“เมื่อสุริยนย่ำสนธยา หมู่นกกาก็บินมาสู่รัง ให้มาคิดถึงท้องทุ่งนาเสียจัง ป่านฉะนี้คงคอยหวัง เมื่อไรจะกลับบ้านนา…” บทเพลงอมตะที่หลายคนคุ้นหูเพลงนี้ แทบจะถ่ายทอดชีวิตของ รำพึง จิตรหาญ นักร้องจากบ้านนาที่กลายมาเป็นราชินีลูกทุ่งในนาม พุ่มพวง ดวงจันทร์
พุ่มพวง เกิดวันที่ 4 สิงหาคม 2504 ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ชื่อจริงคือ รำพึง จิตรหาญ มีชื่อเล่นว่า ‘ผึ้ง’ เป็นนักร้องที่ได้ชื่อว่ามีน้ำเสียงหวานออดอ้อน จำเนื้อร้องได้แม่นทั้งที่ไม่รู้หนังสือ และเป็นแม่แบบให้แก่นักร้องรุ่นหลัง รำพึงเกิดในครอบครัวที่ยากจนมาก และเรียนจบเพียงแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ทำให้อ่านหนังสือไม่ออก แต่มีความจำดี และมีความสามารถด้านการร้องเพลง จน ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ที่มาเปิดการแสดงที่วัดทับกระดาน จังหวัดสุพรรณบุรี บ้านของเธอ ได้เห็นแววความสามารถจึงรับไปเป็นบุตรบุญธรรม
พุ่มพวงเริ่มต้นด้วยการเป็นหางเครื่อง และค่อยๆ ก้าวมาเป็นนักร้อง ก่อนจะโด่งดังด้วยความสามารถและความพยายามของตัวเธอเอง พุ่มพวงมีผลงานมากมายนับพันบทเพลงที่ได้ถ่ายทอดผ่านแก้วเสียงใสและกลายมาเป็นบทเพลงอมตะ เช่น ผู้ชายในฝัน, ดาวเรืองดาวโรย, สาวนาสั่งแฟน, นัดพบหน้าอำเภอ ฯลฯ ‘นักร้องบ้านนอก’ อย่างพุ่มพวงไปได้ถึงฝั่งฝัน สร้างผลงานเพลงที่มียอดขายถล่มทลาย และแทบจะเป็นนักร้องหญิงคนเดียวที่คู่ควรกับฉายา ‘ราชินีลูกทุ่ง’ อย่างแท้จริง
วันที่ 20 มีนาคม 2535 พุ่มพวงเดินทางจากเชียงใหม่เพื่อเข้ารักษาตัวเองที่โรงพยาบาลตากสิน จันทบุรี และย้ายไปที่โรงพยาบาลศิริราช แพทย์ตรวจพบว่าเธอป่วยด้วย ‘โรคเอสแอลอี’ (SLE) หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง อาการขั้นรุนแรง ลุกลามถึงไต ก่อนที่แพทย์เจ้าของไข้เปิดเผยว่าพุ่มพวงอาการดีขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายน
ในวันที่ 13 มิถุนายน 2535 พุ่มพวงเดินทางออกจากโรงพยาบาลศิริราชเพื่อไปรักษาด้วยวิธีทางเลือกที่จังหวัดพิษณุโลก โดยเดินทางด้วยรถตู้ แต่หลังจากกราบไหว้พระพุทธชินราชเมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. เกิดอาการช็อกและหมดสติ ญาตินำส่งโรงพยาบาลพุทธชินราช กระทั่งถึงแก่กรรมอย่างสงบเมื่อเวลา 20.55 น.
ภายหลังจากการเสียชีวิตของเธอ มีมิตรรักแฟนเพลงจำนวนมากออกมาไว้อาลัยและแสดงความเสียใจต่อการจากไปตลอดกาลของราชินีลูกทุ่ง และในวันที่ 15 สิงหาคม 2552 เธอได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ‘ปริยศิลปิน’ ศิลปินอันเป็นที่รักยิ่งของประชาชน