×

14 พฤษภาคม 2540 – แบงก์ชาติมีมติใช้เงินสำรองระหว่างประเทศแทรกแซงค่าเงินบาท ก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง

โดย THE STANDARD TEAM
14.05.2022
  • LOADING...
วิกฤตต้มยำกุ้ง

วันที่ 14 พฤษภาคม 2540 ถือเป็นวันที่ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะไม่มีทางลืม โดยผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการของ ธปท. ได้เสนอทางเลือกเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไว้ 3 ทาง ซึ่งสุดท้ายที่ประชุมเห็นชอบให้เข้าแทรกแซงค่าเงินบาทในวงเงิน 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และยอมให้อัตราแลกเปลี่ยนสูงกว่าค่ากลางได้ประมาณ 5-10 สตางค์ 

 

ต่อมาในวันที่ 15 พฤษภาคม 2540 ธปท. ยังสามารถต่อกรกับเหล่านักเก็งกำไรได้อยู่ โดยใช้วิธีทำสัญญา Swap จำนวนมหาศาล พร้อมสั่งการไปยังธนาคารพาณิชย์ไม่ให้ปล่อยเงินบาทให้กับสถาบันการเงินต่างประเทศ ยกเว้นจะมีธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริง เพื่อหวังจะตัดช่องทางของเหล่าเฮดจ์ฟันด์ในการกว้านหาเงินบาทมาถล่มขายในตลาดเงิน 

 


 

อ่านเพิ่มเติมที่

 


 

มาตรการของ ธปท. ให้ผลที่ดี เพราะทำให้เงินบาทในตลาดหายากขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็วจนมาอยู่ที่ระดับ 25.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และยังเปิดโอกาสให้ ธปท. มีจังหวะสะสมกระสุนหรือตุนเงินสำรองฯ เพิ่มเติม โดยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในช่วงนั้นเพิ่มขึ้นจากระดับ 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 14 พฤษภาคม 2540 มาอยู่ที่ 7.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในวันที่ 16 พฤษภาคม 2540 ขณะที่การโจมตีของเหล่าเฮดจ์ฟันด์เริ่มหยุดลง

  

โดยสรุปแล้วก่อนศึกใหญ่ครั้งนี้จะเริ่มขึ้น ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2540 เงินสำรองระหว่างประเทศในช่วงเวลานั้นมีจำนวน 2.42 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่หลังผ่านสมรภูมิรบอันดุเดือด เงินทุนสำรองฯ ก็ลดลงเหลือเพียง 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2540

 

อย่างที่เกริ่นไปว่าศึกครั้งนี้ฝ่ายไทยเหมือนจะเป็นผู้ชนะ แต่ด้วยกระสุนที่หมดไปกับการกรำศึกหนัก ทำให้ทางการไทยต้องหารืออย่างจริงจังถึงนโยบายที่ควรต้องเดินต่อหลังจากนี้ 

 

ในระหว่างที่ ธปท. กรำศึกหนัก โดยเฉพาะสมรภูมิรบวันที่ 14 พฤษภาคม 2540 ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งเฝ้าดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เริ่มเห็นท่าไม่ดี จึงได้ส่งจดหมายมายัง พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ในวันเดียวกันนั้น โดยระบุคำแนะนำผ่านจดหมายอย่างชัดเจนว่า ไทยควรต้องลดค่าเงินลง 10-15% พร้อมทำนโยบายการเงินและการคลังที่ตึงตัวขึ้น จนกระทั่งวันที่ 22 พฤษภาคม 2540 ทาง IMF ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาหารือกับทางการไทย แต่ก็ยังไม่ได้นำไปสู่การตัดสินใจใดๆ ในช่วงเวลานั้น

 

อย่างไรก็ตาม หลังจบศึกในคราวนั้น บรรยากาศความรุนแรงทางการเงินเริ่มสงบลง การโจมตีค่าเงินเริ่มจางไป แต่ความสงบที่ว่านี้เกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ ไม่ถึงหนึ่งเดือน เพราะหลังจากนั้นเงินบาทเริ่มถูกกดดันอีกครั้ง โดยเฉพาะวันที่ 19 มิถุนายน 2540 หลังปรากฏข่าวการลาออกของ อำนวย วีรวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น 

 

ข่าวดังกล่าวโหมให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเริ่มลดลงอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้เป็นฝั่งของนักลงทุนไทยเองที่ไม่เชื่อมั่นว่าทางการจะควบคุมเงินบาทเอาไว้ได้ จึงเริ่มเห็นนักธุรกิจไทยพากันไปขายเงินบาทแลกซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ 

 

แม้ว่าหลังจบศึกค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2540 จะทำให้ ธปท. มีช่วงเวลาในการสะสมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมาบ้าง แต่โดยรวมแล้วก็ยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 6-7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะดูแลค่าเงินท่ามกลางสภาวะที่คนแห่กันมาขายเงินบาทอย่างถล่มทลายได้ ฟางเส้นสุดท้ายจึงขาดสะบั้น ธปท. จำต้องยกธงขาว ประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 นับเป็นวันที่จารึกในประวัติศาสตร์ว่าไทยได้เข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจอย่างเต็มตัว 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X