ปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เดินทางไปพำนักที่ประเทศฝรั่งเศสตามคำขอร้องของรัฐบาลในวันนี้ หลังจากที่เสนอร่างหลักการเศรษฐกิจประจำชาติ ‘เค้าโครงการเศรษฐกิจ’ และเสนอต่อคณะกรรมการราษฎรเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2475 แต่แนวคิดของปรีดีถูกคัดค้านจากเสียงส่วนใหญ่ในสภา รวมถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีข้อวินิจฉัยต่อร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจนี้ว่าเป็นแนวคิดที่ลอกเลียน ‘บอลเชวิกของโซเวียต’ รวมไปถึงเกิดข้อกล่าวหาว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ ปรีดีจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง และเดินทางออกนอกประเทศ โดยรัฐบาลเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ปีละ 1,000 ปอนด์
เค้าโครงการเศรษฐกิจ มีอีกชื่อหนึ่งว่า ‘สมุดปกเหลือง’ เป็นร่างแผนเศรษฐกิจเพื่อปฏิรูปที่ดินและรัฐสวัสดิการแก่ประชาชน มีสาระสำคัญคือ เน้นบทบาทของรัฐที่จะเป็นผู้จัดการระบบเศรษฐกิจผ่านกิจการสหกรณ์ โดยรัฐเป็นเจ้าของที่ดิน แรงงาน และทุน เป็นผู้วางแผนและควบคุมการลงทุน มีหน้าที่จัดหางานให้ประชาชน รวมถึงจ่ายเงินเดือนให้ประชาชนในการซื้อปัจจัยต่างๆ ซึ่งรัฐจะเป็นผู้จัดหาสินค้าและให้สหกรณ์เป็นผู้จำหน่ายให้แก่ประชาชน
จากงานวิจัยของ ธานี สุขเกษม เรื่อง ‘ความขัดแย้งเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ และผลกระทบทางการเมืองหลังการปฏิวัติ 2475’ ได้เสนอข้อถกเถียงเกี่ยวกับเค้าโครงการเศรษฐกิจว่า ก่อให้เกิดการโต้แย้งอย่างรุนแรง โดยเฉพาะประเด็นการมีแนวคิดทางเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ เนื่องจากแบบแผนทางเศรษฐกิจให้ความสำคัญกับบทบาทของรัฐเป็นอย่างมาก มีการกล่าวหาว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นคอมมิวนิสต์ แม้จะให้เหตุผลที่มาของร่างฉบับนี้ว่า เป็นการรวบรวมแนวคิดที่ดีๆ จากทุนนิยม สังคมนิยม เสรีนิยม ฯลฯ มาปรับให้เข้ากับประเทศแล้วก็ตาม ความขัดแย้งนี้ยังทำให้เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองตามมาอีกมากมาย ทั้งความแตกแยกในหมู่คณะราษฎรระหว่างฝ่ายพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และฝ่ายหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เกิดการรัฐประหารครั้งแรกของไทย เกิดกบฏบวรเดช จากความขัดแย้งระหว่างผู้นำระบอบเก่าและระบอบใหม่ จนเป็นชนวนเหตุให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ จากข่าวลือที่ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกบฏของพระองค์เจ้าบวรเดช
ปรีดี พนมยงค์ กลับเข้ามาประเทศไทยอีกครั้งหลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหารครั้งแรก โดยพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ทำให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาถูกเนรเทศต้องลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ที่ปีนังจนกระทั่งเสียชีวิต ส่วนพระยาพหลพลพยุหเสนาเมื่อได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วก็ได้เชิญปรีดี พนมยงค์ กลับมาช่วยเหลืองานรัฐบาลต่อไป โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องไม่รื้อฟื้นเค้าโครงการเศรษฐกิจอีก
ภาพ: สถาบันปรีดี พนมยงค์