วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 คือกำหนดการวันเลือกตั้ง หลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาหนีแรงกดดันทางการเมือง เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เปิดปฏิบัติการปิดคูหาเลือกตั้ง
หลายหน่วยเลือกตั้งในกรุงเทพฯ มีการปะทะกันระหว่างกลุ่มไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งกับกลุ่มผู้ต้องการใช้สิทธิ์
แม้รัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้มีการเลือกตั้งทดแทน แต่สุดท้ายถูกยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตัดสินว่า ‘เป็นโมฆะ’
ในเวลาต่อมา วันที่ 3 มีนาคม 2560 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเอกฉันท์ ยื่นฟ้องดำเนินคดีกับบุคคลและกลุ่มบุคคลที่ขัดขวางการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จนทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยให้ดำเนินการฟ้องทางอาญาและเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง กับบุคคลและกลุ่มบุคคลที่ล้มการเลือกตั้งฟ้องร้องกับ 2 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มบุคคลจำนวน 234 คน ขัดขวางการเลือกตั้ง ที่มีหลักฐานภาพถ่ายสามารถยืนยันตัวบุคคลได้ โดยเฉพาะคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) อาทิ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. ถาวร เสนเนียม สาทิตย์ วงศ์หนองเตย พระพุทธอิสระ แกนนำ กปปส. เป็นต้น โดยมีการเรียกค่าเสียหาย 2,400 ล้านบาท
2. ให้ดำเนินการฟ้องร้องทางแพ่งกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ 1 ราย คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในความผิดฐานละเมิด โดยการปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ตาม พ.ร.บ. ความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เนื่องจากปล่อยให้มีการจัดการเลือกตั้ง ทั้งที่มีการทักท้วงกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นแล้ว โดยเรียกค่าเสียหาย 2,400 ล้านบาท เช่นเดียวกับกลุ่มแรก
สำหรับความคืบหน้าทางคดีแพ่ง ศาลแพ่งได้เห็นควรให้มีการจำหน่ายคดีแพ่งออกไปชั่วคราว เพื่อรอฟังผลของคดีอาญาที่มีคดีกบฎเป็นหลัก
ส่วนความคืบหน้าคดีกบฎ ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาอดีตแกนนำ กปปส. ชุดใหญ่รวม 39 คน ฐานกบฏในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564