วันเด็กแห่งชาติในยุคเริ่มแรกของไทยไม่ใช่วันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมอย่างปัจจุบัน ขณะที่การกำหนดให้มี ‘วันเด็ก’ ก็เป็นผลมาจากปฏิญญาว่าด้วยสิทธิเด็กโดยองค์การสหประชาชาติ เมื่อ พ.ศ. 2498
ในปีนั้นประเทศต่างๆ มากกว่า 40 ประเทศ ต่างจัดงานฉลองวันเด็กของประเทศตัวเองขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น
งานวันเด็กแห่งชาติของไทยจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2498 และได้จัดติดต่อกันมาทุกปีจนถึง พ.ศ. 2506 ก่อนจะเปลี่ยนวันจัดงานวันเด็กใหม่ เพราะเดือนตุลาคมเป็นฤดูฝน เด็กๆ ไม่สะดวกมาร่วมงาน
งานวันเด็กแบบปัจจุบันซึ่งกำหนดให้ตรงกับวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2508 คล้อยหลังงานวันเด็กครั้งแรกเกือบ 10 ปี
แต่คำขวัญวันเด็กโดยนายกรัฐมนตรีมีขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2499 โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ให้คำขวัญวันเด็กในประเทศไทยเป็นปีแรก และคงกล่าวได้ไม่ผิดนักว่า คำขวัญวันเด็กคือมรดกตกทอดจากผู้นำทหารมาจนถึงปัจจุบัน