วันนี้ (27 มกราคม) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ราคาหัวหอมในฟิลิปปินส์ปรับพุ่งสูงขึ้นมาอยู่ที่ราว 700 เปโซ (ราว 420 บาท) ต่อกิโลกรัม ตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าราคาเนื้อสัตว์และค่าแรงขั้นต่ำรายวันของฟิลิปปินส์ที่อยู่ที่ราว 570 เปโซต่อวัน และถึงแม้ว่าราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหลายชนิดจะปรับลดลงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่หัวหอมก็ยังคงเป็นสินค้าราคาแพงสำหรับผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยในฟิลิปปินส์ขณะนี้
วัตถุดิบสำคัญในอาหารฟิลิปปินส์กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคตั้งแต่อาหารไปจนถึงเชื้อเพลิง แตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปีของฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนธันวาคม 2022
ทางด้าน เฟอร์ดินานด์ บองบอง มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของฟิลิปปินส์ ชี้ว่าราคาอาหารที่สูงขึ้นเป็น ‘สถานการณ์ฉุกเฉิน’ โดยเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้ บองบองได้อนุมัติการนำเข้าหอมแดงและหอมหัวใหญ่เพื่อเพิ่มปริมาณหัวหอมในห่วงโซ่อุปสงค์อุปทาน หวังปรับลดราคาหัวหอมในฟิลิปปินส์
โดยผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การเปิดพื้นที่ทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์กำลังกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ ขณะที่สภาพอากาศที่เลวร้ายได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหาร รวมถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรอย่างหัวหอม
นิโคลัส มาปา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคาร ING ระบุว่า ย้อนกลับไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2022 กระทรวงเกษตรเคยคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะขาดแคลนผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะพืชหัวหรือพืชที่ใช้รากเป็นประโยชน์ (Root Crops) ก่อนที่อีกไม่กี่เดือนต่อมา พายุสองลูกใหญ่ได้พัดถล่มใส่เกาะฟิลิปปินส์ เป็นเหตุให้พืชผลทางการเกษตรเสียหายอย่างมาก
ผลกระทบขยายตัวเป็นวงกว้าง
ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะราคาหัวหอมที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อบรรดาร้านสตรีทฟู้ดในเมืองเซบู (Cebu) ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของทั้งคนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเมนูอาหารส่วนใหญ่ที่เป็นผักทอด เนื้อทอด และอาหารทะเลทอด ล้วนได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นเมนูที่มักจะเสิร์ฟมาพร้อมกับหัวหอมและน้ำจิ้มน้ำส้มสายชู
ผลกระทบจากราคาหัวหอมที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาการลักลอบนำเข้าหัวหอมตามมา โดยเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมนี้ มีพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของสายการบิน Philippine Airlines ถูกสอบสวน หลังพยายามลักลอบนำเข้าหัวหอมและผลไม้บางชนิดเกือบ 40 กิโลกรัมใส่กระเป๋าสัมภาระเข้าฟิลิปปินส์ โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรฟิลิปปินส์ระบุว่า ทั้งหมดจะไม่ถูกตั้งข้อหาแต่อย่างใด พร้อมประกาศเตือนนักท่องเที่ยวห้ามนำผลผลิตทางการเกษตรบางชนิดเข้าประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต
วิกฤตที่กำลังลุกลาม
วิกฤตดังกล่าวสร้างแรงกดดันต่อประธานาธิบดีบองบอง มาร์กอสไม่น้อย เนื่องจากเขาเคยสัญญาว่าจะเพิ่มปริมาณการผลิตอาหารหลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติบางรายถึงกับเรียกร้องให้เขาแต่งตั้งผู้มีความสามารถเข้ามารับตำแหน่งแทน
ทางด้าน มารี-แอนน์ เลโซเรน ที่ปรึกษาบริษัทวิจัยด้านการตลาดอย่าง Kantar Worldpanel ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ได้เน้นย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางด้านอาหารอย่างมาก โดยเธอระบุว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคได้เฉพาะสิ่งของที่จำเป็นอยู่แล้ว กำลังซื้อของพวกเขาจะยิ่งปรับตึงมากยิ่งขึ้น หากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนและทำให้ระดับราคาพุ่งสูงขึ้น สิ่งนี้จะยิ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้บริโภคส่วนใหญ่ในฟิลิปปินส์
ขณะที่ นิโคลัส มาปา เชื่อว่าราคาหัวหอมจะทรงตัวได้ เมื่อรัฐบาลนำเข้าพืชผลชนิดนี้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้อาจไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีนัก สำหรับการดำเนินมาตรการดังกล่าวของรัฐบาลฟิลิปปินส์ เนื่องจากตรงกับช่วงฤดูเก็บเกี่ยวหัวหอมภายในประเทศ หากมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตและนำเข้าหัวหอมจำนวนมากๆ ในช่วงเวลาที่เกือบจะพร้อมๆ กัน ก็อาจจะยิ่งทำให้ราคาหัวหอมตกลงอย่างมากก็เป็นได้
ภาพ: Jam Sta Rosa / AFP
อ้างอิง: