สงครามอิรัก เป็นการสู้รบที่ยืดเยื้อในอิรักระหว่างปี 2003-2011 โดยสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช และแนวร่วมพันธมิตร คือสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และโปแลนด์ เปิดฉากรุกรานและโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการของซัดดัม ฮุสเซน โดยอ้างเหตุผลจากการประเมินความเป็นไปได้ที่อิรักอาจครอบครองอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง ซึ่งเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของสหรัฐฯ และพันธมิตรในภูมิภาค
การรุกรานดังกล่าว ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของสงครามต่อต้านการก่อการร้ายหลังเหตุวินาศกรรม 9/11 เมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2011 ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ บางคน กล่าวหาผู้นำอิรักว่าให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ ที่อยู่เบื้องการก่อวินาศกรรม
สงครามอิรัก เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2003 หลังเครื่องบินรบของสหรัฐฯ พร้อมด้วยสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และโปแลนด์ ร่วมปฏิบัติการทิ้งระเบิดครั้งใหญ่ในอิรัก ก่อนที่กองกำลังผสมนำโดยสหรัฐฯ จะเปิดฉากบุกภาคพื้นดิน ซึ่งผลจากการรุกรานนำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลซัดดัม
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการ 9/11 สรุปผลการสืบสวนในปี 2004 โดยระบุว่า ไม่พบหลักฐานใดที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างระบอบการปกครองของซัดดัมกับกลุ่มอัลกออิดะห์ และไม่พบคลังเก็บอาวุธทำลายล้างสูง หรือโครงการพัฒนาอาวุธทำลายล้างสูงในรัฐบาลซัดดัมตามที่สหรัฐฯ กล่าวอ้าง
รายงานที่ออกมาส่งผลให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างรุนแรงจากทั้งในและนอกประเทศ โดย โคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ ในขณะนั้น เรียกการรุกรานอิรักของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร ว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ และฝ่าฝืนกฎบัตรสหประชาชาติ
ขณะที่ภาวะสุญญากาศทางอำนาจภายหลังการโค่นล้มซัดดัม และการจัดการที่ผิดพลาดของกองกำลังผสม ยังจุดชนวนให้เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มชาวมุสลิมนิกายชีอะห์และสุหนี่ที่ลุกลามอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังมีการก่อความไม่สงบที่พุ่งเป้าโจมตีกองกำลังผสม ทำให้กองทัพสหรัฐฯ ต้องส่งกำลังทหารเข้าไปในอิรักเพิ่มขึ้นอีก 1.7 แสนนาย ในปี 2007 เพื่อช่วยให้รัฐบาลใหม่ของอิรักสามารถควบคุมและบริหารสถานการณ์ในประเทศ
กระทั่งในปี 2008 ประธานาธิบดีบุช เห็นพ้องให้เริ่มการถอนทหารทั้งหมดจากอิรัก ซึ่งการถอนทหารเสร็จสิ้นในยุคประธานาธิบดีบารัก โอบามา ในเดือนธันวาคม 2011 และสหรัฐฯ ได้ประกาศสิ้นสุดสงครามอิรักอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2011 โดยผลจากสงครามคาดว่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 1.5 แสนคน โดยเป็นพลเรือนมากกว่า 1 แสนคน และทำให้ชาวอิรักต้องพลัดถิ่นกว่า 3.3 ล้านคน
ภาพ: Davis Turner / Getty Images