ครั้งหนึ่งประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นครองราชย์พร้อมกันสองพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ หรือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ใน นิทานโบราณคดี นิทานที่ 19 เรื่อง เมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์ ว่า
“เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวใกล้จะสวรรคต สมเด็จเจ้าพระยาฯ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ บิดาของเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ) ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงผนวชอยู่ ณ วัดบวรนิเวศฯ กราบทูลให้ทรงทราบว่า จะเชิญเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสว่า ถ้าจะถวายราชสมบัติแก่พระองค์ ขอให้ถวายแก่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ซึ่งตรัสเรียกว่า ‘ท่านฟากข้างโน้น’ ด้วย เพราะพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ พระชาตาแรงนัก ตามตำราโหราศาสตร์ว่า ผู้มีชาตาเช่นนั้นจะต้องได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ถ้าทรงรับราชสมบัติแต่พระองค์เดียวจะเกิดอัปมงคล ด้วยไปกีดกันบารมีของสมเด็จพระอนุชา แม้ถวายราชสมบัติด้วยกันทั้งสองพระองค์ จะได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยอีกพระองค์หนึ่ง เหมือนอย่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยกัน เช่นนั้นจึงจะพ้นอัปมงคล”
หลังจากการพระราชพิธีบวรราชาภิเษกแล้ว 10 ปี พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เริ่มประชวรบ่อยครั้ง
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงประชวรมาช้านานประมาณ 5 ปี ครั้นถึงวันอาทิตย์เดือน 2 แรม 6 ค่ำ เวลาเช้าย่ำรุ่งแล้ว 3 นาฬิกากับ 3 บาท (วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408) เสด็จสู่สวรรคต พระชนมายุเรียงปีได้ 58 พรรษา อยู่ในอุปราชาภิเษกสมบัติ 15 พรรษา