนำของรัสปูติน ในการแต่งตั้งผู้ใกล้ชิดที่ไร้ความสามารถให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองการปกครอง ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามยังเคลื่อนไหวโจมตีรัฐบาลอย่างหนัก และปลุกระดมให้ประชาชนลุกฮือต่อต้านรัฐบาล 

 

จากวิกฤตทั้งหมดทำให้เกิดการต่อต้านรัฐบาลอย่างหนัก โดยประชาชนออกมาชุมนุมประท้วงและก่อจราจลตามเมืองต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ขณะรัฐบาลพยายามใช้กองกำลังในการสลายการชุมนุมซึ่งยิ่งเป็นการสุมไฟให้เหตุการณ์บานปลาย เวลาต่อมาประชาชนได้บุกยึดสถานีรถไฟ คลังอาวุธ เผาสถานที่ราชการสำคัญๆ จนกระทั่งหลายฝ่ายในรัฐบาลเปลี่ยนท่าทีมาสนับสนุนประชาชน 

 

ในที่สุดผู้นำกองทัพและสมาชิกสภาดูมาจึงได้ถวายคำแนะนำให้ซาร์นิโลลัสที่ 2 สละราชสมบัติเพื่อกอบกู้ประเทศ ซึ่งพระองค์ตัดสินใจสละราชสมบัติให้แก่ ชาเรวิช อะเล็กเซย์ พระราชโอรสในวันที่ 15 มีนาคม ตามปฏิทินสากล ก่อนจะเปลี่ยนพระทัยในเย็นวันเดียวกันโดยแก้ไขคำสั่งมอบราชสมบัติให้แก่พระอนุชา แกรนด์ดยุกมิคาเอล อเล็กซานโดรวิช ซึ่งวันถัดมาแกรนด์ดยุกปฏิเสธราชสมบัติ จึงเป็นการปิดฉากราชวงศ์โรมานอฟที่ปกครองรัสเซียมากว่า 300 ปี

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X